วิกฤติโควิด กับความเสื่อมของภาคสังคม

02 ก.พ. 2565 | 19:00 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.พ. 2565 | 02:30 น.
964

คอลัมน์ ข้าพระบาททาสประชาชน โดย...ประพันธุ์ คูณมี ฉบับ 3754

วันนี้ขอหลบเรื่องราวความวุ่นวายทางการเมือง มาฟังนักคิด นักวิชาการ ผู้รู้ปราชญ์ทางสังคมและทางเศรษฐกิจ พูดถึงปัญหาวิกฤติและความเสื่อมทางสังคม ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่ขณะนี้ ภายหลังวิกฤติโควิดว่า สภาพสังคมไทยจะเป็นอย่างไร น่าจะประเทืองปัญญาและให้สติแก่ผู้คนกว่าการจมอยู่กับเรื่องประจำวัน เพราะการคิดและการมองไปข้างหน้า ด้วยการสรุปบทเรียนและทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น จะเป็นแนวทางที่ทำให้ผู้คนในสังคมพัฒนาตนเอง และช่วยกันสร้างสังคมที่ดีที่น่าอยู่ พาประเทศก้าวเดินไปข้างหน้า ได้ดียิ่งกว่าการตีกันทะเลาะกันในทางการเมืองในแบบที่ไม่สร้างสรรค์

 

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับหลายมหาวิทยาลัย ได้มีการจัดประชุมวิชาการระดับชาติขึ้น ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ในหัวข้อ " From disruptive to Post Covid-19 world:New Landscape and Sustainable Development for Thailand" ซึ่งในงานดังกล่าว มีบุคคลสำคัญ 2 ท่าน ได้มาปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อสำคัญที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ผู้เขียนเห็นว่าข้อคิดของทั้งท่านน่าสนใจ สมควรที่จะได้เผยแพร่และนำมาให้ผู้อ่านที่ห่วงใยต่อความเป็นไปของประเทศชาติ และสังคมไทย ได้มีโอกาสได้อ่านและทำความเข้าใจ จึงขอสรุปมาเล่าสู่ฟังดังนี้ครับ

ท่านแรกคือ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง " Thailand in a disruptive world" โดยท่านได้ชี้ให้เห็นว่า โควิดส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง กิจกรรมหลายอย่างเปลี่ยนมาเป็นระบบออนไลน์มากขึ้น ทำให้โลกมีความป่วน แต่ประเทศไทยจะอยู่ในโลกของความป่วนนี้ได้อย่างไร คือ

 

1.ภูมิอากาศป่วน 2.ภูมิรัฐศาสตร์ป่วน 3.เทคโนโลยีป่วน ซึ่งทำให้เห็นความโกลาหลของโลก อันมีผลต่อสังคมไทย

 

ดร.สมเกียรติ ชี้ให้เห็นว่า อุณหภูมิที่ผิดปกติ ทำให้เกิดปัญหาภัยธรรมชาติ ไฟป่า น้ำท่วม พายุ ความแห้งแล้ง พายุฝุ่นในหลายประเทศ

 

โลกที่ร้อนอาจทำให้ไทยจมทะเลได้ มีกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนของมนุษย์ถึง 5 อย่าง คือ 1.การผลิตและการก่อสร้าง 2. การผลิตไฟฟ้า 3.การเกษตร 4.การเดินทาง 5. ปรับอุณหภูมิ แม้กระทั่งเรื่อง คริปโตเคอร์

 

เรนซี หรือบิตคอยน์ ที่กำลังเป็นกระแสความนิยมในธุรกิจการเงิน ก็ยังกลายเป็นปัญหาที่จะซ้ำเติมการใช้พลังงานไฟฟ้าและก่อปัญหาให้เกิดภาวะโลกร้อน เชื่อมโยงไปสู่การเพิ่มขึ้นไปสู่การปล่อยคาร์บอนในอากาศอีกด้วย นับว่าเป็นปัญหาและความรู้ที่ทำให้เราต้องตระหนักว่า นี่คือวิกฤติอีกเรื่องที่ซ้ำเติมสังคม

ประเด็นที่น่าสนใจและมีความสำคัญอย่างยิ่งอีกเรื่องคือ ปาถกฐาของ ศ.ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม เรื่อง " Post Covid-19 : New Landscapes for Thailand" โดยมีประเด็นว่า มีคลื่นสึนามิที่มีการเปลี่ยนแปลง 3 ลูกใหญ่ๆ ที่กระทบประเทศไทย โดยก่อนโควิด 19 โลกต้องเผชิญ 2 คลื่นการเปลี่ยนแปลงใหญ่อยู่แล้วคือ การเปลี่ยนแปลงจาก disruptive เทคโนโลยี และผลสืบเนื่องทางเศรษฐกิจจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ 2008 แต่สำหรับประเทศไทยมีอีกวิกฤติหนึ่งมาซ้ำเติมเข้าไปอีกคือ วิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่ความเสื่อมความชอบธรรมของภาคสังคมการเมืองประชาธิปไตย และการปกครองและยังซ้ำเติมเข้ากับปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากโควิดด้วย

 

Disruptive Technology เช่น AI , Bigdata, LoT, Internet ส่งผลให้เกิดการยุบเปลี่ยนทั้งภาคการผลิต การบริการ การเงิน การธนาคาร การแพทย์ การศึกษา ระบบราชการ การเมืองและทุกภาคส่วน ทั้งสร้างสิ่งใหม่และขยายปัญหาเดิมของแต่ละประเทศ

