การทูตเพื่อชาติ กับจุดยืนของไทยกรณีรัสเซียบุกยูเครน

16 มี.ค. 2565 | 12:40 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2565 | 22:11 น.
1.2 k

คอลัมน์ ข้าพระบาท ทาสประชาชน โดย... ประพันธุ์ คูณมี

หลังจากบทความของผมเมื่อสัปดาห์ก่อน ได้นำเสนอเรื่อง "รัสเซียบุกยูเครน กับ บทเรียนของไทย กรณีเวียตนามบุกกัมพูชา" ตีพิมพ์เผยแพร่ไป ก็ได้รับเสียงตอบรับและสะท้อนกลับมาจากท่านผู้อ่าน ที่ได้ให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นจำนวนมากพอสมควร หลายท่านเมื่อได้อ่านแล้วก็มีความเห็นและส่งข้อคิดนั้นเห็นกลับมา ทำให้ความเข้าใจในเรื่องนี้ของผมในฐานะผู้เขียนบทความ มีความกระจ่างแจ้งในข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้น 
 

ความคิดที่สะท้อนกลับมานั้น ล้วนเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อชาติบ้านเมืองของเราในสถานการณ์โลกปัจจุบัน สำหรับความคิดเห็นที่ส่งกลับมามากมายนั้น มีความเห็นของท่านผู้หนึ่งซึ่งเป็นนักการทูต เคยดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ และท่านเคยเป็นหัวหน้าคณะทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยที่ผมเคยเป็นเลขานุการส่วนตัวและที่ปรึกษารัฐมนตรีขณะนั้น ซึ่งถ้าเอ่ยนามทุกท่านก็คงรู้จัก 
 

แต่ในบทความนี้ ผมขออนุญาตสงวนนามท่านไว้ก่อน ท่านได้กรุณาให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากที่ผมได้เขียนไปในฉบับที่แล้ว เป็นที่น่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับคนไทยทุกคนและชาติบ้านเมืองเรา ผมจึงขอนำความเห็นนั้นมาเล่าสู่กันฟัง ก่อนที่จะได้เพิ่มเติมความคิดเห็นของตนในเรื่องการต่างประเทศ ที่ควรจะเป็นเพื่อชาติบ้านเมืองของเรากับผู้อ่านต่อไป
 

ท่านอดีตเอกอัครราชทูตไทยท่านนี้ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมหลังจากที่ได้อ่านบทความของผมว่า "ยอดเยี่ยมครับคุณประพันธุ์ ขอโทษที่ตรวจสอบข่าวเกี่ยวกับท่าน นรม.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไม่ทัน บทความของคุณประพันธุ์ในเรื่องอาวุธสหรัฐฯ ที่ทิ้งไว้ก็เป็นทำนองนั้น เพียงแต่ว่าฝ่ายอเมริกัน ขอฝากอาวุธไว้กับเราก่อน แต่ไม่ให้เราใช้ ก็ไม่ถึงกับทิ้งไว้ให้พัง"
 

ซึ่งถึงตรงนี้ ผมขอเพิ่มเติมเองว่า ก็อาจจะฟังดูดีขึ้นมาหน่อย แต่สรุปก็คือ ไม่ให้ไทยใช้อยู่ดีนั่นเอง

 

ท่านได้ให้ความเห็นต่อไปอีกว่า "ส่วนตัวละครที่กล่าวถึง ผู้ที่มีบทบาทติดต่อกับจีนคือ ท่าน นรม.อานันท์ ปันยารชุน ไม่ใช่ท่านทูตแผน ทั้งหมดนี้ผมได้แต่สดรับตรับฟังเพื่อนๆ ใน กต.(กระทรวงการต่งประเทศ) ยังไม่ได้ลงไปเช็คข้อเท็จจริงน่ะครับ" ในส่วนนี้ผมก็เห็นว่า ไม่ถึงขนาดที่ข้อมูลขัดกันครับ เพราะท่านทูตแผนเป็นบุคคลที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ มอบหมายให้เตรียมการกรุยทางเพื่อไปเยือนจีน เพื่อการเจริญสัมพันธไมตรีเท่านั้น
 

