ปัจจัยเสี่ยง ทุบซ้ำเศรษฐกิจ

09 ต.ค. 2564 | 06:30 น.
1.2 k

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ

หลายฝ่ายออกมาคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวในช่วงสุดท้ายของปีนี้ และจะส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 2564 ขยายตัวได้ราว 1-1.5% จากการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง และจากการคลายล็อกดาวน์ เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่ 47 จังหวัด และจำนวนการฉีดวัคซีนที่มากขึ้น ที่รัฐบาลมีแผนจะฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ของจำนวนประชากรภายในเดือนธันวาคมนี้
 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และมีท่าทีว่าจะกลับมาวิกฤติอีกครั้ง หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ เริ่มกลับมาทะลุ 1 หมื่นรายต่อวัน และอาจจะนำไปสู่การระบาดในระลอกที่ 4 ได้อีก ที่จะส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เป็นไปได้ยาก 
 

ยังไม่รวมปัจจัยเสี่ยงที่จะมาทุบซ้ำการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ นอกเหนือจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว ก็คงหนีไม่พ้นปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ พืชผลทางการเกษตรเสียหายเป็นจำนวนมากหลายล้านไร่ รวมทั้งภาคธุรกิจต่างๆ หยุดชะงัก เบื้องต้นมีการประเมินความเสียหายแล้วหลายหมื่นล้านบาท ที่กำลังรอรัฐบาลเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบ และกำลังรอว่าพื้นที่น้ำท่วมจะขยายวงกว้างไปมากน้อยเพียงใด สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศมากน้อยแค่ไหน

อีกปัจจัยเป็นเรื่องของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก หลังผลการประชุมของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (โอเปกพลัส) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่ผ่านมา ยังคงปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพียง 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ตามแผนเดิมที่ได้วางไว้ก่อนหน้า แม้ว่าผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา และอินเดีย จะออกมาเรียกร้องให้กลุ่มโอเปกพลัส ปรับเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นกว่าแผนที่วางไว้ เพื่อชะลอการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน ในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังจะฟื้นตัว
 

ได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับตัวขึ้นไปแตะระดับ 79 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สูงสุดนับตั้งแต่ตุลาคม 2557 ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี ที่ระดับ 82.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล รวมถึงน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น มีผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้นมา เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่จะฉุดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อที่สูงมากขึ้น ราคาสินค้าแพง ต้นทุนการผลิต ขนส่งสินค้ามีราคาสูงขึ้น 
 

มีการประเมินว่า จากการคลายล็อกดาวน์ ให้ประเภทกิจการต่างๆ กลับมาดำเนินการได้เกือบปกติ ประชาชนออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น การเดินทางข้ามจังหวัดได้สะดวกขึ้น อาจจะทำให้เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอก 4 อีกได้ และปัญหาน้ำท่วมที่ขยายวงกว้างมากขึ้น จากพายุต่างๆ ที่กำลังจะเข้ามาอีก รวมถึงปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นนี้ จะทำให้คนไทยลดการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงไฮซีชั่นนี้ลงไป เพื่อลดค่าใช้จ่ายจากกราคาน้ำมันที่สูงขึ้น 
 

ทั้ง 3 สถานการณ์นี้ จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะมีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ว่าจะสามารถขยายตัวได้ตามที่มีการคาดการณ์ไว้หรือไม่ เพราะแค่การระบาดไวรัสโควิด-19 ภาวะเศรษฐกิจไทยก็แย่อยู่แล้ว เมื่อมาประสบกับภาวะน้ำท่วมและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมาทุบซ้ำอีก เศรษฐกิจไทยที่จะกลับมาฟื้นตัวคงเป็นไปได้ยากแล้ว