ผู้สูงวัยกับการหูตึง

02 พ.ย. 2567 | 06:00 น.
518

ผู้สูงวัยกับการหูตึง คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

KEY

POINTS

  • โรคหูตึงเป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงวัย ซึ่งเกิดจากการเสื่อมสภาพของหูชั้นในตามอายุและปัจจัยอื่นๆ เช่น กรรมพันธุ์และโรคประจำตัว เช่น เบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ส่งผลกระทบต่อการสื่อสาร คุณภาพชีวิต และสุขภาพจิตของผู้สูงวัย
  • การรักษาการสูญเสียการได้ยินมีหลายวิธี เช่น การใช้เครื่องช่วยฟัง, เครื่องฝังในหู, การผ่าตัด และการบำบัดด้วยยา โดยผู้สูงวัยควรได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวเพื่อช่วยให้พวกเขายังคงสามารถเข้าสังคมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยไม่รู้สึกเป็นภาระหรือมีปมด้อย

ทุกครั้งที่เวลาผมขับรถ เป็นเวลาที่ผมจะใช้ความคิด และผมมักจะเปิดสัญญานโทรศัพพ์ให้เข้าไปในBluetoothไว้เสมอ ซึ่งเมื่อขับรถอยู่แล้วมีเสียงโทรศัพพ์ดังขึ้น ผมก็จะเปิดเสียงรับสายที่เข้ามา ผมมักจะถูกภรรยาบ่น เรื่องการเปิดเสียงโทรศัพพ์ดังมาก โดยบอกผมว่าสักวัน หูผมจะตึงเพราะเจ้าเสียงโทรศัพพ์นี่แหละ ซึ่งทั้งๆที่รู้ว่ามีโอกาสเป็นเช่นนั้น แต่ผมก็ไม่ชอบที่จะเปิดเสียงค่อยๆครับ เพราะมันเหมือนเป็นการฟังที่ไม่สะใจยังไงยังงั้นแหละครับ

อันที่จริงการสูญเสียการได้ยินหรือที่เรียกว่าโรคหูตึง เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงวัย ซึ่งโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปเสมอ และอาจจะส่งผลต่อสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในหลายๆด้าน อาทิเช่น การสื่อสารกับผู้อื่นหรือการเข้าสังคม ที่สำคัญที่สุดคือสุขภาพจิตก็จะเสียไปด้วยครับ

สาเหตุหลักของอาการโรคหูตึงของผู้สูงวัย มักจะเกิดจากการเสื่อมสภาพของหูชั้นใน ที่มักจะมากับอายุที่มากขึ้นของผู้เฒ่าอย่างเรา ที่ทำให้เซลล์การรับเสียงและเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินเสื่อมสภาพลง จึงทำให้การได้ยินเสียงลดลง ส่งผลให้การประมวลผลเสียงแย่ลง ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ผู้เฒ่าอย่างพวกเรา ส่วนสิ่งที่ภรรยาบ่นว่าเสียงโทรศัพพ์ดังเกินไปนั้น อาจจะเป็นแค่ปัจจัยอันน้อยนิดก็ได้ครับ แต่ถ้าเสียงดังที่ได้ยินนานๆติดต่อกันตลอดเวลา เช่น เสียงจากบ้านที่อยู่ติดกันแล้วเขาตัดเหล็ก หรือเสียงจากเครื่องเสียงที่เปิดดังสนั่นลั่นทุ่งตลอด น่าจะเป็นปัจจัยที่อันตรายต่อหูมากกว่านะครับ

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการโรคหูตึงก็คือกรรมพันธุ์ หากมีสมาชิกในครอบครัว ที่มีปัญหาเรื่องของโรคหูตึง ก็มีโอกาสจะหูตึงมากกว่าครับ และอีกปัจจัยหนึ่ง ก็คือปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจจะส่งผลไปถึงการไหลเวียนของเลือด ทำให้การได้ยินเสื่อมสภาพลงไป ถ้าหากเป็นโรคดังที่กล่าวมา และรับประทานยาติดต่อกันนานๆ ก็มีโอกาสได้รับผลกระทบต่อเนื่องได้ เพราะยาบางชนิด เช่นยาปฎิชีวนะ หรือยารักษามะเร็ง อาจจะส่งผลข้างเคียงที่ทำให้การได้ยินลดลงได้ ดังนั้นการรับประทานยา ควรต้องเป็นไปตามแพทย์สั่งเท่านั้น ไม่ควรทานยาเองนะครับ

ผลกระทบของโรคหูตึงต่อผู้สูงวัย ไม่ได้จำกัดแค่เพียงการสูญเสียการได้ยินเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงการเข้าสังคม การสร้างความรำคาญให้แก่คนรอบตัว (โดยเฉพาะภรรยา....อิอิ) และเสียสุขภาพจิตด้วย ซึ่งหากจำแนกเป็นเรื่องๆ เช่น การสื่อสารที่ลำบาก เพราะมาจากเสียงที่สื่อสารมาที่เราไม่ชัดเจน ก็จะทำให้ผู้เฒ่าหูตึงอย่างเรา ต้องใช้ความพยายามในการฟัง ซึ่งน่าจะเหนื่อยล้าได้นะครับ (อันนี้ผมเดาเอาเองนะครับ เพราะหูของผมยังปกติตามความเข้าใจของผม) และอาจจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดในการสนทนาได้ ซึ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ “การทายใจ” เพราะส่วนใหญ่แล้ว เมื่อผู้เฒ่าหูตึง มักจะใช้วิธีการทายว่า คู่สนทนากำลังพูดถึงเรื่องอะไร นินทาเราหรือเปล่าน้า....หรือถ้าหากทายไปในทางที่ผิดๆ ก็จะทำให้มีปัญหากับคู่สนทนาได้ตลอดครับ

