Economics of Coupon: การเสก e-money สู่การสร้างการผลิตใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

06 ก.ย. 2566 | 18:00 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2566 | 08:50 น.
1.5 k

Economics of Coupon: การเสก e-money สู่การสร้างการผลิตใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์นอกขนบ โดย สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ มูลนิธิ สวค.

วันที่ 1 ก.พ.2567 รัฐบาลใหม่ของประเทศไทยจะดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ด้วยการแจกคูปองดิจิทัลให้กับประชาชนที่อายุ 16 ขึ้นไป เป็นจำนวนประมาณ 56 ล้านคน วงเงิน 560,000 ล้านบาท ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล เดินหน้าสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจและสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวมีการถกเถียงกันทางวิชาการและสื่อต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งเรื่องแหล่งที่มาของคูปองดิจิทัล (Sources of fund) และการใช้งาน เงื่อนไขการใช้ (Uses of fund) รวมทั้งผลกระทบต่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจ GDP เงินเฟ้อ เสถียรภาพการคลัง และหนี้สาธารณะ เป็นจำนวนมาก

ในบทความนี้ผมอยากจะนำเสนอข้อมูลทางวิชาการในบางมุมของเศรษฐศาสตร์แห่งคูปอง (Economics of Coupon) ที่เคยเกิดขึ้น รวมทั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น อธิบายกลไกการเคลื่อนที่ของเงิน การจูงใจ การเชื่อมโยงและเหนี่ยวนำกันภายในห่วงโซ่อุปทาน การกระจายผลประโยชน์ไปยังปัจจัยการผลิตทั้งแรงาน เจ้าของทุน และรัฐบาล[1]

 

จากบทความของ Jianwei Xing เรื่อง “Quick response” economic stimulus: The effect of small-value digital coupons on spending[2] ได้ข้อสรุปที่สำคัญ 3 ประการ 1) เมื่อคนได้รับคูปองเหล่านี้ พวกเขาจะใช้เงินมากขึ้น สำหรับทุก ¥1 ที่รัฐบาลให้เป็นคูปอง คนเหล่านี้ใช้เงินเพิ่มเติมถึง ¥3 ในสัปดาห์นั้น 2) คนเหล่านี้ใช้คูปองเพื่อซื้อสิ่งของที่พวกเขาอาจรอซื้อในอนาคต 3) ด้วยคูปองเหล่านี้ คนมักจะเลือกซื้อสิ่งของที่มีราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจที่ขายสินค้าแพง

 

“คูปองจึงเป็นเสมือนเบ็ดที่ใช้ปลาซิวเป็นเหยื่อ โดยหวังว่าปลากะพงจะมาติดเบ็ดในอนาคต”

และบทความเรื่อง A Brief History Of The Coupon - And Its Future[3] โดย Tasso Argyros is founder and CEO of ActionIQ อธิบายบทบาทของคูปองในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำไว้ว่า ช่วงทศวรรษที่ 1930 จุดต่ำสุดของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ คูปองได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากผู้คนมองหาวิธีประหยัดเงินในทุกวิถีทางที่ทำได้ ในช่วงทศวรรษที่ 1940 กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตเริ่มเสนอคูปองสำหรับผู้ซื้อเพื่อล่อให้พวกเขาออกจากร้านขายของชำในท้องถิ่น โดยเสนอส่วนลดสูงมาก แต่โดยสันนิษฐานว่าเงินที่สูญเสียไปจะได้คืนมาจากจำนวนลูกค้าที่ได้มาเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

“ครั้งสุดท้ายที่คุณใช้คูปองซื้อของในซุปเปอร์มาเก็ตคือเมื่อไร คำตอบคือ สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา”

 

กลไกการส่งผ่านคูปองดิจิทัล (Transmission Process) จากการเสก e-money ให้กลายเป็นการผลิตใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น

เมื่อรัฐโอนคูปองดิจิทัลใส่ Digital wallet ของประชาชน 10,000 บาท และประชาชนนำคูปองดิจิทัล 10,000 บาทไปใช้จ่ายในร้านอาหาร

 

Q1/2567

• เหตุการณ์ที่ร้านอาหาร

ร้านอาหารรับคูปองดิจิทัล 10,000 บาท เข้าบัญชี Digital Wallet ของร้าน ทำให้คูปองดิจิทัล 10,000 บาทได้กลายเป็นเงินบาทดิจิทัล 10,000 บาท เมื่อเป็นดิจิทัลแล้วไม่มีวันหมดอายุ ร้านอาหารสามารถเก็บหรือเอาไปใช้จ่ายต่อบนสินค้าและบริการที่อาจจะนอกเหนือพื้นที่ 50 ตารางกิโลเมตรได้ สมมติให้ร้านอาหารไปซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารจากห้าง M โดยจ่ายเงินดิจิทัลทั้ง 10,000 บาท

เมื่อห้าง M รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่มี VAT อยู่ 7% หรือ 700 บาท ทำให้ห้าง M รับเงินสุทธิ 9,300 บาท เมื่อ M ได้รับเงินก็เอาซื้อของจาก Supplier 3 ราย เป็นเงินรวม 8,000 บาท (เนื้อหมู 4,000 ผักกาด 2,300 และ ปลาแซลมอล 1,700 บาท) เป็นค่าพนักงาน ค่าขนส่ง ค่าบริหารจัดการ กำไรของ ห้าง M จำนวน 1,300 บาท เพื่อความเข้าใจง่ายในการวิเคราะห์กำหนดให้เงินค่าวัตถุดิบจาก supplier ไปหมุนในระบบเศรษฐกิจต่อไป ไม่รวมค่าสาธารณูปโภคทั้งค่าน้ำ ค่าไฟฯ

