รูปแบบการบริหาร การปกครองกรุงเทพมหานครในอดีต มิได้เป็นประชาธิปไตย ไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ ที่มาจากประชาชนแต่อย่างใด โดยผู้ว่าฯ กทม. ถือเป็นข้าราชการการเมืองที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการเรียกร้องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ โดยขบวนการของนักเรียน นิสิต นักศึกษา จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ จึงทำให้บ้านเมืองที่เคยปกครองโดยระบบเผด็จการทหาร ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2517 เป็นกฎหมายสูงสุดปกครองประเทศ
จากวันนั้น ความตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตย และสิทธิ เสรีภาพ ทางการเมืองของประชาชน จึงได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง กระแสเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย ได้เบ่งบานและปกคลุมไปทั่วประเทศ นอกจากประเทศไทยของเรา จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีรัฐสภา และมีนายกรัฐมนตรี ที่เป็น ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง หลังเวลาที่ถูกปกครองโดยเผด็จการทหารมายาวนานถึง 16 ปี และการบริหารกรุงเทพมหานคร ก็เกิดกระแสที่ประชาชนเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามระบอบประชาธิปไตยด้วย
รัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ในยุคนั้น จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 ขึ้นบังคับใช้ โดยกำหนดให้กรุงเทพมหานคร มีฐานะเป็นทบวงการเมือง มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มาจากการเลือกตั้ง อยู่ในวาระคราวละ 4 ปี เป็นผู้บริหารเมือง จึงทำให้มีการเลือกตั้งครั้งแรกขึ้น เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2518 ซึ่งถือเป็นการวางเสาเข็มและฐานรากให้กับระบอบประชาธิปไตย แก่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งแรกนี้ ได้สร้างบรรยากาศและสีสันทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และปลุกความตื่นตัวทางการเมืองและการมีส่วนร่วมในการบริหารเมืองกรุง แก่ชาว กทม.ได้อย่างคึกคักมีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง และการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็เป็นการแข่งขันระหว่าง ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ด็อกเตอร์หนุ่ม นักการเมืองเลือดใหม่อนาคตไกล จากพรรคพลังใหม่ กับ นายธรรมนูญ เทียนเงิน นักการเมืองเก่ารุ่นลายคราม
ผลปรากฏว่า นายธรรมนูญ เทียนเงิน ชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.คนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็อยู่บริหารได้ไม่ครบ 4 ปี เนื่องจากเกิดข้อขัดแย้งรุนแรงกับฝ่ายบริหารประเทศและฝ่ายนิติบัญญัติ จนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ทำให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี ที่มาจากการรัฐประหารขณะนั้น ใช้อำนาจตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญ 2519 ปลดออกจากตำแหน่งเมื่อ 20 เมษายน 2520 แล้วหันกลับไปใช้รูปแบบการแต่งตั้งเช่นเดิม ลักษณะคล้ายกับผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ที่มาโดยคำสั่งแต่งตั้ง
แต่การต่อสู้ของประชาชน และพรรคการเมืองต่างๆ ที่ต้องการเห็น กทม.ได้ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย และมีผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ยอมถอดใจ เมื่อบ้านเมืองกลับมาสู่ความเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง ในยุคของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สภาผู้แทนราษฎรก็ได้ให้ความเห็นชอบ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ทำให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กลับมาอีกครั้ง และมีการเลือกตั้งอีกหลายครั้งเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบัน
