ดังเงียบๆ: ท้าวเวสสุวรรณสามกษัตริย์ วัดโบสถ์มหาราช

30 ก.ค. 2565 | 09:00 น.
6.1 k

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

ตลอดเวลาทั้งปีที่ผ่านมานี้คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่ากระแสการบูชาท่าน ท้าวเวสสุวรรณบ้านเรามาแรงแซงโค้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ติดทำเนียบยอดนิยมอื่นๆอย่างไม่เห็นฝุ่น
 

ซึ่งวัตถุมงคลท้าวเวสสุวรรณนี้แม้จะมีการจัดสร้างกันมาแต่โบราณเช่นของที่วัดสุทัศน์ฯทำรูปหล่อยุคเก่า และในความร่วมสมัยไม่เกิน 2-3 ทศวรรษมานี้ หลวงพ่อหลวงปู่รูปสำคัญๆ ไม่ว่าจะหลวงปู่หงส์ พรหมปัญโญ หลวงพ่อยงยุทธ วัดเขาไม้แดง ก็จัดสร้างอย่างสวยงามศิลป์มีการเทวาภิเษกเข้มขลัง แต่ทว่ามูลค่าสนนราคาเช่าหาในตลาดรองเพิ่งจะกระเตื้องขึ้นมาอย่างที่เรียกว่าพุ่ง ก็คงไม่มีใครปฏิเสธอีกว่าเปนด้วยวัดจุฬามณี อัมพวา นี่เอง เปนหน้าด่านการโหมกระแส ดึกดื่นเที่ยงคืนทางวัดยังคงอำนวยความสะดวกสนองศรัทธาให้ประดาผู้มุ่งมั่นตั้งใจฝ่าดงรถติดเปนกิโลๆพากันมาแวะกราบไหว้ท่านท้าวถึงที่ 

เศรษฐกิจชุมชนก็ขับเคลื่อนได้ทันตาเห็น ชาวแม่กลองอัมพวาตั้งร้านขายเครื่องไหว้ของบูชาไม่ว่าจะเป็นกุหลาบแดงมะพร้าวอ่อนดอกไม้ธูปเทียนเต็มสองข้างทางถนนให้คนมาวัดจับจ่ายกันคึกครื้น ในลานวัดเปิดตลาดขนาดย่อมบริการกันเต็มที่ 24 ชั่วโมงทั้งขนมขต้มข้าวปลาอาหารของฝาก นับแต่นั้นมาประดาพระเกจิอาจารย์ทั่วไทยเริ่มดำเนินการจัดสร้างวัตถุมงคลท้าวเวสสุวรรณแจกจ่ายให้คลื่นมหาชนเช่าหาและบูชากันอย่างต่อเนื่อง
 

เมื่อวันที่ 23 กค 65 ที่ผ่านมานี้ มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เจ้าคณะใหญ่หนกลาง หรืออีกนามหนึ่งคือเจ้าประคุณธงชัย กรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งเปนที่กล่าวขานเลื่องลือในวิชชาความขลังมาแต่ครั้งสมัยเลสเตอร์ซิตี้จิ้งจอกสยามได้ชัยในสนามฟุตบอลเมืองอังกฤษ 

รับนิมนต์เดินทางมาเปนประธานในพิธีเทวาภิเษกวัตถุมงคลท้าวเวสสุวรรณสามกษัตริย์ ณ วัดโบสถ์ บ้านไท วัดเล็กๆเงียบๆใน เขตอำเภอมหาราช พระนครศรีอยุธยา พร้อมเกจิคณาจารย์สำคัญกรุงเก่า ไม่ว่าจะหลวงปู่เอื้อน วัดวังแดงใต้ หลวงพ่อเพย วัดบึงวังแดง เสริมด้วยอาจารย์รุ่นใหม่อย่าง หลวงพี่เลี้ยง วัดจอมเกษ อาจารย์เต๋า วัดสุวรรณ และเปรียญเอก 9 ประโยค อย่างพระมหาเป็นหนึ่ง สุนทรเมธี ก็ต้องบอกได้เลยว่างานนี้ต้อง ‘ไม่ธรรมดา’  
 

วัดโบสถ์ มหาราชแห่งนี้เปนวัดเก่าแก่มาแต่หลายร้อยปี เท่าที่สืบประวัติได้ในยุคมีภาพถ่ายนั้น ท่านสมภารเจ้าวัดผู้เรืองวิชาเปนที่รู้จักทั่วไป ก็คือองค์หลวงปู่ม่วง เจ้าคณะแขวงนครใหญ่ ต้นทางสายกรรมฐานอันลือเลื่อง มีผู้ที่มาต่อวิชากรรมฐานสมัยนั้นทั้งพระคณาจารย์ และฆราวาสเรืองวิชาหลายท่านหนึ่งในนั้นคือ ท่านก๋งจาบ สุวรรณ ผู้เปนครูของครูในสายวิชากรรมฐานทางอยุธยา 
 

