บทบาทของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย

24 ก.ค. 2566 | 06:30 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ค. 2566 | 19:22 น.
580

บทบาทของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

อาทิตย์นี้ผมตั้งใจไว้ว่า จะนำเรื่องราวของเมืองใหม่ของกรุงย่างกุ้ง มาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง แต่บังเอิญมีงานอื่นที่เร่งด่วนเข้ามา คือ “งานเสวนาแนวคิดทฤษฎีของดร.ซุนยัตเซน” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 20 สิงหาคม ที่จะถึงในอีกสาม-สี่อาทิตย์หน้านี้ ณ โรงแรม Royal Orchid Sheraton Hotel ที่ซอยเจริญกรุง 30 สีลม กทม. ตั้งแต่เวลา 13:00 - 18:00 น. ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะมีความพยายามแสดงบทบาทหน้าที่ของพวกเราชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย ในการเป็นส่วนหนึ่งของการประสานความสามัคคี ให้แก่ชาวจีนทั้งโลก แต่ด้วยเรื่องราวที่ผมอยากนำมาเล่า ค่อนข้างจะยาวสัก 3 - 4 ตอน จึงขออนุญาตนำเรื่องนี้มาเล่าก่อน สัญญาว่าเรื่องเมืองใหม่ของกรุงย่างกุ้ง จะนำมาเขียนให้อ่านในตอนต่อๆ ไปครับ

ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของประเทศจีนที่ผ่านมา เอาแค่ใกล้ๆ ก็เพียงพอ ต้องบอกว่าต้องเริ่มต้นเมื่อยุคของการล้มล้างระบบพระมหากษัตริย์ไปแล้ว หลังจากที่กษัตริย์องค์สุดท้าย คือ “กษัตริย์พระองค์น้อย ปูยี” ได้ถูกล้มล้างไป ทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจกันภายในประเทศจีนกัน ระหว่างกลุ่มทหารที่มือถือปืนทั้งหลาย ต่างก็หันมาปกครองตนเองกันตามเขตหัวเมืองของภาคต่างๆ ในประเทศจีน เนื่องจากประเทศจีนมีพื้นที่ค่อนข้างจะกว้างใหญ่มาก

ในขณะที่ยุคนั้นการคมนาคมภายในประเทศก็ไม่ค่อยสะดวก อีกทั้งยังมีพวกฝรั่งมังค่า ที่เห็นถึงทรัพยากรธรรมชาติของจีนในยุคนั้น มีมากมายมหาศาล จึงต่างอ้างเหตุผลต่างๆ นานา ด้วยทั้งในยุคนั้นเป็นยุคล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยม จึงทำให้เกิดกลียุคในประเทศจีนอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จึงมีกลุ่มทหารหนุ่มและกลุ่มปัญญาชนที่ห่วงใยประเทศของตนเอง ออกมาให้การปกป้องประเทศของตนเองด้วยการต่อต้านกลุ่มทหารตามหัวเมือง ที่เรียกว่า 大軍伐 (เผด็จการทหารใหญ่) ซึ่งมีท่านนายพล เหยียน ซือ ข่าย (袁世凱) ในขณะนั้นเป็นผู้ที่มีอิทธิพลสูงสุดในประเทศจีน และพยายามที่จะสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ของประเทศจีน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จในเวลาต่อมา 

ในขณะเดียวกันที่สถานการณ์โลกในยุคนั้น ก็ประจวบเหมาะที่เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี ประเทศจีนจึงไม่สามารถต้านทานกระแสของการเปลี่ยนแปลงได้ อีกทั้งนอกจากประเทศต่างๆ จากภาคตะวันตกที่รุกรานเข้ามา เพื่อล่าอาณานิคม ที่มองเห็นขุมทรัพย์อันยิ่งใหญ่ในประเทศที่เก่าแก่ แต่อ่อนแอด้วยสถานการณ์ภายในประเทศ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ผีซ้ำด้ำพลอย รวมทั้งเกิดการบุกรุกจากทางด้านตะวันออก จากฝากฝั่งประเทศญี่ปุ่น จนทำให้เกิดสงครามการต่อต้านการรุกราน 8 ปี ที่เป็นประวัติศาสตร์ความเจ็บช้ำของชาวจีนในรุ่นต่อๆ มานั่นเองครับภาพยนตร์

