ปัญหาสายตายาว ความท้าทายในวัยชรา

09 พ.ย. 2567 | 07:10 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2567 | 07:22 น.

ปัญหาสายตายาว ความท้าทายในวัยชรา คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

KEY

POINTS

  • สายตายาวตามวัยเป็นภาวะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติตามวัยเมื่ออายุมากขึ้น เลนส์ของดวงตาจะสูญเสียความยืดหยุ่น ทำให้โฟกัสวัตถุที่อยู่ใกล้ได้ยาก ภาวะนี้เรียกว่าสายตายาวตามวัย ซึ่งเป็นภาวะทางตาที่พบได้บ่อยตามวัย
  • สายตายาวตามวัยอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อกิจกรรมประจำวัน เช่น การอ่านหนังสือ การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการทำงานที่ต้องใช้การมองเห็นในระยะใกล้

วันก่อนมีเพื่อนท่านหนึ่งมาหา หลังจากคุยกันสักพักหนึ่ง เขาก็จะนำเอาโทรศัพท์มาเปิดโชว์รูปภาพให้ผมดู หลังจากเปิดโทรศัพท์ เพื่อนก็เปิดกระเป๋าเพื่อควานหาแว่นตา เพื่อนำมาใส่ หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ ผมจึงชี้ไปที่แว่นตาที่วางอยู่ข้างๆตัวเขา ผมจึงแซวไปว่า “โอ้โห เพื่อนเป็นเอามากเลยนะ อายุก็ยังไม่มากทำไมจึงขี้ลืมจัง ถ้าอายุเท่าพี่คงต้องมีคนคอยเตือนตลอดแล้วละ” เขาก็บอกว่า อาการขี้ลืมยังไม่น่าเป็นห่วงเท่าอาการมองไม่เห็นนะ เพราะเขาสายตายาวจนอ่านหนังสือไม่ได้แล้ว ต้องหาแว่นตาตลอดเวลาเลย แม้แต่ตัวอักษรขนาดธรรมดาก็ยังมองไม่เห็นเลย ผมจึงคิดว่า น่าจะเป็นเพราะอายุมากขึ้นนั่นเองครับ

อันที่จริงการเสื่อมสภาพของร่างกายในช่วงวัยชรา ถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับทุกคน และหนึ่งในระบบที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ การมองเห็นหรือระบบสายตา ซึ่งสามารถสร้างปัญหาได้หลายประการในผู้สูงวัยอย่างพวกเรา ผมโชคดีที่สายตายังไม่มีปัญหาดังกล่าว อาจจะเป็นเพราะว่าไม่ค่อยได้หยุดการอ่านก็เป็นได้ครับ เพราะปัญหาสายตาที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้เฒ่าทั้งหลาย ก็คือ ปัญหาสายตายาวตามวัย (Presbyopia) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติของเลนส์ตา ทำให้เกิดการมองเห็นที่ไม่ชัดเจนในระยะใกล้ ผมจึงอยากให้เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสายตายาวตามวัยในวัยชรา พร้อมทั้งวิธีการดูแลและการรักษาที่สามารถช่วยลดผลกระทบจากภาวะนี้ได้สักนิดนะครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยครับ

ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า ตัวผมไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่อาศัยการสืบค้นหาเอกสารและบทวิจัยมาอ่าน พอจะทราบสาเหตุของปัญหาสายตายาวตามวัยอยู่บ้าง ดังนั้นก็ถือว่าอ่านเพื่อแบ่งปันเท่านั้นก็พอนะครับ

คนเราเมื่ออายุมากขึ้น กระบวนการทางชีวภาพที่เกิดขึ้นในร่างกายจะส่งผลกระทบต่อหลายส่วน รวมถึง “เลนส์ตา” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการโฟกัสแสงที่เข้าสู่ตา เลนส์ตาจะเริ่มสูญเสียความยืดหยุ่น และความสามารถในการเปลี่ยนรูปทรง เพื่อมุ่งไปยังวัตถุที่อยู่ใกล้หรือไกลได้ดีเหมือนเมื่อก่อน เมื่อเลนส์ตาไม่สามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาพที่มองเห็นในระยะใกล้จะเริ่มเบลอและมองเห็นไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นอาการของ สายตายาวตามวัย โดยปกติแล้ว สายตายาวตามวัยจะเริ่มแสดงอาการเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุประมาณ 40 ปี และอาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อเข้าสู่วัย 50-60 ปี เนื่องจากเลนส์ตาเริ่มมีการเสื่อมสภาพอย่างชัดเจน ขณะที่ผู้ที่มีสายตาสั้น (myopia) หรือสายตาปกติในวัยเด็ก อาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากอาการนี้ในระยะแรก แต่เมื่ออายุมากขึ้นการมองเห็นระยะใกล้จะเริ่มผิดปกติ อาการที่แสดงออกของสายตายาวตามวัยนั้น อาจไม่ชัดเจนในตอนแรก แต่จะค่อยๆ แสดงออกเมื่อเวลาผ่านไป โดยอาการทั่วไปที่พบเห็น เช่น การมองเห็นไม่ชัดในระยะใกล้ เมื่ออ่านหนังสือ อ่านข้อความจากโทรศัพท์มือถือ หรือการทำงานที่ต้องใช้สายตาใกล้ โดยเฉพาะแม่บ้าน(ภรรยาผมก็เป็น) ที่ชอบการเย็บปักถักร้อยเป็นประจำ บางคนต้องใช้วิธีถอยออกจากวัตถุที่จะมอง เพื่อให้เห็นชัดขึ้น

