สู่มิติ “สังคม-สิ่งแวดล้อม” ขอบฟ้าใหม่“แบงก์ชาติ”

02 ต.ค. 2564 | 06:35 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2564 | 23:18 น.

บทบรรณาธิการ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานสัมมนาประจำปี 2021 เรื่อง สร้างภูมิคุ้มกันผลักดันเศรษฐกิจไทย เมื่อ 30 ก.ย. 2564 ระบุ ปีนี้เป็นปีที่ท้าทายยิ่ง นอกจากเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรงจากเชื้อโควิด-19 แล้ว ยังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเปลี่ยนแปลงโลกหลายมิติ ทั้งเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น การก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย ภูมิรัฐศาสตร์โลก และภาวะโลกรวน หรือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกที่ก่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติหลากรูปแบบ 
 

คลื่นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงสาดซัดประเทศไทยให้ซวดเซ สะท้อนความเปราะบางที่ซุกซ่อนอยู่ให้เห็นได้ชัดยิ่งขึ้นว่า พื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยที่เราเชื่อมั่นว่าแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นความยั่งยืนทางการคลัง ความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน และความเข้มแข็งของดุลการชำระเงินนั้น ไม่เพียงพอรับความเสี่ยงใหม่ ๆ ในมิติที่หลากหลายอื่น ๆ  ให้ก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคงยั่งยืนได้ หรือเรียกได้ว่า “ภูมิคุ้มกันพร่อง” 

ธปท.ชี้ว่า จากวิกฤตโควิด-19 สะท้อนว่าสังคมไทยเปราะบางอย่างยิ่ง ขาดความสามารถทั้งการหลีกเลี่ยงผลกระทบ จากที่พึ่งพาต่างประเทศมากเกินทั้งทุน เทคโนโลยี ตลาด แรงงาน ขาดสมรรถนะที่จะรับมือผลกระทบ ตลอดจนขาดความยืดหยุ่นที่จะฟื้นตัวจากวิกฤติ จำต้องขยายนิยามของคำว่า “เสถียรภาพ” ในมุมมองที่กว้างและครอบคลุมปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือจากด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่นับวันจะมีความสำคัญและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย
 

เศรษฐกิจไทยมีขีดจำกัดในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ  จากโครงสร้างที่มีภาวะเหลื่อมล้ำสูง มีภาคเศรษฐกิจนอกระบบใหญ่ ซึ่งเป็นที่รวมของกลุ่มเประบางในสังคม เช่น ครัวเรือนยากจน แรงงานที่เพิ่งเรียนจบ (first jobbers) แรงงานอิสระที่ไม่ได้รับค่าจ้าง หรือได้ค่าจ้างเป็นรายวัน และธุรกิจ SMEs ที่มีจำนวนมากและมักอยู่นอกระบบ ในวิกฤติยังถูกซ้ำเติมด้วยภาวะแตกขั้วทางความคิด ที่บั่นทอนความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ซึ่งเป็นรากฐานของเครือข่ายทางสังคม (social networks) ที่งานวิจัยทั่วโลกชี้ว่า มีบทบาทช่วยประคองกันให้ผ่านวิกฤติไปได้

ธปท.เสนอแนวทางสร้างภูมิคุ้มกันสังคมไทย ให้ต้องมีการบริหารความเสี่ยงภาพรวมของประเทศอย่างบูรณาการ พิจารณาฉากทัศน์ที่แม้โอกาสเกิดต่ำแต่เสียหายสูงด้วยปรับโครงสร้างสู่เศรษฐกิจยิ่งยืน พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง  มีการกระจายความเสี่ยงทั้งประเภทและพื้นที่ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ดึงเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบมากขึ้นลดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม สร้างโครงข่ายความคุ้มครอง (safety nets) ในทุกระดับ ลดการเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจจากแรงกระทบวิกฤติ เพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจฟื้นตัวโดยเร็ว
 

เพื่อเสริมสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ธปท.ตั้งเป้าดำเนินโยบายรักษาเสถียรภาพทางการเงินและระบบการเงิน เพื่อเลี่ยงหรือลดผลกระทบความเปลี่ยนแปลงทางลบ ส่งเสริมให้สังคมเข้าใจทางการเงินและเข้าถึงมากขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างนิเวศให้เศรษฐกิจไทยมุ่งความยั่งยืน กำหนดนิยาม จัดหมวดหมู่ให้เป็นมาตรฐาน จูงใจเอกชนปรับตัวสู่เศรษฐกิจยั่งยืน
 

นับเป็นมิติใหม่ของแบงก์ชาติ จากที่เพ่งเล็งเชิงมหภาคของระบบเศรษฐกิจแล้ว ได้เพิ่มรายละเอียดสู่มิติเชิงสังคม-สิ่งแวดล้อม ให้เห็น “ตัวคน” ที่ขับเคลื่อนอยู่ในระบบ เพื่อให้กำหนดนโยบายที่ลงถึงคนเล็กคนน้อยที่ร่วมขับเคลื่อนสังคมไทย