พรรคการเมืองไทย รวมกันแตก แยกกันตาย

12 ม.ค. 2565 | 14:15 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2565 | 21:02 น.
1.9 k

คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน โดย...ประพันธุ์ คูณมี

แม้ว่าปีนี้ยังไม่มีการเลือกตั้งใหญ่โดยทั่วไป แต่ก็เป็นปีเลือกตั้งซ่อมในหลายเขต ทั้งสถานการณ์การเมืองโดยรวมก็มีแนวโน้มว่า อาจมีการยุบสภาเลือกตั้งใหญ่เกิดขึ้นได้ ด้วยความเชื่อว่าอาจมีเหตุให้รัฐนาวาลุงตู่เป็นเสือลำบากในปี 2565 ที่ต้องเผชิญหน้ากับเหตุวิกฤติทางการเมืองสารพัด ประกอบกับการอยู่ในอำนาจนานๆ เข้าสู่ปีที่ 8 อาการโรคเบื่อผู้นำ เบื่อลุงตู่ อาจระบาดในหมู่คนไทยได้ 
 

เพราะเหตุการณ์ทางการเมืองทำนองนี้ มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วในยุคของ รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แม้ว่าป๋าเปรม จะบริหารบ้านเมือง จนโชติช่วงชัชวาล ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชันใดๆ เศรษฐกิจดีขึ้นเป็นอย่างมาก ประเทศพ้นจากภาระหนี้ lMF บ้านเมืองสงบสุข ประชาชนอยู่ดีกินดี สงครามภายในประเทศที่ยืดเยื้อยาวนานกับพรรคคอมมิวนิสต์ฯ ก็ยุติลง ด้วยนโยบาย และคำสั่งที่ 66/2523 
 

การเมืองในระบอบประชาธิปไตยขณะนั้นก็มีความมั่นคง มีความต่อเนื่องด้วยการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งออกมาต่อต้าน อยากให้ป๋าเปรมลงจากอำนาจ แต่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของบ้านเมืองยุคนั้น ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยสงบ ด้วยเหตุที่ป๋าเปรม ประกาศยุติบทบาททางการเมือง ด้วยวาทกรรมอันยิ่งใหญ่ว่า "ป๋าขอพอ ขอให้พรรคการเมืองทั้งหลาย รักษาประชาธิปไตยของบ้านเมืองต่อไป" ส่วนยุคนี้จะเป็นอย่างไรยังต้องลุ้น
 

นายกฯ ลุงตู่ นอกจากต้องเผชิญวิกฤติต่างๆ ที่รออยู่เบื้องหน้า ระเบิดเวลาที่รออยู่หลายลูกแล้ว โอกาสที่จะถูกยื่นเรื่องให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะอยู่มาครบ 8 ปี ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 นี้ ก็มีความเป็นไปได้สูง การที่ประเทศจะต้องมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในเวลานั้น ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น และเป็นการเปิดโอกาสให้แก่พรรคการเมืองต่างๆ ได้ช่วงชิงตำแหน่ง 
 

ดังนั้น ในช่วงเวลานี้จึงได้เห็นนักการเมือง กลุ่มการเมือง และบุคคลทั้งหลายที่สนใจการเมือง ต่างกระโดดลงสู่สนามการเมือง จับกลุ่ม จัดขั้ว รวมพวก รวมตัวบุคคลจากวงการต่างๆ มาร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมือง โดยมีเป้าหมายเข้าสู้ในเวทีการเลือกตั้ง เพื่อเป้าหมายให้ได้อำนาจสูงสุด หรือเข้าร่วมในการได้อำนาจรัฐ บริหารประเทศนั่นเอง เพราะพรรคการเมืองไทยทุกพรรค ไม่มีใครตั้งพรรคเพื่ออยากเป็นฝ่ายค้าน มีแต่ฝ่ายร่วมรัฐบาลและฝ่ายรอร่วมรัฐบาล
 

ด้วยเหตุนี้ พรรคการเมืองไทยในปัจจุบันจึงมีมาก และน่าจะมากที่สุดในเอเชีย อาจจะมากที่สุดในระดับโลกก็เป็นได้ โดยเมื่อดูจากทะเบียนพรรคการเมือง ที่จดทะเบียนเป็นพรรคการเมือง และยังดำเนินกิจกรรมอยู่ในปัจจุบันก็มีจำนวนถึง 70 พรรค เอ่ยชื่อได้ไม่ครบ ถ้าไม่ตรวจรายชื่อจากทะเบียนพรรคการเมือง ก็จะไม่มีใครรู้ว่ามีพรรคการเมืองอะไรบ้าง 
 

พรรคการเมืองเก่าที่ยังคงอยู่ก็ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์, พรรคเพื่อไทย, พรรคชาติพัฒนา, พรรคภูมิใจไทย, พรรคสังคมประชาธิปไตย ส่วนพรรคที่จัดตั้งใหม่ ได้แก่ พรรคเสรีรวมไทย, พรรคก้าวไกล, พรรคประชาภิวัฒน์, พรรคพลังธรรมใหม่, พลังประชาชาติไทย,ประชาชาติ, พลังประชารัฐ เป็นต้น 
 

