นโยบาย“กินได้” “รัฐบาลลุงตู่”จัดหนัก

25 ม.ค. 2565 | 18:26 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ม.ค. 2565 | 01:31 น.
1.6 k

ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ใครที่ติดตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาตลอดระยะเวลา 7 ปี 8 เดือน จะพบว่า กว่าที่ ครม.ลุงตู่จะพิจารณาอนุมัติโครงการที่ใช้เงินลงไปในมือประชาชนแต่ละครานั้นถือว่ายากมาก อาจด้วยวิธีการบริหารยึดโยงกับ “ระบอบราชการ” ทำให้การพิจารณาค่อนข้างรอบคอบ เข้าข่ายตระหนี่ถี่ถ้วนจนบางคราวอาจล่าช้าอืดอาดยืดยาดไป...เมื่อเทียบเคียงกับรัฐบาลอื่นๆ
 

แต่ในคราการประชุม ครม. วันที่ 24 มกราคม 2565  รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ใจใหญ่เป็นพิเศษ อนุมัติแผนการใช้งบประมาณ ผ่านนโยบาย โครงการสำคัญ “ชนิดกินได้-หลายคนเฝ้ารอ” ไปถึงมือประชาชน จัดหนักโดนใจประชาชีแบบ “สายฟ้าแล่บ”

เสมือนประหนึ่งว่า ครม.ลุงตู่เทกระจาดซื้อใจประชาชนเลยทีเดียว ขอรับ!
 

ผมไล่ให้เห็นภาพ 1.อนุมัติโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ของกระทรวงการคลังวงเงินมหึมา 34,800 ล้านบาท โดยให้ใช้เงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 3 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564 เพื่อสนับสนุนเงินค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไปและบริการนวด สปา ทำผม ทำเล็บ และบริการขนส่งสาธารณะจากภาครัฐ ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกินคนละ 1,200 บาท  ตลอดระยะเวลา3 เดือน นับตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์-30 เมษายน 2565

อันว่า โครงการคนละครึ่งของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์นั้น สรรสร้างขึ้นมา ถือว่าเป็นนวัตกรรมทางนโยบายการเงิน การคลังที่ “เลอเลิศ” ชนิดที่ต่างประเทศต้องส่งทีมมาศึกษาในแง่ขอ “Public Policy-นโยบายสาธารณะ”เพราะเป็นนโนยายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นการดึงเงินจากกระเป๋าของประชาชน มาร่วมใช้จ่ายกับรัฐบาลในการกอบกู้พยุงเศรษฐกิจในระบบอย่างแยบยลที่สุด
 

ถึงตอนนี้ผู้ได้สิทธิในโครงการ “คนละครึ่งเฟส 3” มีถึง 27.98 ล้านคน
 

ขณะที่ยอดการใช้จ่ายสะสมรวม 223,921.8 ล้านบาท เป็นยอดเงินที่ประชาชนควักเงินจากกระเป๋ามาร่วมใช้จ่ายด้วยสูงถึง 113,936 ล้านบาท รัฐร่วมจ่ายสะสมให้ 109,985 ล้านบาท ยอดสองก้อนนั้นทะลุ  223,921 ล้านบาท ที่มีการนำไปจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้ากัน
 

ผมไปตรวจสอบข้อมูลภาครัฐแล้วพบว่าเงินก้อนนี้มีการนำไปใช้จ่ายอะไรกันบ้าง พบรายการที่น่าสนใจดังนี้ 


ยอดใช้จ่ายสะสมแบ่งตามประเภทตามร้านค้า พบว่านำไปซื้อสินค้าในร้านอาหารและเครื่องดื่ม 88,712.9 ล้านบาท ซื้อของในร้านธงฟ้า 36,037 ล้านบาท ซื้อของตามร้าน OTOP ที่จำหน่ายในสถานที่ต่างๆ 10,843.2 ล้านบาท ซื้อสินค้าตามร้านค้าทั่วไป 84,160.7 ล้านบาท ใช้จ่ายในร้านบริการ 3,900.1 ล้านบาท ใช้จ่ายในกิจการขนส่งสาธารณะ 268 ล้านบาท
 

การใช้จ่ายคนละครึ่งผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มยอดสะสมประมาณ 2,887.8 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนใช้จ่าย 1,491.9 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 1,395.9 ล้านบาท 
 

ถ้าเม็ดเงิน 223,921 ล้านบาท มีการนำไปซื้อสินค้าแล้วเสียภาษีแวต 7% เท่ากับว่า รัฐบาลได้เงินกลับมาในรูปภาษีถึง 15,674 ล้านบาท 
 

แต่ถ้ามีการนำไปซื้อสินค้าและบริการกันตามรอบการหมุนของปริมาณเงินในการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตไปยังซัพพลายเออร์ ผู้ขายวัตถุดิบแล้วหากมีการหมุนของปริมาณเงิน 5 รอบ เท่ากับว่า รัฐบาลมีเงินคืนจากการเสียภาษีเข้ากระเป๋า 78,372 ล้านบาท...อลังฯ มากขอบอก...
 