โดยมาสะดุดและเว้นวรรค เมื่อมีการรัฐประหารและยึดอำนาจโดย คสช.ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะนี่เอง ซึ่งแม้ประเทศจะมีการเลือกตั้งทั่วไป มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมีนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งแล้ว แต่กรุงเทพมหานคร ความเป็นประชาธิปไตยยังถูกแช่แข็ง ด้วยคำสั่งของหัวหน้าคณะ คสช.ที่ 64/2559 ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เรื่องการให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร พ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแทน
การเป็นผู้ว่าฯ กทม.ของ พล.ต.อ.อัศวิน จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาถึง 5 ปีเศษ จึงเป็นโดยคำสั่งแต่งตั้งของ คสช. มิได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ตามระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่กลับอยู่ในวาระนานจนเกินกว่าผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งเสียอีก บรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยของ กทม.จึงมีเสียงเรียกร้องดังขึ้นตามลำดับ เพื่อรอเวลาปลดล็อกจากรัฐบาล
ด้วยเหตุนี้ ภารกิจเพื่อคืนความเป็นประชาธิปไตยแก่ชาว กทม.จึงเป็นภารกิจสุดท้ายที่ผูกพันกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งรีบจัดให้มีการเลือกตั้งตามกระแสเสียงเรียกร้องของประชาชน กทม.โดยเร็วที่สุด ซึ่งมิใช่ต้องลากยาวต่อไปอีกจนถึงกลางปีหน้า เพราะการเลือกตั้งในส่วนท้องถิ่นอื่นๆ รัฐบาลและ กกต.ก็ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วทั่วประเทศ จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องลากยาวดึงเกมอีกต่อไป
ความเป็นประชาธิปไตยของคนกรุงเทพมหานคร คือลมหายใจของระบอบประชาธิปไตยของประเทศ หากมหานครขนาดใหญ่แบบ กทม.ยังไม่อาจมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเสียแล้ว ย่อมเป็นตราบาปและรอยด่างให้กับการปกครองประเทศ ทำให้เป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหารัฐบาลได้ว่า มิได้เป็นผู้ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ด้วยความจริงใจ
นับตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา กทม.มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รวมทั้งสิ้นถึง 10 ครั้ง มีผู้ว่าฯ ที่มีความรู้ความสามารถ เข้ามาพัฒนาแก้ไขปัญหากรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี และยังมีองค์กรสภากรุงเทพมหานคร เป็นสภาตรวจสอบฝ่ายบริหาร และออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร สร้างความเป็นประชาธิปไตย และพัฒนาเมืองจนเป็นมหานครชั้นนำของโลก
ที่สำคัญคน กทม.คุ้นเคยกับวิถีชีวิตทางการเมืองที่ยอมรับผู้บริหาร กทม.ที่มาจากการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยของคน กทม.จึงเปรียบเสมือนลมหายใจของความเป็นประชาธิปไตยของคนทั้งประเทศ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ รัฐบาลจะมองข้ามมิได้ และต้องไม่ลืมสัจธรรมการเมืองเรื่อง "คนต่างจังหวัดเลือกรัฐบาล แต่คนกทม. คือผู้เปลี่ยนแปลง(ล้ม)รัฐบาล" ที่เกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
การปล่อยให้ กทม.ว่างเว้นจากการมีผู้บริหารที่มาจากเลือกตั้งอย่างยาวนานเช่นนี้ จึงมิได้เป็นผลดีต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่อย่างใด เพราะต้องไม่ลืมว่าคราบไคลจากการยึดอำนาจมายังมีกลิ่นติดตัวอยู่
เมื่อบัดนี้ รัฐบาลก็ได้เปลี่ยนแปลงตนเองจากการมาโดยการยึดอำนาจ มาสู่ความเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เล่นตามกฎกติกาทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว จึงไม่ควรปล่อยให้ กทม.ต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนี้อีกต่อไป
การจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด เพื่อคืนความเป็นประชาธิปไตย ให้กับคนกรุงเทพมหานคร คือ การปิดประเด็นทางการเมืองเรื่องอำนาจเผด็จการ ไม่ให้เป็นขี้ปากและข้ออ้างของพวกปลุกระดม ปั่นกระแสทางการเมือง เพื่อใช้คนกรุงเป็นเครื่องมือกดดันรัฐบาลอีกต่อไป
และนั่นคือภารกิจทางการเมือง ที่จะทำให้รัฐบาลดูสง่างามในทางการเมือง ยิ่งกว่าการลากตั้งผู้ว่าฯ กทม. ให้ยืดเยื้ออีกต่อไป เพราะการกระทำเช่นนั้นมีแต่เสียกับเสีย ไม่เป็นผลดีใดๆ ต่อรัฐบาลเลย