“สรุปรอบนี้เงินหายเข้ารัฐ 700 บาท และอีก 8,000 บาท ไปหมุนต่อ”

 

Q2/2567

• เหตุการณ์ที่ฟาร์มหมู

Supplier 1: ห้าง M ซื้อเนื้อหมูจากฟาร์มในจังหวัด A จ่ายไป 4,000 บาท

ฟาร์มหมูรับเงินบาทดิจิทัล/Fiat 4,000 บาท นำไปจ่ายค่าอาหารหมู 2,000 บาท จ่ายค่าแรงตัวเองและลูกน้อง 1,500 บาท จ่ายหนี้ธนาคาร 500 บาท

• เหตุการณ์ที่ตลาดสด

Supplier 2: ห้าง M ซื้อ ผักกาดจากแม่ค้าในตลาดไท 2,300 บาท

แม่ค้ารับเงินดิจิทัล/Fiat 2,300 จ่ายค่าเช่าแผง 50 บาท จ่ายค่าผัก 1,250 จ่ายค่าแรงตัวเอง/กำไร 900 บาท และออม 100 บาท

• เหตุการณ์ที่ท่าเรือ คือ ปลาแซลมอลนำเข้า 1,700 บาท

Supplier 3: ผู้นำเข้ารับเงิน Fiat แล้วเอาไปจ่ายค่าแซลมอลจากต่างประเทศ 1,700 บาท

สรุป : รอบนี้เงินรั่วออกจากระบบไป 2,300 บาท (จ่ายหนี้ธนาคาร 500 บาท ออม 100 บาท นำเข้า 1,700) เหลืออีก 5,700 บาทไปหมุนต่อ

 

Q3/2567 เป็นต้นไป

ผู้มีรายได้จากการรับเงินทั้งเงินดิจิทัลและFiat ทั้งแรง ค่าเช่า กำไร จาก Supplier ทั้ง 3 รายนำเงินไปใช้จ่ายต่อไป เป็น VAT 7% เป็นสินค้านำเข้า 20% เป็นเงินออม 10% ชำระหนี้ธนาคาร 3% เสียภาษีเงินได้ 5% รวมเป็นเงินที่รั่วออกจากระบบเศรษฐกิจในรอบนี้ 45% และกำหนดให้มูลค่าเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 30% ของการใช้จ่ายในแต่ละครั้ง ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในไตรมาสต่อๆไป สรุปดังนี้

 

Economics of Coupon: การเสก e-money สู่การสร้างการผลิตใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

 

ในระยะเวลา 4 ปี 2567-2571 จากเงิน 10,000 บาท ที่จับจ่ายใช้สอยในสาขาร้านอาหาร[4]  ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 32,855.27 ล้านบาทหรือ 3.28 เท่า โดยที่ได้รัฐได้เงินกลับคืนมาเป็นมูลค่า 3,117.13 ล้านบาท สร้าง GDP รวมเป็นมูลค่า 9,856.58 ล้านบาท

ทั้งนี้หากการใช้จ่ายคูปองดิจิทัล 10,000 บาทต่อคนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป เกิดขึ้นในสาขาการผลิตอื่นๆ ที่มีห่วงโซ่อุปทานที่แตกต่างกันออกไป มีการเชื่อมโยงไปข้างหน้าและข้างหลัง (Forward and Backward linkage) อาจจะเป็น Final goods สินค้าขั้นสุดท้ายสำหรับการบริโภค และ/หรือ intermediate goods สินค้าขั้นกลางสำหรับผลิตย่อมให้ผลในเชิงปริมาณที่แตกต่างกัน ตามโครงสร้างของเศรษฐกิจในแต่ละพื้น พฤติกรรมของผู้บริโภคและผู้ผลิต

รวมทั้งการออกแบบระบบของคูปองดิจิทัลว่า สามารถที่จะเปิดให้ใช้แลกสินค้าและบริการอะไรได้บ้าง ย่อมส่งผลต่อมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจหรือ GDP แตกต่างกันออกไปจากสาขาที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น หากการใช้จ่ายคูปองดิจิทัลเกิดขึ้นในสาขาต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน

โดยเฉพาะการเกิดการสะสมทุนในระบบเศรษฐกิจพร้อมๆกับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การพัฒนาทักษะของแรงงาน การพัฒนาความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี พร้อมๆ กับการหมุนของเงินจำนวน 560,000 จะสามารถจูงให้ให้มีการใช้จ่ายอื่นหมุนในระบบเศรษฐกิจกว่า 3 เท่า ทำให้รายได้รัฐกลับคืน เพียงพอและคุ้มค่าต่อต้นทุนทางการเงินและทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เป็นกวาดต้อนธุรกิจเทาและดำแปรสภาพให้กลายเป็นธุรกิจที่โปร่งใส รัฐจึงควรคว้าโอกาสนี้เร่งรีบดำเนินการโดยออกแบบกลุ่มสินค้าและบริการที่สามารถจูงใจให้ภาคเอกชนมามีส่วนร่วมในการสร้างอำนาจซื้อให้กับผู้ครอบครองเงินบาทดิจิทัลต่อไป

 

[1] เพื่อความง่ายจะขอยกเว้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางรายการที่ยากต่อความเข้าใจ เช่น บทบาทของค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอเน็ต ฯ รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น
[2]
http://www.nber.org/papers/w27596
[3] https://www.retailtouchpoints.com/blog/a-brief-history-of-the-coupon-and-its-future
[4] กำหนดให้สาขาร้านอาหารมูลค่าเพิ่มเท่ากับ 30% ของการใช้จ่ายในสาขานั้น ประกอบด้วย ผลตอบแทนปัจจัยแรงงาน ผลตอบแทนปัจจัยทุน และภาษีของภาครัฐ