สิ้นบุญหลวงปู่ม่วงแล้ว วัดอยู่ในความดูแลของสมภารต่างๆถัดมาอีกหลายรูป ปัจจุบันนี้มีหลวงปู่ประยูร ปภัสโร พระผู้เฒ่าวัย 92 รับธุระพระศาสนา โดยมีผู้ช่วยเจ้าอาวาส คือพระปลัดกฤษธิชัย กิตติธัมโม เปนมือขวาทำหน้าที่ร้อยแปดพันประการในกิจการต่างๆของวัดตั้งแต่สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม ไปยันงานสาธารณสงเคราะห์ทั้งสำหรับสงฆ์และญาติโยมชุมชนตั้งแต่โควิคระบาดระลอกแรกๆ 


เรื่องมันสำคัญอยู่ตรงที่ว่าประดาญาติโยมทั้งหลายไม่ว่าจะใกล้ไกลดั้นด้นมาไหว้บูชาองค์ท่านท้าวเวสสุวรรณสามกษัตริย์องค์ใหญ่ที่ พระปลัดกฤษธิชัย สร้างไว้ที่แนวกำแพงโบสถ์ตั้งแต่เมื่อสิบปีที่แล้ว ต่างบอกกันปากต่อปากว่าพระปลัดวัย 42 ผู้นี้ มีวิชาตรวจชะตาและปรับแก้ดวงบอดด้วยเลขฐาน 12!
 

ตัวท่านผู้ช่วยฯนี้พื้นเพเป็นคนราชบุรี ครอบครัวพอมีฐานะทำท่าถ่าน เรียนทางโลกในโรงเรียนของจังหวัดมีเกเรเกตุงอยู่บ้างตามประสา น้อยใจหนีออกจากบ้านเป็นเด็กปั๊มก็เคยมาแล้ว ต่อมาได้บวชเรียนที่วัดเทพอาวาส หน้าเมืองราชบุรี มีพระครูวิจิตรธรรมประโพธิเป็นพระอุปัชฌาย์ สำเร็จการศึกษานักธรรมเอกที่นี่ และสอบเปรียญบาลีเปนพระมหาประโยค 3 ได้พร้อมๆกัน 


เป็นผู้สนใจใฝ่รู้ในวิทยาการโบร่ำโบราณต่างๆเสาะแสวงหาความรู้ไปเรื่อยๆโดยเฉพาะทางมอญราชบุรี ต่อมาได้ติดตาม หลวงพ่อสายทอง ฉันทกโร มาจำพรรษาที่วัดพรหมนิวาส อยุธยา เรียนวิชาทำตะกรุดจากท่านซึ่งสืบสายวิชาต่อทอดมาจากหลวงปู่เทียม วัดกษัตราธิราช ผ่านทางหลวงพ่อจุล ญาณสวโร เจ้าอาวาสวัดพรหมนิวาส มีความเลื่องลือคือตะกรุดพวงกุญแจ ถัดไหมหุ้มเปนรูปเหมือนรากโสม ซึ่งนิยมกันในหมู่คนสิงคโปร์


 

เมื่อคณะสงฆ์เห็นดีให้มาจำพรรษาที่วัดโบสถ์ ก็ได้เปนหัวเรี่ยวหัวแรงช่วยงานเจ้าอาวาสผู้เฒ่า รับแขกประดาสาธุชนที่มีความทุกข์โดยใช้ศาสตร์วิชาที่เรียนมาวางผังดวงชะตาด้วยเลขฐาน 12 เพื่อคำนวณจุดเเข็งจุดบอดและหาทางแก้ไข
 

โดยให้นิยามว่าบางทีเรื่องดวงเรื่องชะตานี้ ‘มันก็เปนศาสตร์แห่งชีวิต’ เมื่อทราบจุดอ่อนจุดบอดแล้วบอกทางแก้ไข ญาติโยมเจ้าของชะตาร่วมมือด้วยลงมือจัดการกับจุดอ่อนของตัวเองอย่างจริงจังก็สามารถกำจัดจุดอ่อนออกไปได้ ทำให้ชีวิตมีความก้าวหน้ายั่งยืนขึ้น เปรียบเสมือนหมอแผนปัจจุบันสั่งให้งดของหวาน/ของมัน ถ้าคนไข้ไม่ร่วมมืออาการจุดอ่อนร่างกายก็ไม่หายไปหรอก
 

