“บัญญัติ บรรทัดฐาน” กูรูผู้หยั่งรู้การเมือง

06 ม.ค. 2565 | 15:05 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ม.ค. 2565 | 23:20 น.
2.8 k

คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน โดย...ประพันธุ์ คูณมี

เมื่อเอ่ยชื่อ "นายบัญญัติ บรรทัดฐาน" ในทางการเมือง น้อยคนที่จะไม่รู้จัก เพราะชื่อนี้อยู่คู่กับการเมืองไทยมายาวนานไม่น้อยกว่า 46 ปี โดยท่านเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ถึง 14 สมัยต่อเนื่องกัน คือตั้งแต่ปี 2518-ปัจจุบัน เป็น ส.ส.ในพื้นที่สุราษฎร์ธานีมาโดยตลอด หลังปี 2544 จึงเป็น ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ และ ส.ส.แบบสัดส่วน ตามรัฐธรรมนูญ 2560
 

นอกจากเป็น ส.ส.มาต่อเนื่องยาวนานโดยไม่เคยสอบตกแม้แต่สมัยเดียวแล้ว นักการเมือง นักประชาธิปไตยตัวจริงท่านนี้ ยังดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งในพรรคและดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังนี้
 

- เป็นรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ปี 2519
- เป็นโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ปี 2522-2523
- เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ปี 2546-2548
-เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปี 2519
-เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ปี 2523-2526
-เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปี 2526-2529
-เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ ปี 2529-2531
-เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปี 2543 โดยปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
 

ที่ผู้เขียนยกเอาประวัติทางการเมืองพอสังเขปของท่าน มากล่าวถึงอีกครั้ง ก็เพียงแต่เตือนความทรงจำของหลายท่าน รวมถึงคนใน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อาจลืมเลือนสุภาพบุรุษนักการเมืองท่านนี้ เพราะท่านจะไม่ค่อยออกมาพูดหรือให้สัมภาษณ์พร่ำเพรื่อ จะออกมาพูดก็มักจะเป็นในวาระและสถานการณ์สำคัญๆ เท่านั้น หรือจะออกมาแก้ปัญหาภายในพรรคเมื่อยามมีวิกฤติเสียเป็นส่วนใหญ่ 
 

ความเป็นนักคิดนักวิเคราะห์ที่มากประสบการณ์ มีความเข้าใจธรรมชาติของการเมืองไทยอย่างลึกซึ้ง ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุคสมัย พบเห็นการเมืองไทยในทุกรูปแบบ ผ่านจุดสูงสุดและต่ำสุดของการเมือง รวมถึงวิกฤติในทุกเหตุการณ์การเมืองไทยมาแล้ว มุมมองมุมคิดและการวิเคราะห์ของท่านผู้นี้ จึงอยู่ในฐานะอันควรเรียกได้ว่าเป็น "กูรูทางการเมือง" คนหนึ่งของเมืองไทย และถือเป็นเสนาธิการทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้รับการยอมรับนับถือทั้งจากคนภายในพรรคและนอกพรรค
 

ผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับท่าน ในช่วงเวลาที่เคยทำงานร่วมพรรค และเคยมีส่วนทำหน้าที่ในฐานะทนายความ ทำงานคดีสำคัญแก้ต่างให้กับพรรค ในคดีที่ถูกอัยการฟ้องให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ จนพรรคชนะคดีรอดพ้นจากการถูกยุบพรรคมาได้ 
 

รวมถึงเมื่อได้มีโอกาสพบกับท่านบัญญัติเมื่อใด ท่านก็มักจะชวนพูดคุยและสอบถามถึงสถานการณ์และความคิดเห็นทางการเมืองเสมอๆ ความสนใจและใส่ใจในเหตุการณ์บ้านเมืองแบบเกาะติด ทั้งสนใจคิดวิเคราะห์และหาคำตอบเพื่อหาทางออกให้กับประเทศอยู่เสมอๆ จนอยู่ในดีเอ็นเอของนักการเมืองท่านนี้ ด้วยความคปราถนาดีต่อบ้านเมืองตลอดมา เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในความเป็นตัวตนของท่าน นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนได้สัมผัส ตลอดช่วงเวลาที่ได้ทำงานและรู้จักท่านนักการเมืองอาวุโส
 

การที่ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นักการเมืองอาวุโสแห่งพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาวิเคราะห์และให้ความเห็น เพื่อฉายภาพของการเมืองปี 2565 ควบคู่ไปกับการฉายภาพทางเศรษฐกิจของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ หรือ "กูรูเศรษฐกิจ" จึงเป็นเรื่องที่ควรรับฟังอย่างยิ่ง โดยเฉพาะบรรดากุนซือของรัฐบาลนี้ เพราะปัจจัยทางการเมืองคือความเสี่ยงสำคัญ ที่จะส่งผลถึงเศรษฐกิจ และปัจจัยทางเศรษฐกิจ ก็ส่งผลถึงการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

