ลดภาษีดีเซลแล้ว รัฐต้องดูแลคนใช้เบนซิน

16 ก.พ. 2565 | 13:30 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.พ. 2565 | 20:28 น.
783

บทบรรณาธิการ

        ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 ก.พ.2565 เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ.…. เพื่อลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน (ก.พ.-เม.ย.) ทั้งนี้ มีผลหลังจากราชกิจจานุเบกษาประกาศ

 

        ปัจจุบันกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลในอัตรา 5.99 บาทต่อลิตร สามารถจัดเก็บรายได้ประมาณเดือนละ 1.2 หมื่นล้านบาท หรือปีละประมาณ 1.44 แสนล้านบาท จากการใช้น้ำมันประมาณ 2 พันล้านลิตรต่อเดือน  การลดอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซลลง 3 บาท หรือประมาณครึ่งหนึ่ง รัฐจะสูญเสียรายได้เดือนละ 6 พันล้านบาท รวม 3 เดือนเป็นเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท

        กลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุก เคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐลดราคาน้ำมันดีเซลเหลือลิตรละ 25 บาท  มาตั้งแต่ปลายปี 2564 มีมาต่อเนื่อง นับแต่ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวเป็นขา จากการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักหลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ขณะที่รัฐบาลยืนยันดูแลราคาน้ำมันดีเซลที่ไม่เกินลิตรละ 30 บาท โดยไฟเขียวขยายวงเงินกู้ให้กองทุนน้ำมันอีก 3 หมื่นล้านไว้รองรับ แต่ราคาน้ำมันตลาดโลกที่พุ่งสูงต่อเนื่องจนเวลานี้ใกล้แตะ  ระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เกินกำลังกองทุนน้ำมัน จนต้องยอมหั่นเนื้อลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาทดังกล่าว

 

        ผลจากการลดภาษีน้ำมันดีเซลดังกล่าว ไม่ทำให้ลดราคารายปลีกน้ำมันดีเซลที่สถานีบริการน้ำมันลงลิตรละ 3 บาท เพราะราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 29.98 บาทนั้น มีราคาขายแท้จริงที่สูงกว่า แต่กดราคาไว้โดยใช้กองทุนน้ำมันมาแบกไว้ส่วนหนึ่ง การลดภาษีดีเซลอาจเพียงช่วยลดภาระกองทุนให้น้อยลงบ้าง หรือมีผลให้ลดราคาดีเซลลงได้อีกเล็กน้อย เพื่อให้รัฐบาลตรึงน้ำมันดีเซลไว้ที่ไม่เกินลิตรละ 30 บาทไว้ต่อไป เป็นการช่วยเหลือผู้ใช้รถเครื่องยนต์ดีเซลโดยถ้วนหน้า

ก่อนหน้านี้รัฐบาลบอกว่าจะพิจารณาชุดมาตรการด้านพลังงานเพื่อดูแลค่าครองชีพให้ประชาชน แต่การลดภาษีเฉพาะน้ำมันดีเซล เป็นประโยชน์เฉพาะกลุ่มผู้ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งมิใช่มีเพียงผู้ใช้รถบรรทุกหรือรถเพื่อการพาณิชย์เท่านั้น การบิดเบือนโครงสร้างราคาอุดหนุนแต่น้ำมันดีเซล ทำให้เวลานี้มีรถยนต์นั่งหรือกระทั่งรถหรูราคาแพงหันมาใช้เครื่องยนต์ดีเซลมากขึ้นเรื่อย ๆ หากจะอุดหนุนกิจการด้านการผลิตอาจให้ในรูปคูปองจะตรงจุดกว่า

 

นอกจากนี้ยังไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ใช้รถเครื่องยนต์เบนซิน ซึ่งมิใช่เฉพาะของผู้มีรายได้สูงเท่านั้น หลายคนจำเป็นต้องใช้เพื่อการเดินทางไปประกอบกิจการงานที่ระบบขนส่งมวลชนยังไม่เอื้อ หรือมอเตอร์ไซค์หลายสิบล้านคันที่ใช้น้ำมันเบนซิน ที่เวลานี้ต้องแบกภาระจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ราว 1 บาทต่อลิตร เพื่อนำไปอุดหนุนราคาให้กับกลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซล หากลดภาษีเบนซินลงมาได้ จะเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินได้ระดับหนึ่ง

 

ที่สำคัญอีกประการ รัฐบาลต้องเข้มงวดการบริหารจัดการ ลงไปการดูแลค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันเบนซิน ที่ค่าการตลาดอยู่ในระดับเกือบ 3 บาทต่อลิตร บางวันอย่างแก๊สโซฮอล์ อี 20 กระโดดขึ้นไปกว่า 4 บาทต่อลิตร จากระดับเหมาะสมที่ไม่ควรเกิน 2 บาทต่อลิตร เพื่อช่วยลดภาระค่าพลังงานให้คนไทยได้กันอย่างถ้วนหน้า