นโยบายการดูแลผู้สูงวัยในประเทศจีน

06 ก.ค. 2567 | 04:10 น.

นโยบายการดูแลผู้สูงวัยในประเทศจีน คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อต้นอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้เดินทางไปที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน เพื่อดูงานทางด้านบ้านพักผู้สูงวัยของที่นั่น สืบเนื่องจากเมื่อเดือนที่ผ่านมามีผู้บริหารระดับสูงสถาบันเอเซียศึกษาของมณฑลยูนนาน ได้มาเยี่ยมเยือนบ้านพักคนวัยเกษียณ “คัยโกเฮาส์” ของผม ทำให้เขาเข้าใจในจุดมุ่งหมายของการสร้างคัยโกเฮาส์ เขาจึงได้เชิญให้ผมไปดูงานบ้านพักหรือสถานฟื้นฟูผู้สูงวัยที่คุนหมิง ผมจึงขอนำเอาเรื่องราวที่ได้ไปพบเห็นมา มาเล่าให้แฟนคลับทุกท่านได้เปรียบเทียบดูว่า นโยบายการดูแลผู้สูงวัยในมลฑลยูนนานกับของไทยเราว่ามีความใกล้เคียงหรือแตกต่างกันอย่างไร?
           
การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก แต่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศจีนกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรที่สำคัญ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงวัย สาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของอัตราการเกิด ที่เกิดจากนโยบายลูกคนเดียวของจีน และการเพิ่มขึ้นของอายุขัยเฉลี่ย ซึ่งส่งผลให้จำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 

จนกระทั่งเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society)ไปแล้ว การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ ได้นำมาซึ่งความท้าทายหลายประการ ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการสาธารณสุข หนึ่งในความท้าทายหลักคือการจัดหาบริการดูแลผู้สูงอายุที่เพียงพอและมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้สูงวัยมีชีวิตที่มีคุณภาพและสามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ ซึ่งก็สอดคล้องกับการที่ผมได้มองเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของไทยเรา ผมจึงได้ก่อตั้งโรงเรียนผู้บริบาลผู้สูงวัยที่มีชื่อว่า “โรงเรียนคัยโกเฮาส์ การดูแลผู้สูงอายุ” เพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่จะเข้ามาสู่ประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้
              
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนได้ดำเนินนโยบายและมาตรการหลายประการเพื่อรับมือกับปัญหาการดูแลผู้สูงวัย โดยสามารถสรุปได้ดังนี้คือ การสร้างระบบบริการดูแลผู้สูงวัยแบบครบวงจร การส่งเสริมการดูแลผู้สูงวัยที่บ้าน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน การพัฒนากำลังคนในสาขาการดูแลผู้สูงอายุ การสนับสนุนด้านการเงิน เป็นต้น ซึ่งในการดำเนินนโยบายทั้งหมด ได้อยู่ในแผนของรัฐบาลจีน โดยเขาได้เริ่มดำเนินการมาหลายปีแล้ว แต่ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในมณฑลที่มีความเจริญหรือเมืองใหญ่ๆ เป็นหลัก ในขณะที่เมืองรองหรือมณฑลที่อยู่ห่างไกล ยังคงต้องมีการพัฒนาให้เท่าเทียมกันทั่วประเทศจีนอย่างแน่นอน 
 

ที่ผมไปเห็นมาในมณฑลยูนนาน ทางรัฐบาลจีนเขาก็ได้มีการส่งเสริมการสร้างระบบบริการที่ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพ การพยาบาล และการบริการสังคม อย่างเข้มข้น โดยเน้นการบูรณาการบริการต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถเข้าถึงบริการที่ต้องการได้ง่ายขึ้น มีการสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงวัยในชุมชน และส่งเสริมการพัฒนาสถานดูแลผู้สูงวัยที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้บริการด้านการพยาบาลและการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร แต่ก็ยังคงไม่เท่าเทียมกับเมืองอื่นๆ ที่ผมเคยไปดูงานมา ไม่ว่าจะเป็นกรุงปักกิ่ง เมืองกวางเจา เมืองเซียงไฮ้ หรือเมืองเซินเจิ้น อาจจะเป็นเพราะว่าสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่ยังคงมีความเจริญที่ไม่เท่าเทียมนั่นเองครับ
            