ที่ไหนมีวิกฤตการณ์ ที่นั่นย่อมเป็นบ่อเกิดแห่งวีรบุรุษเสมอ ฉันใดก็ฉันนั้น ยุคนั้นจึงเกิดมีคนหนุ่มไฟรักชาติเกิดขึ้นมา บนสถานการณ์ความวุ่นวายดังกล่าว วีรบุรุษในประเทศจีนมีอยู่หลายท่าน ได้ถูกคนยุคหลังๆ นำมาสร้างเป็นตัวละครหรือภาพยนตร์อย่างมากมาย หลายๆท่านอาจจะเคยได้ยินได้ชมในภาพยนตร์มาบ้างแล้วก็ได้ เช่น วีรบุรุษนักสู้ หวง เฟย หง (ขออนุญาตเอ่ยชื่อท่านก่อนท่านอื่นๆ เพราะท่านมีนามสกุลหรือแซ่หวง เช่นเดียวกับผมครับ) และในฝากฝั่งของพรรคก๊ก หมิน ตั๋ง ก็มีดร.ซุน ยัตเซ็น หรือซุน จงซาน ท่านเจียงไคเชก ฯลฯ ในฝากฝั่งของพรรคคอมมิวนิสต์ก็มี ท่านประธาน เหมา เจ๋อตง ท่านโจว เอินไหล ท่าน เติ้ง เสี่ยวผิง ฯลฯ 

วันนี้ผมขอพูดถึงเพียงหนึ่งท่านก่อน คือดร.ซุน ยัตเซ็น เพราะว่าท่านได้รับการขนานนามว่า เป็น บิดาแห่งชาติของประเทศจีน (國父) ดร.ซุน ยัตเซ็น เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1866 โดยบทบาทของท่าน ท่านเป็นนักประชาธิปไตยและนักปฏิวัติ อีกทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกการปฏิวัติประชาธิปไตย(ลัทธิไตรประชา)ในประเทศจีน ด้วยความเป็นผู้ริเริ่มจีนชาตินิยมคนสำคัญ

ท่านดร.ซุน ยัตเซ็น ได้เริ่มต้นเข้ามามีบทบาทสำคัญในจุดประกายในการโค่นล้มราชวงศ์ชิง ที่ปกครองแผ่นดินจีนเป็นราชวงศ์สุดท้าย ซึ่งเป็นราชวงค์ที่อ่อนแอมาก เพราะพระองค์ทรงเยาว์วัยมาก จึงจำต้องพึ่งพิงพระนางซูสีไทเฮา เข้ามาสำเร็จราชการแทนพระองค์ และเกือบนำประเทศไปสู่ความหายนะ ท่านดร.ซุน ยัตเซ็น เป็นผู้ที่ได้ปลุกกระแสให้ชาวจีนหันมาตระหนักถึงความล้มเหลวของราชวงศ์ชิง กระทั่งกลายเป็นกระแสต่อต้านราชวงศ์นำไปสู่การปฏิวัติซินไฮ่  จนกระทั่งโค่นล้มประสบผลสำเร็จ และเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจีนเป็นระบบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ และดร.ซุน ยัตเซ็น ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาลคนแรกของประเทศ โดยสถาปนาประเทศเป็นสาธารณรัฐจีนขึ้นมาใน ค.ศ.1912 ภายหลังได้ร่วมกันก่อตั้งพรรคก๊ก หมินตั๋ง ขึ้น ซึ่งดร.ซุน ยัตเซ็น ก็ได้เป็นหัวหน้าพรรคคนแรกด้วยเช่นกัน

นิยายปรัมปราของชาติจีน ได้เริ่มเกิดขึ้นท่ามกลางของความสับสนวุ่นวาย ซึ่งประเทศไทยเราเอง ก็ควรจะได้นำมาเป็นบทเรียนได้ แม้ท่านดร.ซุน ยัตเซ็น จะได้จากโลกนี้ไป ในวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ.1925 จะเหลือไว้แต่สิ่งที่ดีงาม ให้คนรุ่นหลังจดจำอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางออกไปยังประเทศต่างๆ ที่มีชาวจีนอพยพหรือที่เราเรียกว่า ชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งในยุคนั้น ท่านได้พยายามออกไปเพื่อเรียกร้องให้เกิดความรักชาติขึ้น ในหมู่ของชาวจีนโพ้นทะเล

โดยท่านได้ตั้งสโลแกนว่า “ชาวจีนโพ้นทะเล เป็นมารดาแห่งการปฎิวัติรัฐประหาร” 華僑為革命之母 ซึ่งเส้นทางของการเดินสายครั้งนั้น ประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งจุดมุ่งหมายปลายทางของท่าน และสมาคมจงหัวแห่งประเทศไทย ก็ได้ก่อกำเนิดขึ้น ณ ซอยสะพานคู่ ถนนพระรามสี่ อยู่ติดกับซอยงามดูพลี อยู่เยื้องๆ กับสนามมวยลุมพินีเก่านั่นแหละครับ ซึ่งสมาคมแห่งนี้ ท่านดร.ซุน ยัตเซ็น ได้เดินทางมาร่วมก่อตั้งด้วยตัวท่านเอง และยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ครับ

อาทิตย์หน้า ผมจะขอนำเอาแนวคิดทฤษฎีทางด้านการปกครองในระบบประชาธิปไตย ในลักษณะ “ลัทธิไตรประชา”ของท่านดร.ซุน ยัตเซ็น มาเล่าให้พวกเราชาวไทยได้อ่านกันนะครับ เผื่ออาจจะมีส่วนให้พวกเราได้ร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญ ที่ควรค่าแก่การจดจำครับ