ดัชนีทุนมนุษย์

07 มิ.ย. 2566 | 12:11 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2566 | 12:11 น.
766

‘ดัชนีทุนมนุษย์’ : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.สมทิพ วัฒนพงษ์วานิช คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,894 หน้า 5 วันที่ 8 - 10 มิถุนายน 2566

ดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index หรือ HCI) เป็นดัชนีที่ใช้วัดจำนวนทุนมนุษย์ของประชากรในอนาคต กล่าวคือ เป็นดัชนีที่ใช้ประเมินว่าสำหรับเด็กที่เกิดในปัจจุบันนั้น เมื่อมีอายุครบ 18 ปี และพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน เด็กกลุ่มนี้จะมีทุนมนุษย์หรือมีผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) เท่าไร บนเงื่อนไขด้านการศึกษาและการสาธารณสุขของแต่ละประเทศในปัจจุบัน 

ดัชนีทุนมนุษย์ถูกพัฒนาขึ้นโดยธนาคารโลก (World Bank) ภายใต้โครงการ Human Capital Project ที่มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุน วัดผล และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสร้างความตื่นตัวและตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการสร้างทุนมนุษย์ เนื่องจากธนาคารโลกเล็งเห็นว่า การวัดผลลัพธ์ของการพัฒนาทุนมนุษย์ที่น่าเชื่อถือจะช่วยยกระดับความสำคัญของทุนมนุษย์ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

ดัชนีทุนมนุษย์จะเป็นตัวกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ต้องการสร้างทุนมนุษย์เพิ่มขึ้น และมีส่วนช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อออกแบบนโยบายพัฒนาทุนมนุษย์ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ

ธนาคารโลกได้เผยแพร่ข้อมูลดัชนีทุนมนุษย์ครั้งแรกในเดือนตุลาคม ปี 2018 ซึ่งมีข้อมูลของ 157 ประเทศ และครั้งที่สองในเดือนกันยายน ปี 2020 ซึ่งมีข้อมูลของ 174 ประเทศ โดยข้อมูลดัชนีทุนมนุษย์ในปี 2020 นอกจากจะครอบคลุมจำนวนประเทศที่มากขึ้นแล้ว ยังมีการคำนวณดัชนีทุนมนุษย์แยกตามเพศและระดับเศรษฐฐานะ (ในประเทศที่ข้อมูลเอื้ออำนวย) เพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างของประชากรในแต่ละกลุ่ม ซึ่งธนาคารโลกได้วางแผนว่าจะปรับปรุงข้อมูลดัชนีทุนมนุษย์ ทุกสองปี อย่างไรก็ดี ธนาคารโลกยังไม่ได้รายงานข้อมูลดัชนีทุนมนุษย์ภายหลังจากปี 2020 แต่อย่างใด

วิธีการคำนวณดัชนีทุนมนุษย์

ดัชนีทุนมนุษย์จะคำนวณโดยการพิจารณาจาก 3 องค์ประกอบ ได้แก่ การอยู่รอด การศึกษา และสุขภาพ 

 

 

ดัชนีทุนมนุษย์

 

 

1) การอยู่รอด (Survival) พิจารณาจากการมีชีวิตรอดตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยเข้าเรียนที่นับว่าเป็นวัยที่เริ่มสะสมทุนมนุษย์ได้ โดยวัดจากอัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุตํ่ากว่า 5 ปี 

2) การศึกษา (School) พิจารณาจากสองตัวชี้วัดด้านปริมาณและคุณภาพการศึกษา ในด้านปริมาณ จะวัดจากจำนวนปีที่เด็กได้รับการศึกษาจนถึงอายุ 18 ปี ซึ่งระยะเวลาสูงสุดที่เป็นไปได้คือ 14 ปี (นับว่าเด็กเริ่มเข้าโรงเรียนอนุบาลตั้งแต่อายุ 4 ปี และศึกษาในโรงเรียนจนจบการศึกษาชั้นมัธยมปลายที่อายุ 18 ปี)

