KEY
POINTS
มาถึงจุดนี้ก็จะพบว่าทฤษฏีเก่าเมื่อสักสิบยี่สิบปีก่อน ว่าด้วยเรื่องการประกอบการ(ณ์)นั้น ท่านให้หาความต้องการ (ดีมานด์)ในตลาดเสียก่อน ว่าคนทั้งหลายอยากได้อะไร แล้วจึงไปเสาะหาของนั้นๆมาขาย โดยไปผลิตมาขาย สร้างบริการมาขายเพื่อตอบสนองความต้องการนั้น ท่าทางจะไม่สนับสนุนการเกิดขึ้นใหม่ของ ผปก. ในยุคนี้เสียแล้ว
ซึ่งอาจเป็นเพราะต้องใช้ทรัพยากรมากไปในการรวบรวม ศึกษาดีมานด์มาดำเนินการค้นหาซัพพลาย ใช้ทุนมาก (ทั้งทุนตัวเงิน/ทุนตัวแรง/ทุนความคิด)
หรืออาจเป็นเพราะสิ่งที่ตลาดต้องการนั้นไม่ได้อยู่ในความสนใจของผู้ประกอบการในยุคนี้ เห็นแต่ตัวเงินจะลอยมาแต่ว่าไม่มีใจที่จะทำการไขว่คว้า, ไม่มีทักษะที่จะทำ,ไม่มีกำลังที่จะทำและ/หรือไม่มีผู้ร่วมอุดมการณ์ที่จะทำ
ยกตัวอย่างว่าเห็นๆอยู่ว่าทำเลหน้าหมู่บ้านน่าจะสร้างร้านขายยาเพื่อตอบสนองความต้องการในการซื้อยาของคนในหมู่บ้านจำนวน 1,000 ครัวเรือน ทำเลนี้เหมาะพอดีเพราะคนในหมู่บ้านล้วนขับรถ หน้าที่ดินมีที่จอดได้ประมาณสองถึงสามคันเพื่อให้เข้าไปซื้อยาได้สบาย
เมื่อเห็นอย่างนี้แล้วตัวเองไม่ได้เป็นเภสัชกรไม่มีความรู้เรื่องยา เห็นแต่เงินลอยมาก็เดินหน้าเข้าไปจับที่,วางมัดจำทำสิ่งปลูกสร้างมันก็จะเหลือขั้นตอนที่ว่ารอเภสัชกรเขามาเช่าแล้วเราคนที่ประกอบการก็กลายเป็นที่ Land Lord_หมดกันความฝันที่จะขายยา!หรือจะหาทางดึงดันทำเรื่องให้มันผิดกฎหมายก็ไปจ้าง ส.ว เอ๊ย เภสัชกร ที่เขาเล่นนอกเกมส์ด้วย เช่าชื่อเขามา เอาป้ายชื่อแขวนไว้ หลอกสังคมว่าทำงานที่นี่ เรียกว่าใช้ชื่อเขาเฉยๆแต่ตัวเขาไม่อยู่ประจำการจริง
เราเองก็ใส่เสื้อขาวนั่งมั่วจ่ายยาไป อีทีนี้พอตำรวจบุกก็หมดกันอีกความยั่งยืนของกิจการ!! อย่างนี้แล้วทฤษฎีในยุคมิลเลนเนียมเมื่อเจอระดับความปัจเจกของบุคคลในทศวรรษใหม่แล้วต้องพลิกกลับทาง กลายเป็นว่าคนซึ่งอยากเป็นผู้ประกอบการนั้น ต้องหันมาสำรวจตัวเองว่ามีดีอะไร?
