กระเตง อุ้มราคาพลังงาน 2 แสนล้าน

21 ก.ย. 2566 | 12:00 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2566 | 12:03 น.

กระเตง อุ้มราคาพลังงาน 2 แสนล้าน บทบรรณาธิการ

สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 เดือน คิดเป็นการปรับเพิ่มขึ้นกว่า 26% จากไตรมาส 2 ของปีนี้ นับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นมากสุด ตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย และ ยูเครน เป็นผลจากตลาดมีความกังวลในการจัดหาน้ำมันดิบตึงตัว จากการขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบียที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และการปรับลดการส่งออกของรัสเซียที่ 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงสิ้นปีนี้ และอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบใกล้เข้าสู่ระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในช่วงหน้าหนาวที่จะถึงนี้

สะท้อนถึงราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในบ้านเรา ที่ขณะนี้รัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 2.50 บาทต่อลิตร ควบคู่กับการใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุนราคา เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 พร้อมทั้งตรึงราคาก๊าซหุงต้มที่ อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม อีก 3 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมถึง 31 ธันวาคม 2566

ขณะที่การลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ว่าจะช่วยเหลือวิธีใดทั้งที่เป็นกลุ่มส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อไปอุดหนุนราคาให้กับกลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซลในอัตรา 2.80 บาทต่อลิตร แถมผู้ค้าน้ำมันยังได้ค่าการตลาดสูงถึง 2.67-3.26 บาทต่อลิตร สูงกว่าค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลที่ได้รับอยู่ 1.41 บาทต่อลิตร

ส่วนการลดค่าไฟฟ้า รอดูทิศทางว่า รัฐบาลจะได้ข้อสรุปอย่างไร หลังจากคณะรัฐมตรี เห็นชอบลดค่าไฟฟ้าลงเหลือ 4.10 บาทต่อหน่วย จากการชะลอการเก็บค่าเอฟทีคืนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 38.31 สตางค์ต่อหน่วย แต่นายกฯ ยังไม่พอใจ มอบหมายให้ นายพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไปหาแนวทางให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย

มีความเป็นไปได้ว่า กกพ.จะใช้ราคา pool gas ที่ 304 บาทต่อล้านบีทียู เป็นราคาต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ที่ 323 บาทต่อล้านบีทียู มาคำนวณค่าเชื้อเพลิง หากวันที่กฟผ.ต้องจ่ายค่าก๊าซฯ สูงกว่าราคา pool gas จะให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รับภาระส่วนต่างไปก่อน แล้วค่อยให้ กฟผ.ทยอยจ่ายคืนในภายหลัง

สถานการณ์ราคาพลังงานที่เป็นอยู่ ต้องจับตาดูว่า รัฐบาลจะสามารถช่วยลดค่าครองชีพด้านพลังงานให้กับประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน เพราะการอุ้มราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ด้วยการลดภาษีสรรพสามิต 2.50 บาทต่อลิตร ควบคู่กับการใช้กลไกของกองทุนน้ำมันฯ ที่ปัจจุบันชดเชยอยู่ที่ 7.71 บาทต่อลิตร และยังต้องใช้กองทุนน้ำมันฯ อุ้มก๊าซหุงต้มอีก 4.45 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ฐานะกองทุนติดลบแล้วกว่า 61,641 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 16,902 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้มติดลบ 44,739 ล้านบาท และการยืดหนีคืน กฟผ.ที่ต้องแบกภาระอยู่ 135,297 ล้านบาท หรือ 221.23 สตางค์ต่อหน่วย

เมื่อฤดูหนาวมาถึงการอุ้มราคาพลังงานเหล่านี้ จะยิ่งสูงขึ้นอีก กลายเป็นดินพอกหางหมูมากยิ่งขึ้น

ขณะที่การลดค่าไฟฟ้าจาก 4.45 บาทต่อหน่วยมาอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย คิดเป็นมูลค่าเงินที่ต้องใช้ราว 27,000 ล้านบาท

ด้วยมาตรการอุ้มค่าพลังงานต่างๆ แม้จะเป็นผลดีต่อการลดค่าครองชีพให้กับประชาชนระยะสั้น แต่สุดท้ายแล้ว ประชาชนผู้ใช้น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และ ไฟฟ้า ก็ต้องกลับมาจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ และ ค่าเอฟที ที่ค้างจ่ายกับกฟผ.ในระยะยาวอยู่ดี