บางคนอาจจะมีความรู้สึกเมื่อยล้าหรือปวดตา เมื่อพยายามใช้สายตาในการมองระยะใกล้เป็นเวลานานๆ หรืออาจจะรู้สึกไม่สบายตา บางคนก็อาจจะมองเห็นภาพเบลอหรือไม่ชัด โดยเฉพาะเมื่อมองสิ่งที่อยู่ใกล้ หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาในการมองอย่างละเอียด อาการเหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่เลนส์ตาไม่สามารถโฟกัสแสง ที่มาจากวัตถุใกล้ๆได้อย่างเหมาะสม การที่สายตาไม่สามารถมองเห็นระยะใกล้ได้ชัดเจนนั้น ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้นั่นเองครับ

ถึงแม้ว่าสายตายาวตามวัยจะเป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ และเป็นผลมาจากการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติของร่างกาย แต่ปัจจุบันนี้การแพทย์ได้พัฒนาไปมาก จึงมีวิธีการรักษาอาการสายตายาว หรือบรรเทาอาการนี้ได้หลายวิธี ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถกลับไปทำกิจกรรมที่เคยทำได้ดีขึ้น อาทิเช่น หาซื้อแว่นตาที่เหมาะสมมาอ่านหนังสือ (Reading Glasses) ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด หรือบางคนก็หาซื้อแว่นตาหลายชั้น (Bifocal or Progressive Lenses) ที่มีความสามารถในการช่วยแก้ไขปัญหาสายตา ทั้งในระยะใกล้และระยะไกล หรือบางคนก็เลือกการทำเลสิก (Refractive Surgery) ซึ่งวิธีนี้ผมก็เห็นเพื่อนรักของผมคนหนึ่งทำ เขาก็ได้ผลดีทีเดียวครับ

อีกวิธีหนึ่งคือการใช้คอนแทคเลนส์ ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็มีคอนแทคเลนส์ชนิดที่ออกแบบสำหรับผู้ที่มีสายตายาวตามวัย ก็เป็นทางเลือกที่ดีในการช่วยให้มองเห็นได้ชัดเจนในระยะใกล้โดยไม่ต้องพึ่งพาแว่นตา อีกทั้งคอนแทคเลนส์ในปัจจุบันนี้ มีหลากหลายประเภท เช่น คอนแทคเลนส์ชนิดหลายชั้น (Multifocal contact lenses) ที่ออกแบบมาให้สามารถมองเห็นได้ทั้งระยะใกล้และระยะไกล

วิธีการดูแลและป้องกันสายตายาว แม้ว่าเราไม่สามารถป้องกันการเกิดภาวะสายตายาวตามวัยได้ แต่การดูแลสุขภาพดวงตาและการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ก็สามารถช่วยชะลออาการและป้องกันการเสื่อมของดวงตาในอนาคตได้ เช่น การตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ หรือการตรวจสายตาทุกปี จะช่วยให้สามารถตรวจพบปัญหาสายตาในระยะเริ่มต้น และสามารถทำการรักษาหรือแก้ไขได้ทันเวลา บางคนที่ใช้วิธีการรับประทานอาหารที่ดีต่อดวงตา เช่นอาหารที่มีวิตามิน A, C, E, และแร่ธาตุอื่นๆ เช่น สังกะสีและโอเมก้า-3 จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพตาให้แข็งแรงได้ดีครับ

การหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง การสวมแว่นกันแดดที่มี UV Protection สามารถช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพของดวงตา และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคตาต่างๆ เช่น ต้อกระจกหรือจอประสาทตาเสื่อม หรือการหยุดพักจากการใช้สายตาบ้าง โดยพักสายตาทุกๆ 20-30 นาทีหลังจากมีความรู้สึกว่าใช้สายตามากเกินไปแล้วเป็นต้นครับ

การมองเห็นเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย การดูแลรักษาสายตา จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและมีประโยชน์ ในการทำให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกและมีความสุขมากขึ้น และต้องเตือนตัวเองว่า “ดวงตาเป็นหน้าต่างของดวงใจ” เราต้องทะนุถนอมสายตาตนเองไว้ให้ดีเสมอนะครับ