นอกจากนี้ท่านอดีตทูตไทยดังกล่าว ยังได้พูดถึงท่าทีของไทยในเวทีประชุมของ UN อีกว่า "สำหรับท่าทีของไทยต่อเรื่องนี้ ผมก็เห็นว่า เรามีท่าทีกลางๆ มากในช่วงแรก เพราะคงเกรงใจรัสเซีย แต่ต่อมาที่ UN เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ก็ได้แถลงท่าทีเดียวกับที่เราใช้ท่าทีในปัญหากัมพูชา ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังทหารของเวียดนาม ในการเข้ายึดครองและเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของกัมพูชา เพราะถ้าเรายอมรับว่า การใช้กำลังทหารบุกประเทศหนึ่ง อีกหน่อยก็อาจจะมีประเทศเพื่อนบ้านหาเหตุบุกไทยได้ เพราะเรายอมรับได้กับการใช้กำลังทหาร 
 

อย่างไรก็ตาม ไทยก็ได้เตือนให้ประเทศตะวันตก Nato และสหรัฐฯ ให้คำนึงถึงความห่วงใยในปัญหาความมั่นคงของรัสเซีย ต่อการขยายอิทธิพลของ Nato และสหรัฐฯ เข้าไปในยุโรปตะวันออก และรุกเข้าไปถึงยูเครน ซึ่งรัสเซียถือว่าเป็นประเทศหน้าด่าน และคนยูเครนก็เป็นเผ่า Slavic ที่พูดภาษาคล้ายๆ กัน เหมือนไทยกับลาว ดังนั้น สหรัฐ Nato และ ประเทศตะวันตกก็ควรจะมีส่วนรับผิดชอบในสงครามครั้งนี้ด้วย การเจรจาสันติภาพหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่จะต้องมีขึ้นควรจะต้องมีการ address เรื่องความห่วงกังวลของรัสเซียในเรื่องปัญหาความมั่นคงของรัสเซียอย่างแท้จริง ยูเครนอาจต้องใช้นโยบายเป็นกลางแบบฟินแลนด์"

นอกจากนี้ท่านยังได้พูดถึงท่าทีของจีนและอินเดียว่า "จีนและอินเดียที่เลือกใช้การ vote abstain ในที่ประชุมสหประชาชาติ โดยไม่ได้ประณามรัสเซีย ก็ไม่ใช่ว่าทั้งสองประเทศสนิทสนมกับรัสเซียมากมาย แต่ทั้งจีนและอินเดียคงมีข้อสงวนที่จะใช้กำลังทหารกับอีกประเทศเพื่อนบ้าน ที่หันเหไปเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับประเทศที่ทั้งสองประเทศเห็นว่าเป็นศัตรู ซึ่งเรื่องนี้ ไทยก็ต้องระวังตัว ถ้าเราเกิดหันไปอนุญาตให้สหรัฐสามารถกลับมาใช้สนามบินอู่ตะเภาได้ จีนก็คงไม่พอใจไทยเช่นกัน"

 

ทั้งหมดนี้ เป็นความคิดเห็นของอดีตเอกอัครราชทูตไทย ท่านหนึ่ง ซึ่งมีความห่วงใยบ้านเมืองไทย เกี่ยวกับเรื่องการทูตและการเมืองระหว่างประเทศ ในสถานการณ์โลกในปัจจุบัน นับว่าเป็นข้อคิดเห็นที่ดีและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หากรัฐบาลลุงตู่จะได้รับไปพิจารณา
 

