นโยบายพรรคเพื่อไทย เปลี่ยนไปแค่ไหน? เปรียบเทียบ 2566 และ 2554

24 ก.ค. 2566 | 08:50 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ค. 2566 | 08:54 น.
1.5 k

นโยบายพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนไปแค่ไหน? เปรียบเทียบ 2566 และ 2554 คอลัมน์เศรษฐศาสตร์ นอกขนบ โดย สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ มูลนิธิ สวค.

นโยบายพรรคเพื่อไทยครองใจประชาชนชาวไทยมาตั้งแต่สมัยเป็นพรรคไทยรักไทย แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้งใน 20 ปีที่ผ่านมา แต่ด้วยจุดขายของนโยบายที่ตอบโจทย์คนรากหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง ด้วยการสื่อสารที่ทันสมัยและการทำงานที่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว จากการพยายามปฏิรูประบบราชการที่มีความล้าหลัง ไม่ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างเร็วและการแข่งขันที่สูงขึ้น ตามความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี

ภายใต้สถานการณ์โลกที่เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจซับไพรม์ (2551) จนเกิดนโยบายการเงินผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) นำมาซึ่งการผันผวนของสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมัน ย่อมกระทบต่อความผันผวนทางรายได้และค่าครองชีพของคนไทย ทำให้พรรคการเมืองของไทยต่างทุ่มนโยบายและทรัพยากรทางการคลังลงไปกับการแก้ปัญหาเพื่อเอาใจฐานเสียงในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนั้นการเติบโตของนักท่องเที่ยวจีนยังมีส่วนทำให้เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจไทยยังพอหมุนไปได้ เศรษฐกิจจึงฟื้นตัวและขยายตัวได้ค่อนข้างดี แม้ว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ก็ตาม พลวัตทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้เกิดการย้ายสาขาการทำงานจากภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ไปสู่ภาคบริการมากขึ้น นโยบายการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ และเงินเดือนข้าราชการ จึงเกิดขึ้นตามคำประกาศหาเสียงพรรคเพื่อไทย ด้วยความสามารถในการบริหารทำได้จริงและรับผิดชอบเชิงนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน แม้กระทั่งนโยบายโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ Thailand 2020 ที่วางกรอบคมนาคมด้วย พ.ร.ก.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท

แต่นโยบายดังกล่าว รวมทั้งอีกหลายนโยบายไม่สามารถขับเคลื่อนได้ จากการรัฐประหารของ คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นอันสิ้นสุดรัฐบาลเพื่อไทยที่ชนะเลือกตั้งและสามารถทำตามนโยบายได้เพียงบางส่วนในขณะนั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรูปภาพประกอบ จะเป็นว่า นโยบายโดยส่วนมากของรัฐบาลเพื่อไทยในขณะนั้นยังไม่ได้นำไปปฏิบัติ

แต่หากมองในแง่ของกรอบความคิดนโยบายที่เอาคนกลุ่มต่างๆ เป็นตัวตั้ง แล้วคิดนโยบายที่สอดรับกันกับกลุ่มทุกกลุ่มทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อาทิ หากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จึงต้องมีนโยบายจำนำ เพื่อดูแลกลุ่มเกษตรกร ในขณะที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ข้าราชการก็เช่นกัน

นโยบายที่สร้างโอกาสและลดภาระก็ถูกจัดลง “ปิระมิดนโยบาย” ส่งต่อกันเป็นทอดทอด เพื่อไปสู่เป้าหมาย ให้เศรษฐกิจยังเติบโตได้หลังจากวิกฤตซับไพรม์ (2551) โครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลก่อนหน้า (2553) โดยมีเป้าหมายคือ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้เศรษฐกิจไทย และ การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์สุดท้ายคือ เศรษฐกิจมหภาคเติบโตดีและยั่งยืน ราคามีเสถียรภาพ การกระจายรายได้แก่ ฐานคนรากหญ้าและฐานคนชั้นกลางเป็นธรรม ภายใต้สถานการณ์การเมืองและสังคมในขณะนั้น 
  

 


รัฐบาล คสช. และมาตรา 44 ของพวกเขาได้พยายามสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่พิเศษต่างๆ เท่าที่ทำได้ ทั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) 10 แห่ง ซึ่งล้มเหลวเมื่อเทียบกับงบประมาณและระยะเวลาที่ใส่ลงไป ต่อมาจึงเกิดเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภายใต้รัฐบาลพรรคร่วมเลือกตั้งที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ โดยหวังต่อยอดความสำเร็จเดิมในพื้นที่ท่าเรีอและนิคมอุตสาหกรรม

ในระยะเวลา 8 ปี ของผู้นำรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำงบประมาณขาดดุลอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้าง New s-curve ตามเจตนารมณ์ของ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่สถานการณ์ภายในและภายนอกไม่เป็นใจ เมื่อสงครามการค้าจีน-อเมริกาและการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้การกู้เงินฉุกเฉินอีก 1.5 ล้านล้านบาท ตาม พ.ร.ก. เงินกู้ 2 ฉบับ พอกพูนหนี้สาธารณะให้สูงขึ้นทะลุ 10.7 ล้านล้านบาท จนต้องขยายเพด้านหนี้สาธาณะจากร้อยละ 60 เป็น 70 ของ GDP แต่เศรษฐกิจกลับเติบโตต่ำเฉลี่ยเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น ขณะที่หนี้ครัวเรือนทะลุร้อยละ 90 ของ GDP เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมสูง ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมรุมเร้าคนชั้นกลางและรากหญ้าอย่างรุนแรง