ท่านที่อยากรู้ว่าประเทศไทยมีพรรคการเมืองใดบ้าง ก็ต้องไปตรวจรายชื่อดูจากสำนักทะเบียนพรรคการเมือง กกต. ซึ่งเมื่อเห็นรายชื่อพรรค หัวหน้าและผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองต่างๆ แล้ว ก็จะรู้ได้ทันทีว่า ประเทศไทยนี้ช่างมีพรรคการเมืองมากจริงๆ ทุกคนที่เกี่ยวข้องล้วนเป็นผู้มีชื่อเสียง ต่างคนต่างอยากเป็นหัวหน้า อยากมีบทบาทเป็นผู้นำ ไม่มีใครอยากเป็นผู้ตามและไม่มีใครสนใจอยากจะจับมือร่วมกันทำงาน สร้างพรรคร่วมกันให้เข้มแข็งเป็นปึกแผ่น สร้างความศรัทธาแก่ประชาชน ทั้งๆ ที่ควรจะร่วมมือกันได้ก็ร่วมกันไม่ได้ 

พรรคการเมืองไทยจึงเป็นเบี้ยหัวแตก ตามที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญอยากให้เป็น เพื่อพรรคใหญ่ที่มีอำนาจครอบงำ จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนผู้มีอำนาจทางทหารสืบทอดอำนาจต่อไป จะได้เป็นผู้ควบคุมและกำหนดทิศทางทางการเมืองได้ ดังที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน
 

พรรคการเมืองไทย หากรวมกันได้เป็นพรรคใหญ่ได้ อยู่ไปสักพักสุดท้ายก็จะเป็นพรรคแตก มี ส.ส.เกินร้อยเมื่อไหร่ไม่นานก็แตกแทบทุกพรรค สาเหตุก็เพราะส่วนใหญ่รวมกันได้ด้วยผลประโยชน์ ที่จะรวมกันด้วยจุดยืนหรืออุดมการณ์เดียวกันมีน้อยมาก แตกต่างอย่างยิ่งกับพรรคการเมืองที่ปกครองประเทศด้วยระบบพรรคเดียว อย่างสหภาพโซเวียต, จีน, เวียดนาม ฯลฯ ที่เป็นพรรคการเมืองอุดมการณ์เดียวกัน 
 

ด้วยเหตุนี้ สถานการณ์ปัจจุบันของพรรคการเมืองไทย ที่จะอยู่ได้จึงเป็นพรรคขนาดกลาง มีเสียง ส.ส.ไม่เกินร้อยเท่านั้น แต่ถ้าเป็นพรรคเล็กต่ำ10 เสียง ก็เป็นได้แค่ตัวประกอบการแสดง อยู่เพื่อเอาตัวรอดโดยหาทางเกาะขั้วอำนาจเท่านั้น
 

เมื่อพรรคการเมือง และบ้านเมืองเป็นเช่นนี้ ประชาชนต้องการอย่างไรอยากเห็นพรรคการเมืองแบบไหน อยากได้ระบอบประชาธิปไตยที่พัฒนาขึ้นอย่างไร เพราะหากบ้านเมืองจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องมีพรรคการเมืองเป็นองค์กรสำคัญ จนกระทั่งมีคำพูดว่า "ไม่มีพรรคการเมือง ก็ไม่มีประชาธิปไตย" แต่ปัญหาใหญ่คือ พรรคการเมืองไทยในปัจจุบัน สามารถสร้างและพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยได้จริงหรือไม่
 

การที่มีพรรคการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายขณะนี้ มองในด้านที่ดีก็ถือว่า เป็นส่งเสริมประชาธิปไตย เป็นสิทธิ เสรีภาพ ส่วนบุคคลที่สามารถแสดงออกทางการเมืองได้ แต่หากมองในมุมของประเทศชาติ ประโยชน์ของประชาชน ผู้เขียนยังมองไม่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์แก่ประชาชน และส่งเสริมพัฒนาการในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด 
 

ถ้าพรรคการเมืองที่เกิดใหม่ มีการจับมือร่วมอุดมการณ์ ร่วมกันคิดและทำงานเพื่อชาติ สร้างศรัทธา และความสามัคคีของประชาชนได้ โดยผู้เขียนฝันว่า พรรคกล้า+พรรคสี่กุมาร+พรรครวมพลังประชาชาติไทย+พรรคไทยภักดี+พรรคไทยสร้างไทย และพรรคอื่นๆ จับมือร่วมกันเป็นพรรคทางเลือกให้คนไทย แบบพรรคใหญ่ไม่แตก มุ่งหน้าทำงานให้กับประเทศชาติ สร้างและพัฒนาประชาธิปไตย คนไทยยังพอจะมองเห็นอนาคตและความหวัง แต่ถ้าต่างคนต่างสร้างพรรค แต่คนแย่งกันใหญ่แข่งกันดัง สร้างดาวกันคนละดวง อย่างที่เป็นอยู่เช่นนี้ ประเทศจะมีความหวังอะไรกับพรรคการเมือง 

ขอบ่นดังๆ และฝากนักการเมือง ท่านที่รักและหวังดีกับประเทศว่า พวกท่านสามัคคีกันให้ได้ก่อนเถอะ ประชาชนจะสามัคคีร่วมมือกับท่านแน่นอน อย่าเป็นพรรคเบี้ยหัวแตกต่อไปอีกเลย