ปัจจุบัน เราท่านทั้งหลายต้องยอมรับความจริงว่า โลกเราขณะนี้มีความขัดแย้งกันเหมือนยุคสามก๊กในอดีตของประวัติศาสตร์จีน ที่มีมหาอำนาจใหญ่อยู่สามค่ายคือ ยุโรป, อเมริกา และ เอเชีย ที่มีจีนเป็นก๊กใหญ่ที่สุด หรือพูดให้เป็นรูปธรรมก็คือ อเมริกากับยุโรป ค่ายหนึ่ง รัสเซียกับพันธมิตรค่ายหนึ่ง และก็จีนกับพันธมิตรอีกค่ายหนึ่ง การดำเนินนโยบายเพื่อถ่วงดุลยอำนาจ เดินนโยบายการทูตเพื่อชาติและความมั่นคงของไทย จึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญยิ่งสำหรับไทย
 

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนเคยทำงานกับท่าน น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ท่านได้เคยเล่าให้ฟังหลังจากที่ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แล้วใหม่ๆ ท่านได้มีโอกาสเข้าเฝ้าในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งครั้งนั้นในหลวงทรงได้ทรงมีพระราชดำรัสกับท่านว่า "นโยบายการต่างประเทศของไทย ควรให้ความสำคัญกับมิตรประเทศ บ้านใกล้เรือนเคียงในภูมิภาคเดียวกันเป็นสำคัญ โดยเฉพาะกับจีน และ ประเทศในเอเชีย ส่วนยุโรปและอเมริกา เขาไกลจากเรา ควรให้ความสำคัญในลำดับรองลงไป" 
 

ผู้เขียนได้รับฟังมาจากปากของท่านรัฐมนตรี และจดจำใส่กระหม่อมตลอดมาจนเท่าทุกวันนี้ ทั้งยังเห็นว่า เป็นวิสัยทัศน์ที่ดีและถูกต้องสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองของเรา ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลและเป็นพระปรีชาสามารถอย่างยิ่งในเรื่องการต่างประเทศ ของพระมหากษัตริย์ไทยในสถานการณ์รอบบ้านและสถานการณ์โลกในปัจจุบัน 
 

และผู้เขียนก็เข้าใจได้ว่า การที่เชื้อพระวงศ์ของไทยเสด็จเยือนจีน และผูกสัมพันธ์กับมิตรประเทศเพื่อนบ้านได้เป็นอย่างดีนั้น คงเป็นเพราะความคิดและวิสัยทัศน์อันยาวไกลเช่นนี้เป็นแน่แท้ จึงทำให้ประเทศไทยของเรารอดพ้นจากปัญหาภัยสงคราม และมีความเจริญมั่นคงสืบมาตราบถึงปัจจุบัน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น แก่ปวงชนชาวไทย
 

ดังนั้น การดำเนินนโยบายการทูตที่ยึดเอาผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง และการกำหนดบทบาทท่าทีอันเหมาะสมและถูกต้องของไทย โดยไม่หลับหูหลับตาตามก้นฝรั่ง ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งต่างๆ ในภูมิภาคและในทั่วโลก จึงเป็นบทบาทสำคัญที่รัฐบาลพึงยึดมั่น 
 

การศึกษาประวัติศาสตร์ที่บูรพมหากษัตริย์ของไทย เคยดำเนินนโยบายทางการทูตมาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมของพวกยุโรป อังกฤษ ฝรั่งเศส ที่เข้ามารุกรานไทย ที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้เดินทางเสด็จประพาสยุโรปถึงสองครั้ง เพื่อผูกสัมพันธไมตรีกับรัสเซีย และ เยอรมัน เพื่อหยุดยั้งอำนาจของอังกฤษ-ฝรั่งเศส ที่จะยึดครองและแบ่งแยกสยามประเทศออกเป็น 3 เขตปกครอง เมื่อ พ.ศ.2447 ก็ดี 
 

ผนวกกับบทเรียนของนโยบายการทูตในยุคปัจจุบัน ที่มาจากพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ดี ล้วนเป็นบทเรียนสำคัญที่จะพาชาติบ้านเมืองของไทยเรา ให้รอดพ้นจากภัยสงคราม ประเทศมีความเจริญมั่นคงสืบไป