มีความชอบอะไร? มีความหมกมุ่นในเรื่องอะไรที่ตนเองทำแล้วรู้สึกว่าไม่เป็นการ “ทำงาน”
ในยุคสามทศวรรษก่อน มหาวิทยาลัยในชิคาโกเคยสอนมหาบัณฑิตมีข้อความสำคัญที่นักเรียนไทยสำนักนี้เรียนจบมาแล้วต้องพูดก็คือหากเราสมัครงานที่ไหนได้ทำงานที่ชอบ 70% ถือว่าเป็นบุญโขแล้ว เพราะทั่วไปแล้วมักจะได้ทำที่ชอบ 50% ที่ฝืน 50% จึงเป็นการทำงานไปวันวัน เพื่อแลกเงินเท่านั้นไม่มีความหมายทั้งในชีวิตและในคุณภาพชีวิต แถมยังพร้อมจะหนีงานโดยดูวันหยุดในปฏิทินตลอดเวลาด้วยซ้ำไป
เมื่อวิเคราะห์ให้นึกออกก็อาจพบว่าคนได้ทำงานที่ตนเองชอบร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นมีลักษณะในการไปหาทางประยุกต์เอางานอดิเรกของตนที่ตนชอบทำมาเป็นงานประจำที่สร้างรายได้เคสเหล่านี้เองที่กลายมาเป็นผู้ประกอบการขนาดย่อยสามารถก่อร่างสร้างธุรกิจได้ (ซึ่งจะต้องใช้ชุดทักษะอีกชุดหนึ่งในการบริหารจัดการเพื่อขยายขนาดกิจการออกไปอีกทีหนึ่ง)
สำนักหนังสือโมโนเคลเขาชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการที่จะเริ่มทำการประกอบการในยุคนี้นั้นจะทำ ‘การณ์’ จากสิ่งที่ตัวเองมีความปรารถนาจะทำก่อน_เงินมาทีหลัง และเมื่อลงมือทำแล้วจะทำให้ดี ถึงไม่มีลูกค้าก็จะทำเพราะตนเองมีความพึงพอใจ “ที่จะทำ”
จนกระทั่งเขา/เธอ แสวงหาผู้มีความต้องการที่ตรงกันได้ รายได้ก็จะเริ่มหลั่งไหลเข้ามา คำถามมีว่า แล้วจะไปหาลูกค้าที่ไหน? อันนี้ก็ต้องเรียนว่าในเมื่อกระแสโซเชียลมีเดียหรือโลกคอมพิวเตอร์สารสนเทศมาไกลถึงขนาดนี้ การจะหาผู้ที่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกันก็ง่ายขึ้นมาก เพียงใส่สิ่งที่เรียกว่า แฮชแทค #
จนสองฝ่ายได้มาพบกัน ก็จะเกิดการซื้อขายกันขึ้น โมโนเคิล เรียก ตลาดในลักษณะนี้ว่า ‘นิช-niche’ (เฉพาะ) ซึ่งตรงกันข้ามกับตลาด ‘แมส-mass’ (ทั่วไป)
ในอดีตผู้คนชอบปรามาสตลาดนิช กันมากว่าจะสร้างรายได้ไม่พอรายจ่าย ซึ่งอันนี้ก็ถือเปนศิลปะการบริหารจัดการในระดับปฏิบัติการ ส่วนในระดับวิสัยทัศน์นั้น โมโนเคิลกล่าวว่า ตลาดนิช ลูกค้าจะมาซื้อซ้ำ และเกิดการสร้างสังคมเฉพาะ-community ขึ้นมา รายได้ต่างๆจะหมุนเวียนอยู่ในกลุ่มสังคมอันนี้
ทีนี้ลองมาดู กิจการตัวอย่างที่ Monocle ไปตามหาจากรอบโลก 100 กรณี บางส่วนกัน
ร้าน Le Relais de Castelet, ฝรั่งเศส [ใช้เวลา 1 ปีก่อสร้างกิจการ|ทีมงาน 5 คน] ฌ็อง แบบติส เบิร์ธ ในปี2015 เอากระท่อมนายพรานเก่าแก่ของพ่อ ออกมาปัดฝุ่นทำเป็นร้านอาหาร โดยออกเมนูกับข้าวคลาสสิกดั้งเดิม ของโพรวองซ์มาขาย ทั้งพวกนกไก่ฟ้า, กระทา (game) และซุปใบโหระพา เมนูเปลี่ยนไปในเเต่ละวัน เด่นที่เครื่องดื่มไวน์มีหลากหลายเกินคาดฝัน
เกร็ดน่าสนใจ : ลูกค้ามาซ้ำๆเพราะหากินที่อื่นไม่ได้ฌ็องไม่ได้เรียนเชฟมา แต่ หัดด้วยตัวเอง (self-taught)ทีมทั้ง5 มีความหลงใหลหมกมุ่นในเรื่องอาหารและไวน์ และกระตือรือร้นใส่ในในรายละเอียดดีเทลของเนื้องานกว่าร้านปกติ
