เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานี้ มีข่าวดีออกมาจากสำนักข่าวในเมียนมาหลายสำนักได้ตีข่าวกันคึกโครม นั่นคือข่าวประเทศรัสเซียจะเปิดรับแรงงานจากเมียนมาจำนวน 5 ล้านอัตรา ซึ่งคำถามต่างๆ ก็หลั่งไหลเข้ามา เช่นมีคำถามว่า แล้วในอนาคตแรงงานเมียนมาในประเทศไทยจะขาดแคลนมั้ย หรือแล้วการเกณฑ์ทหารของเมียนมาจะมีผลกระทบต่อการไปทำงานในรัสเซียมั้ย? ซึ่งคำถามต่างๆ เหล่านี้ ท่านที่ติดตามสถานการณ์ในเมียนมาก็ต้องสงสัยว่า ข่าวมันค่อนข้างจะสวนกระแสกับความเป็นจริง ถ้าอย่างนั้นข่าวดังกล่าวจะเป็นข่าวจริงหรือเปล่า?
ต้องขอบคุณเพื่อนๆ ที่ส่งคำถามมานะครับ ผมจะวิเคราะห์ข่าวดังกล่าวด้วยเหตุด้วยผลให้ฟังนะครับ ก่อนอื่นต้องตอบว่าข่าวดังกล่าวน่าเชื่อถือหรือไม่ก่อน? ผมได้เช็กข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ ในเมียนมา ซึ่งเช็กไป 4-5 สำนัก ก็เห็นข่าวดังกล่าวมีการรายงานตรงกันหมด พอจะอนุมานได้ว่าเป็นข่าวจริงครับ แต่ถ้าดูจากจำนวนแรงงานที่มีการส่งออกไปทำงานต่างประเทศคร่าวๆ ด้วยตัวเลขประมาณการณ์ แรงงานเมียนมามาทำงานในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ประมาณ 2 ล้านกว่าคน(ที่ไม่เป็นทางการสูงกว่านี้เยอะ), มาเลเซีย 2-3 แสนคน, สิงคโปร์ 5-6 หมื่นคน, ญี่ปุ่น 4-5 หมื่นคน, เกาหลีใต้ 2-3 หมื่นคน, ไต้หวัน 5-6 หมื่นคน, ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน 3-4 แสนคน ในขณะที่ประเทศในยุโรป ที่ส่งไปอย่างเป็นทางการเช่น เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ รวมกันทั้ง 3 ประเทศมีไม่ถึงหมื่นคน
หากมาจำแนกเป็นประเทศที่มีภูมิอากาศใกล้เคียงกับประเทศเมียนมา จะมีแรงงานไปทำงานเยอะมาก ส่วนประเทศเมืองหนาวเกือบทุกประเทศรวมกันทั้งหมด ก็น่าจะไม่เกิน 3 แสนคน ดังนั้นส่วนตัวผมคิดว่า ปัจจัยที่ทำให้แรงงานเลือกไปทำงานอย่างเป็นทางการ ลำดับตามความสำคัญมีดังนี้ ค่าแรง ภูมิอากาศ อาหารการกิน อุปสงค์ของตำแหน่งงาน มีเพื่อนฝูงและญาติพี่น้องที่ทำงานอยู่ก่อนแล้ว อัธยาศัยไมตรีจิตของนายและเพื่อนร่วมงาน วัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่ใกล้เคียงกับประเทศตน และความสะดวกสบายในที่ทำงาน ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นแรงจูงใจให้แรงงานสมัครใจเดินทางไปทำงาน
ส่วนงานที่แรงงานเมียนมาถนัดและมีความสามารถ สามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ๆ คือแรงงานที่มีฝีมือ (Skills Labor) และแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled Labor) ถ้าวิเคราะห์จากการศึกษาของคนเมียนมา วิชาที่มีการยอมรับจากตลาดแรงงานในเมียนมา ส่วนใหญ่จะเป็นวิชาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิชาทางด้านการเดินเรือ วิชาทางด้านสังคมศาสตร์ แต่ในส่วนวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ วิชาทางด้านการแพทย์จะไม่ค่อยยอมรับกันเท่าไหร่
ดังนั้นจะเห็นว่าแรงงานที่เดินออกมาทำงานที่ต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นทางด้านดังที่กล่าวมานั่นแหละครับ ส่วนแรงงานไร้ฝีมือ ก็จะเป็นแรงงานทางด้านบริการ เช่น งานแม่บ้านหรือในร้านอาหาร แรงงานในโรงงานการผลิตต่างๆ แรงงานทางด้านการเกษตร เป็นต้น
ส่วนค่าแรงในแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกันออกไป ตามความศิวิไลซ์ เศรษฐกิจและอารยธรรมของประเทศนั้นๆ เช่น ประเทศในแถบยุโรปตะวันตก ย่อมมีค่าแรงงานสูงกว่ายุโรปตะวันออก หรือประเทศที่เจริญแล้วอย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน สิงคโปร์ ย่อมมีค่าแรงสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทยหรือเวียดนาม
ในขณะที่ประเทศไทยหรือเวียดนามย่อมมีค่าแรงสูงกว่า สปป.ลาว กัมพูชาหรือเมียนมา เป็นต้น ในขณะที่ประเทศรัสเซีย เราเองอาจจะคิดไปเองว่า ค่าแรงของเขาคงจะสูงกว่าเรา แต่เปล่าเลยครับ ในตรงกันข้ามเขากลับมีค่าแรงที่ถูกกว่าเรามากเลยครับ ที่ประเทศรัสเซียก่อนปี 2024 เขามีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 16,262 รูเบิลต่อเดือน หรือเท่ากับ 6,400 บาทเท่านั้น ในขณะที่ในวันที่ 1 มกราคม ปี 2024 รัฐบาลรัสเซียได้ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 19,242 รูเบิลต่อเดือน หรือเท่ากับ 7,590 บาทต่อเดือนเท่านั้นครับ
บางท่านอาจจะสงสัยว่า อ้าว....ถ้าเงินเดือนขั้นต่ำเขาน้อยขนาดนั้น แล้วนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่อยู่กันที่เมืองพัทยาเต็มไปหมด เขาเอาเงินจากที่ไหนมาเที่ยวละ? ก็ต้องตอบว่า ที่ไหนมีคนจนที่นั่นก็มีคนรวยเช่นกัน ที่ไหนมีคนดีที่นั่นก็มีคนเลว ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจหรอกครับ คนรวยทำอะไรก็ไม่น่าเกียจ เขาจะมีเงินมาเที่ยวพักผ่อนในประเทศไทยเรา ก็เป็นเรื่องธรรมดาครับ
ในขณะที่ทางการของรัสเซียได้เปิดให้แรงงานเมียนมา เข้าไปทำงานในรัสเซียมากถึง 5 ล้านอัตรา ก็มีเหตุผลที่มาที่ไปเช่นเดียวกัน ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศรัสเซียก็มีแรงงานต่างชาติเข้าไปทำงานที่ประเทศเขาไม่น้อย เช่น แรงงานประเทศอุซเบกิสถาน ประเทศทากิจิสถาน ทั้งสองประเทศนี้ในอดีตเคยเป็นประเทศสหภาพโซเวียตรัสเซียมาก่อนครับ หรือในช่วงเปิดประเทศใหม่ๆ ก็มีแรงงานจากประเทศเวียดนามเข้าไปทำงานที่นั่นเช่นกัน เป็นที่ทราบกันดีว่า ณ วันนี้ ประเทศรัสเซียกำลังมีสงครามกับประเทศยูเครน ทำให้แรงงานชายในประเทศเขาขาดแคลน ดังนั้นการรับเอาแรงงานต่างชาติเข้าไปทดแทนแรงงานที่ขาดหายไป ก็เป็นเรื่องปกติครับ
ในช่วงเดือนกันยายนของปีนี้ ท่านพลเอกอาวุโส เมียน อ่อง หล่าย ได้เดินทางไปเยือนประเทศรัสเซีย และได้เข้าเยี่ยมเยือนท่านประธานาธิบดีปูติน เพื่อปรึกษาหารือกัน ข่าวอย่างไม่เป็นทางการออกมาว่า หนึ่งในปัญหาที่นำมาพูดคุยกัน ก็คือปัญหา “แรงงาน” นี่แหละครับ จึงเป็นที่มาของการเปิดรับให้แรงงานเมียนมา 5 ล้านอัตราครับ
ส่วนคำถามที่ว่า ในการเกณฑ์ทหารเข้ารับราชการของคนหนุ่มสาวชาวเมียนมา ที่เป็นชายที่มีอายุตั้งแต่ 18-35 ปี และอายุตั้งแต่ 18-28 ปีที่เป็นผู้หญิง ที่ทางการเขาทำมาตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา จะทำให้การส่งแรงงาน 5 ล้านอัตราไปรัสเซียมีปัญหาหรือไม่? ต้องบอกว่าการเกณฑ์ทหารแม้จะมีกฎหมายที่ต้องถูกเกณฑ์กัน โดยทุกคนไม่มีการยกเว้น เว้นแต่ผู้หญิงที่มีบุตรเท่านั้น ผมก็เชื่อว่าทางการเมียนมา เขาก็คงไม่ได้ทำทีเดียวพร้อมกันทั้งประเทศหรอกครับ เพราะถ้าขืนเมียนมาเกณฑ์ทหารทีเดียวยี่สิบกว่าล้านคน รัฐบาลก็คงไม่มีงบประมาณพอในการรับคนเข้าเป็นทหารได้ และต้องไม่ลืมว่า ประเทศที่มีทหารมากที่สุดอันดับหนึ่งของโลก คือประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็มีทหารประจำการเพียง 2 ล้านกว่าคนเท่านั้นครับ ดังนั้นคงไม่กระทบต่อการทำงานของแรงงานแน่นอนครับ
และท่านที่ถามว่าแล้วจะส่งผลต่อแรงงานเมียนมาในประเทศไทยหรือเปล่า? ผมก็เชื่อว่าหากวิเคราะห์ตามที่ผมกล่าวมาทั้งหมด ก็เชื่อได้ว่าการที่จะมีคนแย่งกันไปทำงานในประเทศรัสเซีย คงไม่มากพอที่จะกระทบต่อแรงงานเมียนมาในประเทศไทยหรอกครับ อย่าได้กังวลใจเลยครับ ถึงอย่างไรประเทศไทยยังคงเป็นสวรรค์ของแรงงานเมียนมาอยู่ดีครับ อากาศก็เหมือนเมียนมา อาหารก็คล้ายกัน ญาติสนิทมิตรสหายก็เยอะ ค่าแรงก็ดีกว่า วัฒนธรรมก็ใกล้เคียงกัน แถมมีเจ้านายใจดีด้วย แล้วใครจะอยากย้ายออกจากประเทศไทยละครับ