“ลุงตู่” ควรไปต่อหรือพอกันที

16 ก.พ. 2565 | 14:15 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.พ. 2565 | 21:18 น.
1.9 k

คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน โดย...ประพันธุ์ คูณมี

     ช่วงนี้มีโอกาสพบปะผู้คน เจอใครต่อใครมากหน้าหลายตา เหตุเพราะว่าโควิดไม่น่ากลัวเหมือนเมื่อก่อน เป็นแล้วไม่ร้ายแรง รักษาหายได้ โอมิครอนเชื้อไม่ลงปอด ทำให้ได้ออกสังคม สังสรรค์ เล่นกีฬา คลายความเครียดได้มากขึ้นกว่าเมื่อครั้งที่เชื้อเดลต้าอาละวาด การผ่อนคลายจากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล ทำให้วงการสภากาแฟ อันเป็นสภาประชาชนสำหรับพูดคุยแลกเปลี่ยนสนทนาทางการเมือง จึงมีบรรยากาศของความคึกคักกว่าที่ผ่านมา

 

     ยิ่งสถานการณ์ของรัฐบาล "ลุงตู่" อยู่ในช่วงขาลง ภายในพรรคพลังประชารัฐ ก็ส่อเค้าเป็นพลังประชาเละ ภายใน ครม. พรรคผสมก็ป่วนกันเอง นัดกันลาป่วยไม่เข้าร่วมประชุม ครม.แบบเล่นกันซึ่งๆ หน้า ไม่เคยเจอก็มีให้เห็น ส่วนสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนของปวงชนชาวไทย ผู้ทรงเกียรติที่มาจากการเลือกตั้ง ก็เอาแต่ตั้งท่าหาเรื่องป่วน มาลงชื่อเข้าประประชุมแต่ไม่ยอมแสดงตนเมื่อจะลงมติ ทำสภาล่มเป็นประจำนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งหมดเป็นสัญญาณส่อให้เห็นว่ารัฐบาล และสภาฯ ชุดนี้ใก้ลถึงวาระอวสาน การกดดันรัฐบาลให้ยุบสภา เตรียมเลือกตั้งใหม่ หานายกรัฐมนตรีใหม่ ครม.ใหม่ใก้ลจะมาถึงแล้ว

     ด้วยบรรยากาศทางการเมืองแบบนี้ จึงทำให้ตลาดการเมืองคึกคัก การซื้อตัว ดึงตัว หรือ ดูดส.ส.เข้าพรรคก็ดี การจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ เพื่อเตรียมตัวสู่สนามการเลือกตั้ง ที่กำลังใกล้จะมาถึงในเร็ววันนี้ก็ดี ล้วนเป็นไปอย่างคึกคัก มีการรวมตัว แยกตัวจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมาอีกมากมายหลายพรรค จากเดิมที่มีทั้งสิ้น 73 พรรค ก็ใกล้หลักร้อยพรรคเข้าไปทุกที ส่วนพรรคเกิดใหม่ที่รวมตัวจัดตั้งไปก่อนแล้ว ต่างก็ดำเนินกิจกรรมรณรงค์หาเสียง สร้างการรับรู้เรื่องพรรคการเมืองใหม่ๆ แก่ประชาชน มีการขึ้นป้ายหาเสียง ประชาสัมพันธ์ เปิดตัวผู้บริหารพรรค แนะนำผู้สมัครเข้าพรรคที่มีชื่อเสียง ขึ้นป้ายจองพื้นที่กันคึกคักไปหมดทั้งประเทศ บรรยากาศเหมือนว่ากำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศไวๆ นี้

 

     เหตุที่บรรยากาศของบ้านเมืองเป็นเช่นนี้ ทั้งๆ ที่อายุรัฐบาล และอายุสภาฯ เหลือเวลาอีกถึง 1 ปีเศษ เป็นเพราะเหตุใด รัฐบาล "ลุงตู่" ควรอยู่ต่อหรือพอกันที จึงเป็นคำถามที่วงสนทนาต่างให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนเจอใคร ปะหน้าผู้คนในวงการไหน มักจะมีคำถามนี้มาให้ออกความคิดเห็นเสมอ แถมพ่วงด้วยคำถามว่า "แล้วการเมืองบ้านเราจะก้าวเดินไปอย่างไร จะไหวไหม จะไปรอดหรือไม่" เป็นเช่นนี้ในแทบทุกวงสนทนา

 

     ทำให้ต้องคอยระวังคำพูดหรือการแสดงความคิดเห็น เพราะไม่แน่ใจว่าผู้ถามต้องการคำตอบและความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมา หรือมาหยั่งปฏิกิริยาท่าที ว่าผู้ตอบจะมีทัศนะคติอย่างไรต่อรัฐบาล หากเจอคนที่สนิทสนมและไว้วางใจกันได้ว่า ผู้ถามตั้งใจรับฟังอยากได้ข้อมูลและคำตอบที่ดีมีประโยชน์ มิได้ถามเพื่อจับผิดผู้เขียนก็จะพูดไปตามตรง เพื่อบอกว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบ้านเมือง หากคนถามไม่น่าไว้ใจก็จะสงวนท่าที

     ส่วนวันนี้ ขอพูดแบบตรงๆ ว่า นายทหารชั้นผู้ใหญ่ นักการเมืองที่มีชื่อเสียง นักธุรกิจคนสำคัญ นักวิชาการชั้นนำ ที่ผมรู้จักและให้ความเคารพนับถือ ได้ถามผมในประเด็นดังกล่าวแล้ว ผมได้ตอบไปอย่างไร ขอถือโอกาสเล่าสู่ฟังดังนี้ครับ

 