ส่วนในด้านคุณภาพของการศึกษา จะวัดจากแบบทดสอบประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่ใช้ในระดับนานาชาติ 3 วิชาหลัก คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน (เช่น การสอบ PISA หรือ Programme for International Student Assessment) แล้วนำคะแนนมาแปลงค่าให้เป็นมาตรฐานสากล

จากนั้นจึงนำตัวชี้วัดด้านปริมาณและคุณภาพการศึกษามาคำนวณเป็นจำนวนปีที่ได้รับการศึกษาที่ปรับด้วยคุณภาพการศึกษาแล้ว (Expected Years of Learning- Adjusted School) เพื่อให้สามารถนำข้อมูลของประเทศที่มีระบบการศึกษาและคุณภาพการศึกษาต่างกันมาเปรียบเทียบกันได้

3) สุขภาพ (Health) พิจารณาจากสองตัวชี้วัดในวัยเด็กและผู้ใหญ่ โดยสุขภาพในวัยเด็กนั้นวัดจากอัตราการเกิดภาวะแคระแกร็นในเด็กอายุตํ่ากว่า 5 ปี ซึ่งเป็นตัวสะท้อนถึงสภาพแวดล้อมด้านสุขภาพตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์ การได้รับสารอาหาร และการเติบโตของเด็กในช่วง 5 ปีแรก ส่วนสุขภาพในวัยผู้ใหญ่นั้นวัดจากอัตราการรอดชีวิตของผู้ใหญ่ หรือสัดส่วนของเด็กอายุ 15 ปีที่จะมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 60 ปี ซึ่งเป็นตัวสะท้อนถึงผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ดัชนีทุนมนุษย์จะถูกคำนวณแยกกันในแต่ละองค์ประกอบ รวมทั้งหมด 5 ตัวชี้วัด จากนั้นจึงนำมาคำนวณร่วมกันเป็นดัชนีทุนมนุษย์ในภาพรวม ซึ่งจะมีค่าอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1

โดยในประเทศที่เด็กที่เกิดในปัจจุบันทุกคนมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่เกิดภาวะแคระแกร็น ได้รับการศึกษาที่ดีมีคุณภาพอย่างเต็มเวลา 14 ปี และมีชีวิตรอดถึงวัยผู้ใหญ่ทั้งหมด จะมีดัชนี้

ทุนมนุษย์ที่มีค่าเท่ากับ 1 หรือ มีผลิตภาพของแรงงานในอนาคตสูงสุด ดังนั้น ในกรณีที่ดัชนีทุนมนุษย์มีค่าน้อยกว่า 1 จะเป็นการบ่งชี้ว่าผลิตภาพของเด็กในปัจจุบัน ที่จะเป็นแรงงานในอนาคตนั้นตํ่ากว่าผลิตภาพสูงสุดที่เป็นไปได้ หากมีสุขภาพสมบูรณ์และได้รับการศึกษาเต็มศักยภาพ 

เช่น ดัชนีทุนมนุษย์ที่มีค่าเท่ากับ 0.50 จะหมายความว่า ผลิตภาพของแรงงานในอนาคตนั้นตํ่ากว่าผลิตภาพสูงสุดที่เป็นไปได้อยู่ 50% ซึ่งผลิตภาพของแรงงานเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กำหนดรายได้และการเติบโตของประเทศ ผ่านอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product หรือ GDP) ในระยะยาว

หากประเทศสามารถพัฒนาการศึกษาและระบบสาธารณสุขจนสามารถปิดช่องว่าง 50% นี้ และทำให้ดัชนีทุนมนุษย์มีค่าเพิ่มขึ้นจนเท่ากับ 1 ได้ แรงงานจะมีผลิตภาพสูงสุดและ GDP ของประเทศก็จะเพิ่มขึ้นถึงหนึ่งเท่าตัวเลยทีเดียว 

