JKN แดนสนธยา! 

08 ก.ย. 2566 | 04:30 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2566 | 06:09 น.
2.1 k

JKN แดนสนธยา! คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์

*** หลังจากที่เริ่มต้นด้วยการไม่สามารถชำระหุ้นกู้พร้อมดอกเบี้ยได้เต็มจำนวน ล่าสุด “แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” ผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารสูงสุดของ JKN ก็ได้ออกมายอมรับว่าถูกฟอร์ซเซลล์ หรือ บังคับขายหุ้นไปเมื่อวันที่ 1 ก.ย.66 จำนวน 92.02 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1.27 บาท ขณะที่ พิมพ์อุมา จักราจุฑาธิบดิ์ น้องสาวของแอน ก็ได้ดำเนินการขายหุ้น JKN ออกไป เมื่อวันที่ 31 ส.ค. จำนวน 7,262,800 หุ้น ที่ราคาหุ้นละ 1.62 บาท ทำให้ “แอนและน้องสาว” ได้ขายหุ้นออกทั้งหมดจำนวน 99,326,975 หุ้น

โดยมีสาเหตุเนื่องจากราคาหุ้นของ JKN ตกแรงกว่า 50% ใน 2 วัน ก่อนที่ต่อมา บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN ได้โอนหุ้นให้ “แอน” เข้ามาอีก 77 ล้านหุ้น ด้วยเหตุผลที่ว่า “ให้โดยเสน่หา” ทำให้ “แอน” ยังคงถือหุ้น JKN ในจำนวน 392,287,682 หุ้น คิดเป็น 38% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด หมายความว่า “แอน” ยังเป็นผู้ถือหุ้นของ JKN ในอันดับ 1 อยู่เหมือนเดิม 

ถ้าไม่นับรวมเอาต้นเหตุที่ทำให้ JKN ไม่สามารถชำระหุ้นกู้ เนื่องจากขาดสภาพคล่องทั้งที่เป็นบริษัทที่มีกำไรมาโดยตลอด ตามที่เจ๊เมาธ์เคยพูดถึงมาแล้วหลายครั้ง  

อีกประเด็นที่เจ๊เมาธ์สนใจก็คือ จำนวนการถือครองหุ้นของ แอน ตามที่ปรากฏในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีอยู่จำนวน 183 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 24.55% ซึ่งด้วยหุ้นจำนวนนี้ แม้จะรวมเอาหุ้นที่รับโอนเข้ามาใหม่ 77 ล้านหุ้น และบวกจำนวนหุ้นก่อนที่แอนถูกบังคับขาย (ฟอร์ซเซลล์) อีกจำนวน 92 ล้านหุ้น รวมทั้งหมดก็มีจำนวนหุ้นแค่เพียงแค่ 352 ล้านหุ้นเท่านั้น 

คำถาม คือหุ้นจำนวน 392 ล้านหุ้น หรือ 38% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด...คืออะไร แล้ว “แอน” ยังคงมีหุ้นเหลือ “ซุกซ่อน” อยู่ที่อื่นอีกหรือไม่...จำนวนเท่าไหร่ และจะมีสิ่งที่เรียกว่า “นอมินี” ถือหุ้นให้แอน อยู่อีกด้วยหรือไม่

ที่เจ๊เมาธ์ว่ามาทั้งหมดนี้ ก็เป็นแค่ความสงสัย เนื่องจากอยากเห็นความชัดเจน ไม่อยากให้บริษัท “มหาชน” ที่ควรจะมีความโปร่งใส กลายเป็นเพียงแค่ “แดนสนธยา” ที่เพียงแค่รอเวลาให้ “น้ำลด...ตอผุด” ประมาณว่า “หากไม่เกิดเรื่อง...ก็ไม่มีใครรู้เรื่อง” นั่นเองเจ้าค่ะ

*** หุ้นกลุ่มพลังงาน ทั้งไฟฟ้า และ น้ำมัน อย่าง GULF GPSC BGRIM RATCH EA OR BCP SPRC หรือแม้แต่ PTTGC เริ่มกลับมาอยู่สถานะ ที่ต้องถูกจับตาดูว่า นโยบายลดค่าครองชีพจากรัฐบาลใหม่จะส่งผลกระทบอย่างไร แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะราคาหุ้นพลังงานเหล่านี้ถูกดันราคากลับขึ้นมาหลังจากที่ “พรรคก้าวไกล” ซึ่งใช้นโยบายลดค่าครองชีพ และยกเลิกการผูกขาดของทุนใหญ่ ในการหาเสียง มีอันต้องหลุดออกไปจากการเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล 