     1. รัฐบาล "ลุงตู่" ควรอยู่ต่อหรือพอแล้ว ผมตอบไปว่า "ควรพอได้แล้ว" ครับ ถ้าจะอยู่ต่อก็ควรอยู่ต่อเพื่อหาทางลงที่ดีให้กับตัวเองดีกว่า เพราะที่อยู่มาจนจะครบ 8 ปี ในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ นับว่ามาไกลเกินคาดหวังแล้ว ค้าขายก็ถือว่ามีกำไรเกินควรแล้ว ควรถึงเวลาที่จะทำให้การเมืองกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย อย่างที่บ้านเมืองควรจะเป็นดีกว่า โดยควรให้พรรคการเมืองทั้งหลาย และประชาชนช่วยกันประคับประคองระบอบประชาธิปไตยของบ้านเมือง ให้เดินหน้าต่อไปตามมติของมหาชน เหมือนทีป๋าเปรม เคยทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง

 

     คณะทหารที่เคยร่วมกันยึดอำนาจ ถือว่าได้เสียสละแก้ปัญหาให้บ้านเมือง ดีแล้วตามสถานการณ์ บัดนี้ถึงเวลาที่เหมาะสม ควรถอยห่างออกไปจากการเมือง ปล่อยให้การเมืองเดินไปตามระบบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร เพื่อให้การเมืองได้ปฏิรูปตนเอง ก็ให้เป็นไปตามวิถีทางของการเมือง ตามประชามติที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้ประชาชนกำหนดอนาคต และชะตากรรมของบ้านเมืองด้วยตนเอง

 

“ลุงตู่” ควรไปต่อหรือพอกันที

 

     2. แม้ว่ารัฐบาล "ลุงตู่" อยากจะอยู่ต่อ ก็ไม่มีความชอบธรรมที่อยู่ต่อไปได้แล้ว เหตุเพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 บัญญัติไว้ในวรรคท้ายว่า "นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง" และรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนี้ ในบทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคแรก บัญญัติว่า "ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่"

 

     ดังนี้จะเห็นได้ว่า "ลุงตู่" เป็นนายกรัฐมนตรีติดต่อกันมาแล้วโดยเริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 หากนับเวลาตามรัฐธรรมนูญนี้ อย่างไรเสียก็อยู่ได้ไม่เกิน สิงหาคม 2565 หักกลบเวลาระหว่างปฏิบัติหน้าที่รอนายกรัฐมนตรีคนใหม่ อย่างไรเสียก็ไม่เกินภายในปีนี้ ท่านต้องยุติบทบาทครับ จึงจะเป็นการตัดสินใจที่สง่างาม อย่าทำให้เรื่องนี้เป็นระเบิดเวลาและปัญหาทางการเมือง แบบโยนภาระไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ให้เกิดเป็นเชื้อสู่วิกฤติ แม้จะมีคนเชียร์ คนชง หรือตะแบงให้ท่านอยู่ต่อ ก็ไม่สมควรที่นายกฯจะเลือกหนทางนั้น เพราะนั่นคือหนทางสู่หายนะทั้งสิ้น คนที่รัก "ลุงตู่" จริงไม่ควรแนะนำทางเลือกดังกล่าว

 

     3. แล้วพรรคพลังประชารัฐ ที่สนับสนุนลุงตู่ และพรรครวมไทยสร้างชาติ และฐานกำลังทางอำนาจการเมือง ที่มีอยู่และที่สนับสนุนนายกฯ ควรจะเดินต่อไปหรือไม่อย่างไร คำตอบก็คือ การมีพรรคการเมืองสนับสนุนตนเอง หรือเป็นพรรคการเมืองฐานอำนาจให้กับตนเองนั้น ถือเป็นสมบัติที่ดีทางการเมือง ท่านสามารถสนับสนุน หรือรักษาไว้ โดยเป็นผู้อยู่หลังฉากน่าจะดีที่สุด ที่สำคัญพรรคการเมืองเหล่านี้ หากมีจำนวน ส.ส.มีที่นั่งในสภาฯ ในจำนวนมากพอสมควร เป็นพรรคขนาดใหญ่หรือขนาดกลาง ก็จะมีอำนาจต่อรองทางการเมือง หรือเข้าร่วมรัฐบาลได้ หากเป็นฝ่ายค้านก็ไม่เสียหาย

 

     ทั้งหมดยังสามารถเป็นกันชนทางการเมืองให้กับตนเองเมื่อลงจากอำนาจได้อีกด้วย ทั้งนี้ไม่นับรวมจำนวนเสียง ส.ว.ในสภาฯ 250 เสียงในระยะเปลี่ยนผ่านที่ยังมีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปได้ด้วย แม้ลุงตู่ก้าวลงจากอำนาจแล้ว การสนับสนุนคนดีคนเก่ง ให้ได้ปกครองบ้านเมือง ลุงยังมีที่หลบภัยได้และถือว่าได้ส่งทอดอำนาจสู่มือคนที่ควรไว้วางใจ

 

     สรุปแล้ว ผมตอบผู้ถามไปแบบนี้ครับว่า "การลงจากอำนาจอย่างสง่างาม ดีกว่าอยู่ในอำนาจแบบให้คนแช่งด่า ขับไล่ในทุกวัน" ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้คนเป็นนายกรัฐมนตรี ห้ามอยู่เกิน 8 ปี ความดีที่ท่านทำไว้กับบ้านเมือง คนจะระลึกเองครับ สุภาษิตการเมืองสอนว่า "การอยู่ในอำนาจนั้นนับว่ายากแล้ว แต่การลงจากอำนาจนับว่ายากยิ่งกว่า" อยู่ที่ "ลุงตู่" เป็นผู้เลือก