 

ที่สำคัญที่สุดคือ ความเสื่อมของภาคสาธารณะและการตายของสังคมไทย คำว่า สังคม (society, social) ที่เกิดขึ้นพร้อมกับชนชั้นกลางและการเมืองประชาธิปไตย สังคมที่มีความหมายถึงการพบปะ การเข้าสังคม การรวมกลุ่มเพื่อถกเถียงหามติและความเห็นที่ถูกต้อง การติดต่อพูดคุยของสังคมที่มีกติกามารยาทที่ละเอียดอ่อน การที่ต้องมีความซื่อตรงต่อกัน การเชื่อถือในข่าวสาร ทัศนะที่ให้แก่กัน อาจมีความเห็นต่างความขัดแย้ง แต่ส่วนใหญ่หาข้อสรุปหรือสงวนความคิดเห็นของตนได้ ภาคสาธารณะที่หมายถึงมิติทางวัตถุ อำนาจ และผลประโยชน์ของส่วนรวมทั้งหมด โดยที่มีตัวแทนทั้งในลักษณะบุคคลและสถาบัน คือ สื่อมวลชน หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สถาบันวิชาการ มหาวิทยาลัย ครู อาจารย์ ปัญญาชน ฯลฯ เหล่านี้ได้รับผลกระทบเสื่อมลงไปด้วย

 

ศ.ธีรยุทธ ยังกล่าวอีกว่า เทคโนโลยีดิจิทัล ก็สร้างขีดความสามารถที่ทำให้เกิดการสื่อสารของทุกคนได้ เกิดเป็น “net media” ไม่ใช่ social media เหตุเพราะเป็นปัจเจกบุคคล ซึ่งเน้นแต่การแสดงออกในความเป็นตัวตน ไม่ใช่ทัศนะหรือความรู้ที่กลั่นกรองตรวจสอบยาวนาน เน้นแต่ความฉับไว ความต่าง ความแปลกใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มนำไปสู่การดูถูก ด้อยค่า ด่าทอ ใช้คำหยาบคาย และความเกลียดชัง นี่คือภาพสะท้อนที่ตรงกับความเป็นจริงของสังคมไทยขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง

 

วิกฤติโควิด กับความเสื่อมของภาคสังคม

 

การชี้ให้เห็นสภาพของสังคมไทยของ ศ.ธีรยุทธ ยังได้สะท้อนให้เห็นถึงแก่นอีกว่า สังคมไม่ได้หาย หรือ ตายไปเพียงเพราะคนไม่ได้ออกมาพบปะกัน แต่ยังตายเพราะคุณค่า ค่านิยม ขนบประเพณี ซึ่งสร้างความเป็นสังคมไว้ได้ล้มหายตายจากไปด้วย

 

เราจะพบว่าค่านิยม เกียรติ ศักดิ์ศรีความเชื่อถือ (trust) ความซื่อตรงมีคุณธรรม (integrity) ในหมู่มิตรสหาย ในทางวิชาการและวิชาชีพ ได้เสื่อมลงไปเรื่อยๆ และแทบไม่มีการพูดถึงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น net idol จะไม่เน้นที่เกียรติ ศักดิ์ศรี คุณวุฒิ ความสามารถทางด้านต่างๆ แต่จะอยู่ที่ความสามารถในการสร้างความแปลกใหม่ ความน่าสนใจ และการเข้าถึงสถานการณ์เหตุการณ์ event ต่างๆ จนเป็นที่ชื่นชอบของแวดวงสาธารณะ(public sphere) คงเหลือเพียงมิติที่เป็นการบริการของภาครัฐ ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นต่อเมื่อกระทบต่อผู้คนกลุ่มต่างๆเท่านั้น การตายหรือความเสื่อมของภาคสังคมและสาธารณะ จึงส่งผลอย่างมากต่อการส่งเสริม สถาปนา หรือถ่วงดุลการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

 

ที่เสื่อมร้ายแรงและอันตรายที่สุดก็คือ การปกครองของไทย ไม่เพียงการปกครองได้หรือไม่ได้เท่านั้น ที่สำคัญคือ ผู้ปกครองที่มีอำนาจ ไม่ได้กุมหัวใจของประชาชนผู้ถูกปกครอง

 

นี่คือเนื้อหาโดยสรุปของทั้งสองท่าน ที่ผู้เขียนเห็นว่า ได้สะท้อนสภาพปัญหาและความเป็นจริงของสังคมไทย ได้อย่างตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด ปัญหาหลังวิกฤติโควิด ประเทศไทย สังคมไทย จะก้าวเดินต่อไปอย่างไร และจะสร้างอนาคตประเทศไทยอย่างไร จึงเป็นปัญหาสำคัญสำหรับประชาชนไทยทุกคน

 

การเลือกอนาคตและผู้นำประเทศในการมาบริหารประเทศและการสร้างชาติ ในช่วงเวลาต่อจากนี้ไป จึงเป็นภารกิจสำคัญของประชาชนไทยทุกคน ข้อคิดเห็นของทั้งสองท่านผู้เขียนเห็นด้วยทุกประการ สมควรอย่างยิ่งที่ใครก็ตามที่จะก้าวเข้ามาบริหารบ้านเมืองต่อไป ควรนำมาพิจารณาอย่างยิ่ง