ส่วนอย่างที่สอง ก็เป็นประเด็นปกติที่เมื่อราคาหุ้นปรับราคาขึ้นมา มักจะถูกเทขายเพื่อลดความเสี่ยงและทำกำไรไปพร้อมกัน 

แต่หากมองในอีกมุม ก็เป็นไปได้ที่หุ้นหลายตัวในกลุ่มนี้ ยิ่งราคาปรับลงมามากก็ยิ่งน่าสนใจมากเช่นกัน อย่างในกรณีของ GULF ซึ่งอาจจะถูกมองว่า จะได้รับผลกระทบมากกว่าใคร แต่ถ้าจะว่าไปตามตรงแล้วการที่ราคาหุ้นของ GULF ปรับขึ้น หรือ ลงมักจะเป็นเรื่องของเล่นรอบเก็งกำไรมากกว่า 

ปัญหาเรื่องปัจจัยแวดล้อมที่ว่ามา หรือแม้แต่ในฝั่งของ EA ซึ่งราคาหุ้นปรับลงมามากแล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ เรื่องการขายไฟฟ้าของ EA แทบจะไม่มีผลกระทบ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการผลิตพลังงานจากแสงแดดและลม เป็นหลัก ในขณะที่ธุรกิจปัจจุบันของ EA ก็เน้นไปทางด้านของ EV Eco-Systems ซึ่งธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเป็นเพียงแค่หนึ่งในธุรกิจของ EA เท่านั้น   

อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่าหุ้นพลังงานตัวอื่นที่เจ๊เมาธ์ไม่พูดถึง จะต้องได้รับผลกระทบจากนโยบายลดค่าครองชีพ เนื่องจากเจ๊เมาธ์มีความเชื่อว่า รัฐบาลยังคงต้องจัดสมดุลในการลดค่าครองชีพ เพื่อไม่ส่งผลกระทบกับเอกชนมากเกินไป ดังนั้น เรื่องที่ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานปรับลงมา จึงน่าจะเป็นแค่เพียงกระแสในระยะสั้นเท่านั้นเอง อย่าไปคิดมากเกินไปเลยค่ะ 

*** บริษัท พี.เอส.พี. สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PSP ปิดการซื้อขายวันแรกในวันที่ 30 ส.ค.66 ที่ราคา 10 บาท เพิ่มขึ้น 3.80 หรือ 61.29% จากราคาจองซื้อ 6.20 บาท ก่อนที่ในวันต่อมาราคาหุ้นจะถูกดันขึ้นไปถึง 13 บาท ทั้งที่จำนวนหุ้นไอพีโอของ PSP มีจำนวนที่มากถึง 350 ล้านหุ้น 

กลายเป็นการปลุกกระแสหุ้นไอพีโอให้กลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ซบเซามานาน แน่นอนว่าอย่างหนึ่งเป็นเพราะด้วยจังหวะในการเข้าตลาดที่ดี เนื่องจากเป็นจังหวะที่กระแสทางการเมืองเริ่มนิ่ง ภายหลังการได้ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ 

อย่างที่สอง ก็น่าจะมาจากการที่ไม่มีใคร...หรือหน่วยงานใดเข้ามาวุ่นวาย โดยการทำเป็นไม่รู้เรื่องมาเตือนว่า มีการซื้อขายหุ้นแบบกระจุกตัวอย่างนั้นอย่างนี้จนทำให้เสียทรง ทั้งที่ในความเป็นจริงหุ้นไอพีโอที่ผ่านการกระจายหุ้นจากโบรกเกอร์เพียงไม่กี่รายจะต้องกระจุกตัวอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากจะคอนเฟิร์มตลาดไอพีโอจะกลับมาดีได้หรือไม่ ก็คงจะต้องรอดูว่า หุ้นน้องใหม่ที่จะเข้าตลาดในสัปดาห์หน้าอีก 2 รายอย่าง บมจ. เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ หรือ GFC และ บมจ.ไทย โคโคนัท หรือ COCOCO ว่าจะสามารถผ่านด่านนี้ได้หรือเปล่า ถ้าผ่านไปได้ก็คงจะมีอีกหลายบริษัทกล้าที่จะเสนอตัวยื่นคำขอ เพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยอย่างแน่นอน  

แต่ถ้าไม่ได้...ก็คงต้องปล่อยให้ตลาดหุ้นไทยวนเวียนอยู่กับบริษัทหน้าเดิมๆ ที่อยู่ในตลาดอยู่แล้ว ตลาดหลักทรัพย์ไทยไม่ต้องขยายตัว ไม่ต้องเพิ่มมาร์เก็ตแคป ไม่ต้องมีอะไรใหม่ เล่นกันวนไปวนมาอยู่แค่นี้ก็ดีเหมือนกัน เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้เจ้าค่ะ

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,921 วันที่ 10 - 13 กันยายน พ.ศ. 2566