จะเห็นได้ว่าดัชนีทุนมนุษย์เป็นการวัดผลลัพธ์ (Outcome) ที่เกิดจากการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยไม่ได้วัดปัจจัยนำเข้า (Input) เช่น งบประมาณที่รัฐใช้จ่ายไปกับการศึกษาหรือสาธารสุข ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่สามารถสรุปได้ว่า การเพิ่มปัจจัยนำเข้าเหล่านี้จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นหรือไม่

อีกทั้ง ดัชนีทุนมนุษย์ยังเป็นการคาดการณ์ทุนมนุษย์ในอนาคต ที่เกิดจากนโยบายในปัจจุบัน ไม่ใช่เป็นการวัดทุนมนุษย์ในปัจจุบันที่สะท้อนถึงนโยบายในอดีต ที่ไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว และดัชนีทุนมนุษย์ยังมีความเป็นมาตรฐานสากล ทำให้สามารถเปรียบเทียบข้อมูลกับประเทศ อื่นๆ ได้โดยง่าย

ด้วยเหตุนี้ ดัชนีทุนมนุษย์จึงช่วยทำให้เห็นภาพรวมของการพัฒนาทุนมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น และช่วยสร้างแรงจูงใจให้ประเทศต่างๆ ลงทุนพัฒนามนุษย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผลลัพธ์ดีขึ้น มากกกว่าเป็นการลงทุนด้วยจำนวนเงินที่มากขึ้นเพียงอย่างเดียว 

ดัชนีทุนมนุษย์ของประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย ในปี 2018 ดัชนีทุนมนุษย์มีค่าเท่ากับ 0.60 ส่วนในปี 2020 ดัชนีทุนมนุษย์มีค่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 0.61 จากคะแนนเต็ม 1 คะแนน หรือกล่าวได้ว่าเด็กในที่เกิดในปี 2020 นั้น เมื่ออายุครบ 18 ปี ผลิตภาพของแรงงานกลุ่มนี้จะมีเพียง 61% ของศักยภาพที่ควรจะเป็นหากมีสุขภาพสมบูรณ์และได้รับการศึกษาเต็มศักยภาพ ซึ่งตัวเลขนี้ต่ำกว่าผลิตภาพสูงสุดที่เป็นไปได้อยู่ 39% 

ดัชนีทุนมนุษย์ที่ 0.61 ของไทยนั้นอยู่ในลำดับที่ 59 ร่วมกับอีก 7 ประเทศ จากทั้งหมด 174 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศที่มีดัชนีทุนมนุษย์สูงสุดและต่ำสุด คือ ประเทศสิงคโปร์ (0.88) และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง (0.29) ตามลำดับ

และหากพิจารณาเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ดัชนีทุนมนุษย์ของไทยจะอยู่ในลำดับที่ 4 ร่วมกับมาเลเซีย รองลงมาจากสิงคโปร์ เวียดนาม และบรูไน แต่สูงกว่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เมียนมา และ ลาว

เมื่อพิจารณาสถิติของประเทศไทยในแต่ละองค์ประกอบแล้ว จะพบว่า คะแนนในแต่ละองค์ประกอบของไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับเดียวกัน (รายได้ปานกลางระดับสูง)

โดยสถิติด้านสุขภาพ พบว่า เด็กไทยมีอัตราการเสียชีวิตก่อนอายุ 5 ปี เพียง 1% เท่านั้น อัตราการเกิดภาวะแคระแกร็นในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เท่ากับ 11% และ 87% ของเด็กอายุ 15 ปีจะมีชีวิตอยู่รอดจนถึงอายุ 60 ปี

สำหรับสถิติด้านการศึกษา พบว่าเด็กไทยได้รับการศึกษาในโรงเรียนเป็นระยะเวลาเฉลี่ย 12.7 ปี มีผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนที่วัดด้วยคะแนนสอบมาตรฐานเฉลี่ยที่ 427 คะแนน (คะแนนต่ำสุดและสูงสุดของโลกอยู่ในช่วง 300-625 คะแนน)

