การเดินทางของเงินเฟ้อและรอยแผลเป็นที่ถูกทิ้งไว้

14 ก.พ. 2566 | 11:30 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2566 | 13:04 น.

หากถามนักเศรษฐศาสตร์ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศว่า “อะไรคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับเสถียรภาพและความมั่งคั่งของรัฐ จนกระทั่งนำไปสู่การล่มสลายทางเศรษฐกิจของประเทศได้” คำตอบที่ได้ “เงินเฟ้อ” จะเป็นหนึ่งในคำตอบที่ได้ยินบ่อยที่สุด คอลัมน์เศรษฐศาสตร์ นอกขนบ โดย สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ มูลนิธิ สวค.

อะไรคือความน่ากลัวของเงินเฟ้อ เงินเฟ้อทำให้ความมั่งคั่งที่สะสมมาทั้งชีวิตกลายเป็นเศษกระดาษ เพราะเงินเฟ้อทำให้ค่าเงินของประเทศเหล่านั้นอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง เรียกว่า Hyper inflation ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั่วโลกกับประเทศเกิดใหม่ทั่วโลก

ด้วยเหตุนี้ธนาคารกลางผู้กำกับนโยบายการเงินที่เกี่ยวข้องกับปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ย จึงกำหนดเงินเฟ้อให้เป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงิน (Inflation Targeting) โดยในหลายประเทศระมัดระวังอย่างสูงกับการใช้เครื่องมือทางเงินและการให้ข้อมูลทางเงิน เนื่องจากทั้งปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ย ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นอิสระมากนัก ภายใต้บริบทของโลกปัจจุบันที่มีทั้งการค้าและเงินเชื่อมโยงกันอย่างแยกออกจากกันไม่ได้

หมายความว่า การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศใหญ่ย่อมส่งผลต่อทิศทางของนโยบายการเงินของประเทศเล็กด้วย ด้วยอัตราดอกเบี้ย ผลตอบแทนพันธบัตร อัตราแลกเปลี่ยน ทุนสำรองระหว่างประเทศ และการเปิดรับความเสี่ยง (Risk Exposure) จากการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อมีความแตกต่างกัน การตอบสนองต่อเงินเฟ้อของแต่ละประเทศต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศย่อมไม่เท่ากันทั้งขนาดและทิศทาง
 

สาเหตุของเงินเฟ้อนั้นมีมาจากรายสาเหตุพอจะจำแนกออกเป็นประเด็นตามทฤษฎีได้เพียง 2 ประการ คือ Cost push inflation ที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตสำคัญ เช่น ราคาน้ำมัน ค่าจ้าง ค่าไฟฟ้า อัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น Demand pull inflation ที่ส่งผ่านจากปริมาณเงิน อำนาจซื้อ การผูกขาด การแข่งขัน เป็นต้น

ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของระดับรายได้ ย่อมส่งผลต่อมาตรฐานการครองชีพ (Standard of Living) ที่มากกว่าค่าครองชีพ (Cost of living) ของคนบางกลุ่มในประเทศจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ในบางประเทศเลือกที่จะควบคุมต้นทุนการผลิต เช่น ราคาน้ำมัน และค่าแรง ซึ่งต้องแลกมาด้วยต้นทุนทางการคลังที่สูงขึ้น ลดทอนสวัสดิการที่มีคุณภาพที่มีต่อประชาชน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เงินเฟ้อหรือการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เป็นอันตรายอย่างยิ่งโดยเฉพาะกลุ่มรายได้ต่ำของประเทศ

เงินเฟ้อต่ำหรือการควบคุมเงินเฟ้อในระยะยาวนั้นต้องทำอย่างไร กรณีศึกษานับตั้งแต่ประเทศจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO เมื่อปี 2001 การเปิดประเทศของจีนได้ทำให้ผลิตภาพ (Productivity) ของจีนและโลกโดยรวมเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง และนั่นเองทำให้ GDP ของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของโลกอยู่ในระดับต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายได้อย่างสบายทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

โดยเฉพาะญี่ปุ่น สภาพยุโรป ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ รวมทั้งในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงิน 2008 และวิกฤติโควิด-19 ในปี 2020 ยังสามารถพิมพ์เงินผ่านนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในขณะนั้น
 

จุดเปลี่ยนจากยุคเงินเฟ้อต่ำเข้าสู่ยุคเงินเฟ้อสูง (Inflation Era) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดของจีนที่ทำให้ผลิตภาพการผลิต (Productivity) ของจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งให้ขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าและบริการของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกินดุลการค้าต่อประเทศต่างๆ เป็นจำนวนมาก