ผู้คนที่เคยมาตรวจชะตาวางผัง 12 เล่าให้ฟังว่า ท่านมักจัดให้มีการอาบน้ำมนต์ 2 รอบ บ้าง 3 รอบบ้าง หลังจากพบจุดบอดจุดอ่อนแล้ว พระมหากฤษธิชัยให้คำอธิบายว่า ในเชิงพิธีการแล้ว การรดน้ำพุทธมนต์อาบน้ำพุทธมนต์เปนกลไกอย่างหนึ่งเพื่อผู้อาบได้ชำระร่างสังขารให้เกิดความบริสุทธิ์ เมื่อรู้สึกว่าตนเองหมดเคราะห์หมดโศกบริสุทธิ์ผ่องใสดีแล้ว การประจุกำลังศรัทธาตนเองให้เข้าไปในตัวเองก็ย่อมทำได้ง่ายขึ้น มีกำลังจิตพลังใจในการแก้ไขปัญหาชีวิตกันต่อไป


 

ท่านเน้นย้ำให้เข้าใจว่า การศรัทธาในตนเองเปนเรื่องสำคัญที่สุดของมนุษย์ ซึ่งใครทำได้เเล้วก็ไม่ต้องพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไหน ศรัทธาประกอบด้วยปัญญาในทางที่ถูกย่อมเอาชนะปัญหาอุปสรรคต่างๆได้เอง แม้จะต้องใช้เวลาก็ต้องศรัทธาอดทนจึงจะลุล่วงไปได้ วิชาของท่านเปนเสมือนตัวช่วยนิดหน่อยเพียงเท่านั้นในการเสริมเติมเส้นทางการวิเคราะห์ตนเอง
 

ทุกวันนี้การที่ท่านได้จัดสร้างวัตถุมงคลต่างๆก็เป็นการสืบสานวิชาของท่านครูที่ท่านได้รับทอดมา ซึ่งมีอานิสงส์ต่อเนื่องนอกจากการรักษาวิชามิให้สูญหายไปแล้ว ยังเกิดผลพลอยได้ในการสนองศรัทธาต่อผู้ที่ให้ความเคารพนับถืออีกด้วย
 

งานหลักๆของทางวัดโบสถ์จะเน้นหนักไปในทางสาธารณะสงเคราะห์และงานเผยแผ่การศึกษาในทางพระปริยัติธรรม มีการจัดตั้งศูนย์การศึกษาพระปริยัติธรรมประจำอำเภอ เพื่อรองรับพระภิกษุสามเณรที่แสวงหาความก้าวหน้าในการศึกษาฝ่ายปริยัติ ตัวอาคารเรียนชั้นเดียวกว้างขวางด้านหลังวัดก็จัดสร้างสำเร็จลงได้ด้วยความสนันสนุนอนุโมทนาจากญาติโยมที่มาวัดแล้วเห็นประโยชน์ทยอยสมทบทุนมาเป็นระยะๆ 


ซึ่งตัวพระอาจารย์เองในฐานะที่ศึกษาต่อยังมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ในสาขาการจัดการเชิงพุทธระดับปริญญาเอกอยู่นี้ยามเมืองบ้านเมืองเดือดร้อนจากภัยโรคระบาดโควิดก็ได้ดัดแปลงเปนศูนย์พักพิงให้กับผู้กักตัว พระเณรทั้ง 37 รูป ที่เคยรับแต่บิณฑบาตญาติโยม ก็แปรสภาพเป็นคนครัวทำอาหารอุดหนุนผู้ป่วยในยามวิกฤตเกื้อหนุนกันทั้งบ้าน/วัด/โรงเรียน อย่างมีกำลังใจฝ่าฟัน
 

“อาตมาเห็นสอดคล้องกับพระผู้ใหญ่ พระมหาเถระต่างๆ ว่าบทบาทของวัดม่วงแต่นานมาเป็นสถานที่ 
‘สร้างคน’ อาตมาก็มีความพยายามที่จะดำเนินการให้ได้ตามปณิธานดั้งเดิมนี้ แม้อาตมาจะไม่เก่งด้านปฏิบัติหรือกรรมฐานตามอย่างบูรพาจารย์หลวงปู่ม่วง แต่ก็พยายามจะอำนวยการให้งานด้านปริยัติก้าวหน้าให้พระเณรได้มีที่เรียนหนังสือเพื่อให้งาน ‘สร้างคน’ ฝ่ายปริยัติมีความสำเร็จตามความมุ่งหมายต่อไป”


นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,805 วันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565