ร้าน Beard, ญี่ปุ่น [ใช้เวลา ปีครึ่งก่อสร้างกิจการ|ทีมงาน 1 คน] เชฟฮาราคาวะในปี 2021 ไปพบเข้ากับเจ้าตำนานการปลูกผักออร์แกนิค กว่า 80 ชนิดด้วยระบบ seed-saving (ผักปัจจุบันถูกอุตสาหกรรมบีบให้เป็นหมัน ปลูกได้ครั้งเดียวทำพันธุ์ต่อไม่ได้) ชื่อ คุณอิวาซากิ ไม่มีใครสนใจผลิตภัณฑ์ดีๆอย่างนี้ของเขาเลย ทำให้สวนผักดีๆขายสินค้าไม่ออก เชฟฮาราคาวะตัดสินใจเปิดร้านอาหารขนาดจิ๋ว 8 ที่นั่ง รับผักดีๆเหล่านั้นมาสร้างสรรค์เมนูขาย ที่จังหวัดนางาซากิ
เกร็ดน่าสนใจ : ทำเองคนเดียวเท่าที่ทำไหวตั้งใจอยู่เสมอว่ากำลังทำธุรกิจขนาดเล็กที่คุณภาพสูงส่งลูกค้ามีทางเลือกหลากหลายก็จริง แต่ก็จริงอีกเช่นกันที่ไม่มีที่ใดเหมือนร้านของเขาเลย
The Modern House, London [ยอดขาย 7ล้านปอนด์ | ทีมงาน 60 คน] ปี 2005 กิบเบอด และ ฮิลล์ นักวารสารศาสตร์ คิดทำแพลตฟอร์มการขายบ้านจากมุมมองของคนทำสื่อวารสาร ปฏิวัติแนวทางการเร่งรัดปิดการขายตามวิถีนายหน้าปกติที่ผู้คนรังเกียจ เป็นการคัดของสวยของดี ของมีประวัติ มาพัฒนาให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ แล้วทำการสื่อสารผ่าน นิตยสารแบบเล่ม/ พอดคาสท์/ วารสารออนไลน์
เกร็ดน่าสนใจ : กิบเบอดยังคงทำสื่อนิตยสารแบบเล่มอยู่แม้ว่าโลกจะย้ายไปออนไลน์มากแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่เขาถนัดและรัก (น่าจะตรงกับลักษณะนิตยสารบ้านและสวนของไทยที่ยังเปนสินค้า High Touch ที่ขายดีกว่านิตยสารพิมพ์แนวอื่น) คัดเลือกทีมงานจากคนนอกวงการอสังหาริมทรัพย์มาร่วมงาน เน้นคนที่มีพื้นฐานด้านศิลปะเป็นหลัก
Nordic Seaplanes, เดนมาร์ค [ ก่อตั้ง 2016 | ทีมงาน 20 คน] กัปตันรังก์โฮลม รู้ตัวดีว่าไม่เหมาะ/ไม่ชอบเลยกับการบินเครื่องเจ็ท แกถนัดเครื่องใบพัดโดยเฉพาะเครื่องบินน้ำ และมองเห็นโอกาสว่า การเดินทางระหว่างเมืองหลวงโคเปนเฮเกนไปเมืองเอกอีกเมืองหนึ่งชื่ออาฮุส เหล่านักเดินทางมีทางเลือกแค่นั่งรถไฟ 3 ชั่วโมงหรือนั่งเครื่องเจ็ทที่ต้องเผื่อเวลาเช็คอินในสนามบินมาตรฐานรวมแล้ว 2 ชั่วโมง กัปตันเลยเปิดบริการบินไปกลับด้วยเครื่องบินทะเลแบบใบพัดซะเลย คู่แข่งก็มีน้อยคนอื่นมีเฮลิคอปเตอร์จะทำขนส่งก็ไม่คุ้มเพราะนั่งได้ไม่มากเท่า ส่วนคนจะขึ้นเครื่องเจ็ทเสียเวลาที่สนามบินมาก กัปตันคิดแผนใหม่ให้ผู้โดยสารมาสนามบินน้ำก่อนเครื่องออกแค่ 20 นาทีก็พอเพราะมันไม่มีรายละเอียดอะไรมากมาย - ของมัน simple!
ตอนนี้กัปตันเพิ่งควักเงิน 4,000,000 ยูโรซื้อเครื่องบินใหม่อีกหนึ่งลำ จากกรณีตัวอย่างต่างๆที่ยกมานี้จะพบว่าข้างฝ่ายเหล่าบรรดาผู้ประกอบการร้านอาหารนั้น ท่านต้องยึดความจริงอยู่ข้อหนึ่งว่า ตัวอาหารต้องอร่อย แต่ว่า__ความอร่อยคืออะไร ?