ในสมัยประธานาธิบดี Donald Trump ของสหรัฐอเมริการจึงเริ่มทำสงครามการค้ากับจีน และนั่นเป็นจุดเปลี่ยนและนำไปสู่การชะงักงันของโลกาภิวัฒน์ (Globalization) และการแยกออกจากกันห่วงโซ่อุปทานระดับโลก (Global supply chain decoupling) และยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคต่างๆ

โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนทำให้ราคาน้ำมัน ราคาก๊าซธรรมชาติ ราคาธัญพืช ปรับตัวสูงขึ้น ซ้ำเติมเงินเฟ้อให้เร่งขึ้นอย่างรวดเร็ว บวกกับผลของการพิมพ์เงินออกมาของรัฐบาลประเทศต่างๆ ในช่วงโควิด-19 ล้วนแล้วนำไปสู่ยุคแห่งเงินเฟ้อสูง โดยแต่ละประเทศทำสถิติเงินเฟ้อสูงสุดในรอบกว่า 20 ปี มีเพียงประเทศจีนเท่านั้นที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ

การเดินทางของเงินเฟ้อและรอยแผลเป็นที่ถูกทิ้งไว้

แม้ว่าแนวโน้มเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงแล้วในปี 2023 ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ที่ต้องแลกมาด้วยการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจและการว่างงานจะเพิ่มขึ้นในอนาคตก็ตาม ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อที่ลดลง ไม่ได้หมายความว่า ระดับราคาสินค้าหรือค่าครองชีพจะลดลง เพียงแค่ระดับราคาสินค้านั้นเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงเท่านั้น

นั่นคือ หากรายได้ไม่เพิ่มหรือเพิ่มขึ้นน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลง อำนาจซื้อหรือรายได้ที่แท้จริงก็ยังคงลดลงนั่นเอง ทั้งนี้ผลพวงในระยะยาวต่อเศรษฐกิจและประชาชนที่เกิดจากเงินเฟ้อทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 20 ปี สร้างรอยแผลเป็นไว้เป็นดังนี้

1) อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ กระทบต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตและการบริโภค และสถาบันการเงิน ซึ่งกระบวนการส่งผลจากดอกเบี้ยไปถึงภาคเศรษฐกิจจริงนั้นอาจใช้เวลา 7-8 ไตรมาส

2) ภาระดอกเบี้ยในงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในแต่ละปีสูงขึ้น ตามต้นทุนเงินกู้ และหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น ทำให้สัดส่วนของงบประมาณชำระดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้นตาม ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการจัดทำงบประมาณและประสิทธิภาพของนโยบายการคลังของประเทศลดลง ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง

3) ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราการทำกำไรของผู้ประกอบการลดลง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่ไม่สามารถปรับราคาสินค้าและบริการได้มากนัก

4) ค่าจ้างจะปรับตัวสูงขึ้น เพื่อรักษาระดับรายได้ที่แท้จริงของลูกจ้างในตลาดแรงงาน ซึ่งจะกดดันทำให้เกิดการหมุนวนของภาวะเงินเฟ้อและค่าจ้างหรือที่เรียกว่า “Wage-Price Spiral” มีความเสี่ยงต่อการปรับตัวของตลาดแรงงานในอนาคต

5) ค่าสาธารณูปโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานที่ผูกอิงเงื่อนไขการปรับขึ้นไว้กับเงินเฟ้อ ทั้งค่าทางด่วน ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ในระยะต่อไปต้นทุนผู้ประกอบการและค่าครองชีพสำหรับประชาชนปรับตัวสูงขึ้น

แม้ว่านักวิเคราะห์หรือผู้คาดการร์ทางเศรษฐกิจโดยส่วนใหญ่ จะให้แนวทางว่าอัตราเงินเฟ้อในอนาคตนั้นมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2523 นี้ แต่อย่างไรก็ตามการที่ระดับราคาสินค้ายังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อสูงนั้นยังประเมินผลกระทบไม่ได้ทั้งหมด

แต่ข้อมูลเชิงประจักษ์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า รายได้ที่แท้จริงของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันไป กลุ่มรายได้ต่ำสุดของสังคมยังคงรับผลของเงินเฟ้อมากที่สุดต่อไป ตราบใดที่ผลิตภาพการผลิตหรือ productivity ของคนกลุ่มนี้ยังถูกกำกับไว้ด้วยบริการขั้นต่ำของรัฐอยู่ต่อไป