ปี 2565 ผู้หยั่งรู้การเมืองชี้ว่า "การเมืองร้อนปรอทแตก" รัฐบาลลุงตู่ตกอยู่ในสถานการณ์เสือลำบาก อาจอยู่ได้ไม่พ้นปีเสือ ด้วยเหตุปัจจัยสำคัญที่พอสรุปได้หลายประการ
 

1. ปีนี้แม้จะยังไม่มีการเลือกตั้งใหญ่ แต่ก็เป็นปีแห่งการเลือกตั้งซ่อมอย่างน้อย 3 เขต คือที่ จ.ชุมพร, จ.สงขลา และ กรุงเทพมหานคร เขตหลักสี่ และยังจะต้องมีการเลือกตั้งท้องถิ่นของเมืองขนาดใหญ่คือ กรุงเทพมหาครและเมืองพัทยา ที่รัฐบาลยื้อมานานซึ่งก็ยากที่จะยื้อต่อไป อย่างไรก็ต้องมีการเลือกตั้งในปีนี้ แต่ถ้าหากมีปัญหาว่ารัฐบาลลุงตู่อาจอยู่ไม่ครบเทอม ด้วยอุบัติเหตุการเมืองที่รออยู่ อาจมียุบสภาฯ เลือกตั้งทั่วไปในปีนี้ก็เป็นได้
การเลือกตั้งไม่เพียงแต่มีแนวโน้มสกปรก ใช้เงินซื้อเสียงและใช้อิทธิพลทางการเมืองเพื่อเอาชนะเท่านั้น ความขัดแย้งกันเองในพรรคร่วมรัฐบาลก็อาจเกิดขึ้นได้ เพราะปัจจุบันพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ค่อยจะรู้จักเรื่องมารยาททางการเมือง ขนาดเลือกตั้งซ่อมแทน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันแท้ๆ พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลยังส่งคนลงแข่งขันแย่ง ส.ส. โดยไม่ไว้หน้าหรือให้เกียรติกัน
 

2.ปัญหาเศรษฐกิจ อันเป็นผลมาจากปัญหาวิกฤติโควิด การจัดการและรับมือกับปัญหานี้ ยังมองไม่เห็นว่ามาตรการของรัฐบาล ในการแก้ปัญหาและฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาจะเป็นอย่างไร ปัญหาคนตกงาน ผู้ประกอบการขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ล้วนได้รับผลกระทบถ้วนหน้า การท่องเที่ยวก็ยังไม่อาจฟื้นกลับมาตามปกติได้ นี่ก็เป็นปัญหาใหญ่ที่จะนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองได้
 

3. เมื่อมีการเปิดสมัยประชุมองสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนมีนาคม 2565 คาดว่าการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จะเกิดขึ้นอีกครั้ง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาทางการเมือง การบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาล จะถูกนำมาพูดอีกครั้ง โดยผสมกับปัญหาอื่นและความเบื่อหน่ายต่อรัฐบาลที่อยู่มานาน ย่อมมีปัญหามากและอารมณ์ความอยากเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจะผสมโรงกับการเคลื่อนไหวนอกสภาฯ หนักหน่วงขึ้นจากปัญหาเดิมๆ ไม่ว่าเรื่องรัฐธรรมนูญและความไม่ชอบรัฐบาลทหาร
 

4. ประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดที่ท่านบัญญัติฯ ให้น้ำหนักที่อาจร้อนแรงทั้งในสภาฯ และอาจส่งผลไปถึงการเมืองตามท้องถนนได้คือ การดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ เพราะดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญฯ ที่บัญญัติห้ามนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปีไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม 
 

ประเด็นนี้มีนักวิชาการให้ความเห็นไว้แล้วว่า ถ้าถือตามรัฐธรรมนูญฯดังกล่าว ความเป็นนายกรัฐมนตรีของลุงตู่ น่าจะสิ้นสุดลงเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 และเมื่อถึงเวลานั้นจะมีคนยื่นเรื่องเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยแน่นอน คำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไรก็ตาม คงเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองค่อนข้างแน่นอน โอกาสจบของรัฐบาลลุงก็มีความเป็นไปได้สูง ปรอทอาจแตกในช่วงเวลานั้นก็เป็นได้
 

เหล่านี้คือประเด็นหลักๆ ที่ผู้อาวุโสทางการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้วิเคราะห์และชี้ให้เห็นว่า ปี 2565 จะเป็นปีที่การเมืองร้อนแรง กว่าปีที่ผ่านมา มีผลต่อตำแหน่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีลุงตู่ แบบที่เรียกว่าเสือบำบาก โอกาสที่ลุงตู่จะไม่ได้ไปต่อจึงมีโอกาสสูงยิ่ง
 

นี่คือภาพการเมืองในปี 2565 ที่กุนซือนายกฯ ไม่ควรประมาทและมองข้าม จิ้งจกทักยังต้องฟัง นี่ระดับกูรูการเมืองชี้ ยิ่งต้องฟังและเตรียมรับมือให้ดีครับ
 

ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3746 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 6-9 ม.ค.2565