ความอร่อยมาจากไหน ? บทเรียนจากเรื่องร้านอาหารทั้งสองแห่งบอกให้รู้ว่าหลายครั้งลูกค้ามากินอาหารเพราะได้รู้ว่าความอร่อยมาจากไหน (provenance) - ซึ่งเรื่องที่มาของข้าวของนี้เขียนไว้มากแล้วในตอนต่างๆเกี่ยวกับการประมูลงานศิลปะว่า provenance-ที่มาที่ไป มี ความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อมากๆ เช่น Provenance of your product คุณเอาวัตถุดิบจากไหนมาทำอาหาร เช่น ไข่เค็มมาจากไชยา เป็ดกินหอยแถวทะเลไชยา ทำให้ไข่แดงสวยเนื้อเต็ม-Lovely อาจจะจำเป็น แต่ยังไม่เพียงพอที่จะส่งมอบความเป็นเลิศให้แก่ลูกค้าหรือเปล่า? ถ้าไข่เค็มนั้นทำด้วยวิธีปลอดสารพิษล่ะ หรือ เป็นไข่เค็มโซเดียมต่ำล่ะ อันนี้ดีเลิศขึ้นมาอีกแน่
ยิ่งไปกว่านั้นมันอาจมีมุมโรแมนติกในที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์ เช่น เค้กของแหม่มเกล็นที่ทองผาภูมิ บรรจุตำนานความรักของสาวชาวออสเตรเลียที่ตามวิศวกรชาวไทยมาบุกเบิกเหมืองแร่แสนห่างไกลในชายแดนทุรกันดารแห่งกาญจนบุรี (ไม่มีน้ำประปาและไฟฟ้า) จำเป็นต้องทำอาหารแบบฝรั่งที่ตนเองถูกปาก และอบเค้กอย่างที่สามีชอบ ก็ยังสู้หาทำแบบย้อนเวลาใช้เตาถ่าน อย่างว่าเหมือนนิยาย ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ ของลอร่า อิงกัล ไวเดอร์ และเเม้ว่าสามีจากไปแล้ว ก็ยังทำอยู่ เปนเครื่องบูชาความรัก ที่จำหน่ายให้ลูกค้าได้รับประทานหรืออาจจะเป็นมุมที่น่ายกย่อง (Respect) - ในการแปรรูปพืชผักที่ปลูกโดยวิถีอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ที่สำเร็จรูป & เป็นหมัน มาทำเป็นอาหารจานพิเศษ ซึ่งเมืองไทยยังมีวิถีธรรมชาติเช่นนี้ที่ ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ และ การพัฒนาออนไลน์ จากยูทูปเบอร์ปราชญ์ชาวบ้าน อย่างโจน จันได
ดังนั้น จะพบได้ว่า ความอร่อย มาจากบริบททางสังคม_Social context ได้มากพอๆกับมาจาก Cultural context บริบททางวัฒนธรรม เช่น กับข้าวแบบธรรมเนียมของฝรั่งอย่างSunday Roast (เนื้ออบวันอาทิตย์กินตอนกลับจากโบสถ์) เมื่อเสริมเข้าไปว่า ตำราของดั้งเดิมใช้เนื้อจากวัวแองกัสที่เลี้ยงด้วยหญ้า ไม่ใช่ธัญพืช/อาหารสำเร็จรูป ทางร้านก็สรรหาเนื้อจากฟาร์มแบบนี้มาจนได้ พอเรื่องผนวกเข้ากันอย่างนี้ก็ถือเป็น cultural of authentic cuisine อีกระดับขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง
เมนูอย่างเนื้ออบนี้ ท่านภีศเดช ก็ประทานเล่าไว้ ว่าครั้งท่านไปอยู่อังกฤษใหม่ๆเสวยไปก็รู้สึกว่าไม่อร่อยไม่ถูกปาก_รสอ่อน ต่อมาหลังจากทราบเจตนาของผู้ทำว่า ต้องการให้ได้สัมผัสได้รับกลิ่นที่แท้จริงของวัวพันธุ์อังกฤษแท้ที่เลี้ยงด้วยหญ้า เมื่อท่านตั้งใจรับประทานก็รู้สึกได้ถึงความพิเศษและมีความอร่อยขึ้นมาจริงๆ (ต่อตอน 3)