ด้วยเหตุผลดังกล่าว หน่วยราชการของมณฑลยูนนาน จึงได้สนับสนุนและส่งเสริมการดูแลผู้สูงวัยที่บ้าน โดยการให้การฝึกอบรมและสนับสนุนผู้ดูแลในครอบครัว รวมทั้งการให้บริการพยาบาลและบริการสังคมถึงบ้าน เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่ในบ้านของตนเองได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข จึงทำให้การพัฒนาการของกิจการดูแลผู้สูงวัยในมณฑลยูนนาน ยังคงมีความล้าหลังกว่าเมืองใหญ่ๆ อยู่อีกมาก จะมีเพียงผู้ประกอบกิจการขนาดใหญ่ และกลุ่มของหน่วยงานที่เป็นรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ที่เข้ามาสู่กิจการดังกล่าว รายเล็กรายน้อยจึงยังไม่ค่อยจะเข้ามาเล่นในกิจการประเภทนี้ครับ  
      
ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เข้ามาเล่น รัฐบาลก็ได้สนับสนุนการมีส่วนร่วม โดยการให้สิทธิประโยชน์และสิ่งจูงใจต่างๆ แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุ  อาทิเช่น การให้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี การให้เงินสนับสนุนในการสร้างสถานดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น ส่วนการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร รัฐบาลจีนเขาได้เน้นการพัฒนากำลังคนในสาขาการดูแลผู้สูงวัย โดยการจัดการฝึกอบรมและการศึกษาต่อเนื่องสำหรับผู้ที่ทำงานในสาขานี้ เพื่อเพิ่มความรู้และทักษะในการดูแลผู้สูงวัยให้มีคุณภาพ และใช้ความพยายามในการให้การบริการด้วยส่งใจถึงใจ ในความคิดของผม ผมคิดว่าเขาอาจจะเห็นระยะหลายปีที่ผ่านมา การให้บริการในทุกด้านของประชาชนของเขา ไม่ได้ใส่ใจเท่าที่ควรก็เป็นได้ครับ
     
สุดท้ายคือการให้การสนับสนุนด้านการเงิน เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลของประเทศจีน เป็นรัฐบาลที่มีเงินคงคลังหรือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก และที่ผ่านๆ มา รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณแผ่นดินไปใช้ในการพัฒนาสาธารณูปโภคเสียเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่งบประมาณทางด้านสาธารณสุข หากเขาปันงบให้มาใช้ทางด้านการดูแลผู้สูงวัยในบั้นปลายของชีวิต ด้วยการจัดทำระบบประกันสุขภาพ และประกันสังคมที่ครอบคลุมถึงผู้สูงวัย จึงเป็นเรื่องที่สามารถใช้เพื่อให้ผู้สูงวัยได้รับการดูแลสุขภาพและบริการสังคมที่จำเป็น โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ย่อมเป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับประเทศจีนหรือมณฑลเล็กๆ เช่นมณฑลยูนนาน 
         
การดูแลผู้สูงวัยเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ และต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทุกๆ รัฐบาลไม่ใช่เพียงรัฐบาลจีนหรือรัฐบาลไทย ควรจะต้องเตรียมการรับมือกับปัญหานี้ โดยเน้นการสร้างระบบบริการให้ครอบคลุม ด้วยการสนับสนุนการดูแลผู้สูงวัยไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่บ้านหรือที่สถานบริบาล การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน การพัฒนากำลังคน และการสนับสนุนด้านการเงิน แม้จะมีความท้าทายมากมาย แต่ด้วยความมุ่งมั่นและการทำงานร่วมกัน เชื่อว่าจะสามารถสร้างสังคมที่ผู้สูงวัย ให้สามารถมีชีวิตบั้นปลายที่มีคุณภาพและมีความสุขได้ในระยะยาวก่อนที่จะจากโลกนี้ไปนั่นเองครับ