thansettakij
เจรจา “ภาษีทรัมป์” วัดผลกระทบการค้าไทย

เจรจา “ภาษีทรัมป์” วัดผลกระทบการค้าไทย

13 เม.ย. 2568 | 07:26 น.
อัปเดตล่าสุด :13 เม.ย. 2568 | 10:46 น.

เจรจา “ภาษีทรัมป์” วัดผลกระทบการค้าไทย : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,087 วันที่ 13 - 16 เมษายน พ.ศ. 2568

ทั่วโลกปั่นป่วน เศรษฐกิจโลกถดถอย อุตสาหกรรม ส่อเค้าหยุดชะงักเพราะกังวลต่อการส่งออกสินค้า หลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศขึ้นภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้าในสหรัฐทุกประเภท กับประเทศที่ได้ดุลการค้า

ไม่ว่าจะเป็น สหภาพยุโรป 20% จีน 34% ญี่ปุ่น 24 % แอฟริกาใต้ 30% ไต้หวัน 32% อินเดีย 26% กัมพูชา 49% ลาว 48% เวียดนาม 46% เมียนมา 44% อินโดนีเซีย 32% มาเลเซีย 24% ฟิลิปปินส์ 17% สิงคโปร์ 10% และไทย ที่ถูกเรียกเก็บภาษีสูงถึง 36% ซึ่งมีผลในวันที่ 9 เมษายนนี้

ประเมินว่ารอบนี้น่าจะก่อให้เกิดสงครามการค้า รุนแรง ไปทั่วทั้งโลก สหภาพยุโรป มหาอำนาจจีน ออกมาตรการตอบโต้ ทันควัน แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน 

ขณะรัฐบาลกว่า 50 ประเทศ ขอเจรจา “ทรัมป์” ต่อรองลดภาษีลง  และมีข้อเสนอนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับผู้นำไทย โดย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ตั้งทีมบินเจรจาต่อรองทันที ที่มี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าคณะเจรจา

โดยไทย มี 15 สินค้าแรกที่ส่งออกไปสหรัฐ ได้รับผลกระทบทันที ได้แก่ 1.โทรศัพท์มือถือ 2.ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 3.ยางรถยนต์ 4.เซมิคอนดักเตอร์ 5.หม้อแปลงไฟฟ้า 6.ชิ้นส่วนอุปกรณ์การพิมพ์ 7.ชิ้นส่วนรถยนต์ 8.อัญมณี 9.เครื่องปรับอากาศ 10.กล้องถ่ายรูป 11.เครื่องปริ้นเตอร์ 12.วัตถุดิบอาหารสัตว์ 13.แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ 14.ข้าว และ 15.ตู้เย็น 

ก่อนหน้านี้ ไทยคาดการณ์ว่า จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ เพียง 11% ทำให้การส่งออกไทยไปสหรัฐได้รับผลกระทบ 7,000-8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 1 ปี ถ้าไทยไม่ทำอะไรเลย 

ในทางกลับกันภาษีส่งออกไปสหรัฐฯ กลับสูงถึง 36% ประมาณ 25,000-26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 880,000 ล้านบาท หากเจรจาต่อรองเป็นผลสำเร็จ อาจไม่เกิดความเสียหาย หรือเสียหายลดลง ส่วนจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในภาพรวม ที่ปีนี้ตั้งเป้าหมายขยายตัว 2-3% หรือไม่นั้น ต้องคำนวณอีกครั้ง

นอกจากนี้ หลายสินค้า ภาคการเกษตรที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบและเสียบเปรียบคู่แข่งทางการค้า อย่าง ข้าว ยางพารา สับปะรด ฯลฯ ที่กระทบกำแพงภาษีทรัมป์น้อยกว่าไทย อย่าง มาเลเซีย ฟิลลิปินส์ อินเดีย ฯลฯ  
อย่างไรก็ตาม ตั้งคำถามว่า รัฐบาลไทยช้าไปหรือไม่ กับท่าทีการเจรจา ในขณะที่เวียดนาม บินเจรจาทรัมป์ไปก่อนหน้านี้  ขณะสินค้าที่ไทยเสนอนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่ม ต้องระวังว่าจะกระทบกับภาคผลิตของไทยหรือไม่  

 มองว่า การขึ้นภาษีทุกประเทศครั้งนี้ ทรัมป์ไม่ต้องการ ลดหย่อนผ่อนตามให้ใคร แม้แต่ พันธมิตรสำคัญอย่างอังกฤษ ทรัมป์ก็ไม่ยกเว้น โดยตั้งกำแพงภาษีนำเข้า 10% สะท้อนว่าเบื้องลึกแล้ว ทรัมป์ ต้องการผลิตสินค้าเองใช้เองในประเทศเท่านั้น เกรงว่าการเจรจาจะล้มเหลว เพราะไทยชาติที่เป็นกลาง อ้าแขนรับนักลงทุนจีนขยายฐานลงทุนในประเทศ เป็นบริษัทสัญชาติไทยและส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ก็มากอยู่!!!