อย่างไรก็ดี เมื่อปรับจำนวนปีที่เด็กได้รับการศึกษาด้วยคุณภาพการศึกษาแล้ว พบว่าการศึกษาของเด็กไทยจะเปรียบเสมือนการเข้าศึกษาเพียง 8.7 ปีเท่านั้น หรือน้อยกว่าจำนวนปีที่ศึกษาจริงไปถึง 4 ปี สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านคุณภาพของการศึกษาในประเทศไทย

ดัชนีทุนมนุษย์ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การสะสมและการพัฒนาทุนมนุษย์เป็นไปอย่างยากลำบาก อันเนื่องมาจากการขาดแคลนทรัพยากรด้านสาธารณสุข อุปสรรคในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ รวมทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ทำให้คุณภาพชีวิตของเด็กเล็กที่เกิดในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แย่ลง

เด็กบางส่วนอาจได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ สุขภาพไม่แข็งแรง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อความสามารถทั้งทางร่างกายและสติปัญญาในระยะยาว

โดยธนาคารโลกได้ประมาณค่าดัชนีทุนมนุษย์ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และคาดการณ์ว่าในประเทศที่ประชากรมีรายได้น้อย ดัชนีทุนมนุษย์ของเด็กจะลดลง 1% เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีปกติที่ไม่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขึ้น

นอกจากนั้นแล้ว การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังก่อให้เกิดปัญหาด้านการศึกษาเช่นกัน เนื่องจากการเรียนการสอนที่โรงเรียนในรูปแบบปกติไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เด็กกว่า 1,600 ล้านคนทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบด้านวิธีการเรียนรู้และต้องปรับตัวสู่การเรียนรูปแบบใหม่ ทำให้เด็กบางส่วนที่ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้หรือมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรในรูปแบบอื่น ๆ ต้องเลิกเรียนกลางคันและออกจากระบบการศึกษา

โดยธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้จำนวนปีที่เด็กได้รับการศึกษาเมื่อปรับด้วยคุณภาพการศึกษาแล้วลดลงไปถึงครึ่งปี จากค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 7.8 ปี เหลือ 7.3 ปี ซึ่งเปรียบเสมือนการที่ดัชนีทุนมนุษย์ลดลงไปถึง 4.5% เช่นในกรณีของประเทศไทย จากดัชนีทุนมนุษย์ที่มีค่า 0.61 ในปี 2020 เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดัชนีทุนมนุษย์คาดว่าจะลดลงไป 4.5% จนมีค่าเหลือ 0.58 

ด้วยเหตุนี้ นโยบายการฟื้นฟูและเสริมสร้างทุนมนุษย์ที่สูญเสียไปในช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะในอีก 20 ปีข้างหน้า แรงงานประมาณ 46% ของแรงงานทั้งหมดทั่วโลกจะเป็นเด็กที่เกิดและเติบโตในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

หากผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นยังคงอยู่ในแรงงานรุ่นถัดไป ผลิตภาพแรงงานก็จะลดลง และลดโอกาสการเติบโตของประเทศต่อไปอีกหลายทศวรรษ

แต่หากประเทศใดสามารถฟื้นฟูทุนมนุษย์เพื่อชดเชยผลทางลบที่เกิดขึ้นได้มาก ความพร้อมของแรงงานและผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้นก็จะมีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ 

ดังนั้น การวางแผนและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพแรงงานด้วยระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ เน้นการสร้างองค์ความรู้ สนับสนุนนวัตกรรม พัฒนาทักษะในการทำงาน และมีระบบสาธารณสุขที่ดีที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องวางแผนในระยะยาว เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป

 

แหล่งข้อมูล

https://www.worldbank.org/en/publication/human-capital

https://datacatalog.worldbank.org/search/dataset/0038030/Human-Capital-Index