เปิดเฟส 4 คนละครึ่งรอบนี้สมทบไปอีก 34,800 ล้านบาท ถ้าประชาชนสมทบในอัตราเดียวกันเท่ากับว่า จะมีเงินหมุนในระบบ 69,600 ล้านบาทเชียวครับ ภาษีแวตเก็บรอบเดียว 4,872 ล้านบาท ถ้า 5 รอบเท่ากับ 24,360 ล้านบาทเชียวขอรับนายท่าน....ยุทธวิธีแยบยลเหลือหลาย
 

นโยบายกินได้คนละครึ่งที่รัฐบาลลุงตู่จัดให้ อาจถึงมือผู้ใช้จ่ายและร้านค้ารายย่อย ผู้ผลิตสินค้าเป็นหลัก แต่สำหรับผู้ประกอบการนั้นต้องถือว่า มติครม.เรื่องที่ 2 ว่าด้วยการลดภาษีครั้งใหญ่ให้ผู้ประกอบการทั่วไปรวม 12 รายการที่ดำเนินตามนโยบายรัฐบาลในห้วงวิกฤตการแพร่ระบาด กำลังกลายเป็นการ “หว่านเมล็ดพันธุ์” ลงไปในห้วงที่พวกเขาเหล่านั้นกำลังโหยหาเลยทีเดียว
 

นโยบายที่กินได้ ที่ครม.ลุงตู่มีมติอนุมัติ ร่างกฎหมายการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินเยียวยา เงินช่วยเหลือ เงินสนับสนุน เงินอุดหนุน และประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากโครงการภาครัฐอันเนื่องมาจากการบรรเทา ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวม 2 ฉบับ นี่แหละที่ถือว่าเป็นน้ำทิพย์ชะโลมใจ ปะพรมไปยังทุกอณู
 

มาดูกันจะจะครับ 1.ร่าง พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป. รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้น รัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากโครงการของภาครัฐ ได้แก่ 
 

*เงินเยียวยาที่ได้รับตามโครงการเยียวยานายจ้างและ ผู้ประกันตนตาม ม.33 แห่ง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 33 ในกิจการ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 
 

*เงินอุดหนุนที่ได้รับตามโครงการส่งเสริมและรักษาระดับ การจ้างงานในธุรกิจ SMEs ของกรมการจัดหางาน โดยบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องไม่นำรายจ่ายที่จ่ายจากเงินอุดหนุนตาม โครงการดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 
 

2.ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความใน ป. รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ให้เงินได้ที่ผู้มีเงินได้ได้รับเป็นเงินเยียวยา เงินช่วยเหลือ เงินสนับสนุน เงินอุดหนุน หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากโครงการของภาครัฐเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษี 2564 ได้แก่ 
 

*เงินได้ที่ได้รับเป็นค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว และค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินตามโครงการเราเที่ยวด้วยกัน
 

*เงินได้ที่อาสาสมัครสาธารณสุข อาสาสมัคร กทม. และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ได้รับเป็นค่าซื้อแพ็กเกจทัวร์จากผู้ประกอบการนำเที่ยว ตามโครงการกำลังใจ
 

*เงินได้ที่ได้ รับเป็นค่าเดินทางและค่าซื้อแพ็กเกจทัวร์ จากผู้ประกอบการนำเที่ยวในลักษณะร่วมจ่าย (Co-pay) ตามโครงการทัวร์เที่ยวไทย
 *เงินได้ที่ได้รับสำหรับค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าและค่าซื้อ สินค้าหรือบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ตามโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3
 

*เงินได้ที่ได้รับสำหรับค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าและค่าซื้อสินค้า หรือบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 เฉพาะผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษตามโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ 
 

*เงินได้ที่ได้รับเป็นค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม และค่าซื้อสินค้าอื่น ที่ได้ใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ ตามโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 1-2-3 
 

*เงินได้ที่ได้รับในรูปของ e-Voucher เป็นค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม หรือค่าสินค้าหรือบริการตามโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้
 

*เงินได้ที่ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐและไม่เป็น ผู้ประกันตนตาม ม.33 แห่ง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. ได้รับ เป็นค่าครองชีพตามโครงการเราชนะ 
 

*เงินได้ที่ผู้ประกันตนตาม ม.33 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. ได้รับตามโครงการ ม.33 เรารักกัน
 

อะร้าอะแหล่มเชียวครับ สำหรับนโยบายที่ประชาชนกินได้รอบนี้ ว่ากันว่า การยกเว้นภาษีชุดนี้ช่วยผู้ประกอบการและประชาชนได้หลายล้านคนทีเดียว ขณะที่เงินภาษีที่รัฐพึงได้จากการยกเว้นภาษีจะหายไปราว ราว 31,979  ล้านบาท


นโยบายกล้าได้กล้าเสีย 2 ชุด ที่ทำคลอดออกมาคิดเป็นเม็ดเงินก้อนแรก 34,800 ล้านบาท กับชุดมาตรการภาษีอีก 31,979 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 66,779 ล้านบาทรอบนี้ถือเป็นนโยบายกินได้จริงๆ 
 

ปรบมือให้กับวิธีคิดวิธีการจัดการของรัฐบาลลุงตู่กันสักทีเถอะครับ...นานๆ ที มีดีให้เห็น...