ส่วนระดับของการสูญเสียการได้ยิน (หูตึง) สามารถแบ่งออกเป็น 5 ระดับหลัก ๆ ตามความรุนแรง ได้แก่ ระดับแรกคือระดับที่เบาที่สุด นั่นคือ หูตึงระดับเล็กน้อย (Mild Hearing Loss) ผู้ที่มีระดับนี้จะได้ยินเสียงในช่วง 26-40 เดซิเบล (dB) ทำให้ยากที่จะได้ยินเสียงเบา หรือการสนทนาที่อยู่ในระยะไกล ระดับที่สอง คือหูตึงระดับปานกลาง (Moderate Hearing Loss) คือได้ยินเสียงในช่วง 41-55 เดซิเบล (dB) ผู้ที่มีอาการจะมีปัญหาในการฟังการสนทนาในสภาพแวดล้อมปกติ และมักต้องการให้เสียงดังขึ้นเพื่อที่จะได้ยินชัดเจนขึ้น ระดับที่สามคือ หูตึงระดับปานกลางถึงรุนแรง (Moderately Severe Hearing Loss) ได้ยินเสียงในช่วง 56-70 เดซิเบล (dB) ผู้ป่วยจะไม่สามารถได้ยินเสียงการสนทนาทั่วไปโดยไม่ใช้เครื่องช่วยฟัง ระดับที่สี่คือ หูตึงระดับรุนแรง (Severe Hearing Loss) ได้ยินเสียงในช่วง 71-90 เดซิเบล (dB) การได้ยินจำกัดมาก และต้องการการใช้เครื่องช่วยฟังหรือเครื่องขยายเสียงเพื่อการสื่อสาร ระดับสุดท้ายคือคือระดับที่อันตรายที่สุด นั่นคือหูตึงระดับลึก (Profound Hearing Loss) ได้ยินเสียงที่เกิน 91 เดซิเบล (dB) การได้ยินเกือบเป็นศูนย์ และการสื่อสารต้องใช้การอ่านปาก ภาษามือ หรือการฝังอุปกรณ์ช่วยฟังขั้นสูง

ส่วนการรักษาการสูญเสียการได้ยิน (โรคหูตึง) ก็มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ โดยสามารถแบ่งวิธีการรักษาออกได้เป็นดังนี้ 1. การใช้เครื่องช่วยฟัง (Hearing Aids) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยขยายเสียงให้ชัดเจนขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีการสูญเสียการได้ยินในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง 2. การใช้เครื่องฝังในหู (Cochlear Implants) เหมาะสำหรับผู้ที่สูญเสียการได้ยินในระดับรุนแรงถึงลึกที่เครื่องช่วยฟังทั่วไปไม่สามารถช่วยได้ การฝังอุปกรณ์นี้จะช่วยกระตุ้นประสาทหูโดยตรง 3.การผ่าตัด (Surgery) กรณีที่สาเหตุการสูญเสียการได้ยินเกิดจากปัญหาในโครงสร้างของหู เช่น การเจาะแก้วหู หรือปัญหาในกระดูกหู การผ่าตัดแก้ไขสามารถช่วยฟื้นฟูการได้ยินได้ 4.การรักษาด้วยยา (Medications) ใช้ในกรณีที่การสูญเสียการได้ยินเกิดจากการติดเชื้อหรือการอักเสบในหูชั้นกลาง การใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านการอักเสบก็สามารถช่วยรักษาได้ 5.การบำบัดทางเสียง (Sound Therapy) ใช้ในการบำบัดผู้ที่มีปัญหาเสียงรบกวนในหู (tinnitus) ร่วมกับการสูญเสียการได้ยิน วิธีนี้ช่วยให้สมองปรับตัวและลดเสียงรบกวน

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าผู้สูงวัยทุกคน ล้วนไม่มีใครอยากจะเป็นคนหูตึงหรอกครับ แต่สังขารมันไม่เที่ยง เมื่อหูเกิดมีอาการสูญเสียการได้ยิน ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดก็อย่าได้รำคาญ ต้องอดทนเยอะๆ ผมมีเพื่อนที่สูงวัยกว่าผมท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมจงหัวแห่งประเทศไทย ท่านจะมีปัญหาหูตึงระดับที่สามแล้วละ แต่ทุกครั้งที่มาประชุมหรือมางานในสมาคม ภรรยาของท่านจะพามาด้วยเสมอ เพื่อให้ท่านได้ออกมาสังคมคบค้ากับเพื่อนฝูงอยู่เป็นประจำ โดยท่านจะคอยเป็นช่างภาพให้แก่พวกเราทุกๆคน ดูออกเลยว่า “ความรัก”ของท่านกับภรรยา ทำให้ท่านมีกำลังใจและมีความสุขมาก อย่างไม่มีปมด้อยใดๆเลยครับ