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พรรคเพื่อไทยได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นผู้ได้รับจำนวน สส. สูงสุดและเป็นการแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้นำเสนอนโยบายเศรษฐกิจที่แตกต่างไปจากปี 2554 เพื่อให้การเปรียบเทียบชัดเจนยิ่งขึ้นผมขอนำเสนอในรูปแบบเดียวกันคือ ปิระมิดนโยบาย จากรูปจะเห็นว่า “การกระตุ้น” กับ “Soft Power เศรษฐกิจและการจ้างงานมูลค่าเพิ่มสูง” เป็นคำสำคัญของการสื่อสารนโยบาย เนื่องจากการตกต่ำของเศรษฐกิจในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

อีกทั้งความจำเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างทั้ง รถไฟ รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ สนามบิน และมีเจ้าภาพในการได้สัมปทานไปแล้ว ยกเว้น การแก้ปัญหาเรื่องที่ดินและแหล่งน้ำ เพื่อบรรลุเป้าหมาย กระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคให้เติบโตที่ระดับศักยภาพใหม่ พร้อมกับการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สร้างงานอนาคตที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

พรรคเพื่อไทยยังให้ความสำคัญกับการจ้างงาน รายได้ขั้นต่ำของครัวเรือน ปรับค่าจ้างขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการ เหมือนปี 2554 เพิ่มผลิตภาพภาคเกษตร นำเทคโนโลยีมาใช้ในทุกส่วนอยู่ในเกือบทุกนโยบายของพรรคเพื่อไทย ทั้งการศึกษาและสาธารณสุข

แม้ว่าปี 2566 บริบทโลกไม่เอื้ออำนวยเหมือนปี 2554 และข้อจำกัดเต็มไปหมดทั้ง ด้านงบประมาณ การคลัง หนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน อัตราดอกเบี้ย และ NPL ที่ปรับตัวสูงขึ้น (รายละเอียดข้อมูลพื้นฐานเศรษฐกิจตามตาราง) อีกทั้งนโยบายพรรคเพื่อไทยปี 2566 ความยุ่งยากจะเกิดมากขึ้น จากการเป็นรัฐบาลผสม และกลไกราชการที่จัดว่าเป็นมรดกบาปที่สร้างไว้เพื่อรักษาอำนาจตาม รธน. 2560 จะทำให้เครื่องมือและนโยบายต่างๆ ที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ง่ายนัก

เพื่อให้ผลการวิเคราะห์นโยบายพรรคเพื่อไทยแสดงในรูปเชิงปริมาณที่เป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจตามปิระมิดนโยบายได้ทุกข้อ กรณีดีที่สุด (best case) เป็นดังตารางพื้นฐานเศรษฐกิจสำหรับพรรคเพื่อไทยและเป้าหมายเชิงปริมาณในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอีก 4 ปีข้างหน้า ดังนี้


อย่างไรก็ตามผลการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เจตจำนงของประชาชนชัดเจนว่าไม่ต้องการรัฐบาลเก่าที่บริหารมา 8 ปี แต่พรรคก้าวไกลกลับเป็นฝ่ายได้จำนวน สส. สูงกว่าพรรคเพื่อไทย ด้วยนโยบายที่ตรงไปตรงมาที่ประกาศท้าชนปัญหาโครงสร้างทุนในระบบเศรษฐกิจและรัฐสวัสดิการ แต่การจัดตั้งรัฐบาลที่พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำกำลังมีปัญหาจากเงื่อนไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ให้ สว.มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับโอกาสเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกล

ดังนั้นบทความนี้จำลองภาพของนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยที่แตกต่างๆไปจากปี 2554 และนโยบายทั้งหมดในปี 2566 จะยังคงให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่มในสังคม เพิ่มผลิตภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยธุรกิจมูลค่าเพิ่มสูง และกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการ jump start เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ ด้วยกระเป๋าเงินดิจิทัล ผ่านแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Model)

ซึ่งพบว่าประเทศไทยใช้เวลา 11 ปี (2554-2566) ในการสร้าง GDP ให้ใหญ่ขึ้น 7 ล้านล้านบาท แต่ด้วยนโยบายของพรรคเพื่อไทยกรณีดีที่สุด (best case) อาจจะใช้เวลาแค่ครึ่งเดียวสร้าง GDP ขนาดเท่ากันในอนาคต โดยที่เสถียรภาพทางการเงินและการคลังไม่มีปัญหา อันเป็นผลสำเร็จจากการเติบโตยั่งยืนด้วยผลิตภาพ (Total Factor Productivity: TFP) ที่มาจากการใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้น แรงงานทักษะสูงขึ้น ในอุตสาหกรรมและบริการมูลค่าเพิ่มสูง และการที่เศรษฐกิจถูกกระตุ้นโดยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