ทบทวนมติ กบง. ลดมาตรฐานไบโอดีเซลสู่บี6

06 ต.ค. 2564 | 14:30 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ต.ค. 2564 | 21:25 น.
1.7 k

บทบรรณาธิการ

คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบให้ปรับลดสัดส่วนไบโอดีเซลน้ำมันดีเซลหมุนเร็วให้มีสัดส่วนจากบี 10, บี 7 เหลือสัดส่วนเดียวเป็นน้ำมันไบโอดีเซลบี 6 โดยกรมธุรกิจพลังงานจะมีการออกประกาศกำหนดลักษณะคุณภาพของน้ำมันดีเซลเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.-31ต.ค.64 โดยมีเป้าประสงค์ลดน้ำมันฐานให้การผสมเหลือ 6% เพื่อให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วยเหลือน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร
 

การปรับลดมาตรฐานน้ำมันไบโอดีเซลไปสู่บี 6 ดังกล่าว กระทรวงพลังงานอาจเล็งผลเลิศ ในความพยายามช่วยลดราคาน้ำมันดีเซล ที่สถานการณ์กำลังพุ่งสูงและมีแนวโน้มยืนราคาสูงไปต่อเนื่องในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ทั้งจากความต้องการของตลาดโลกที่มีการบริโภคน้ำมันเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว ประกอบกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันโอเปค เพิ่มกำลังการผลิตน้อยกว่าเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ เป็นปัจจัยให้ราคาน้ำมันทะยานสูงขึ้น ซึ่งกลับมากดดันประเทศผู้นำเข้าน้ำมันอย่างประเทศไทย
 

ผลจากนโยบายปรับมาตรฐานน้ำมันไบโอดีเซล บี 6 ทำให้สามารถลดราคาน้ำมันดีเซลลง 1 บาทโดยราคาปลีกจะไปอยู่ประมาณ 28 บาทเศษต่อลิตรไม่ถึง 30 บาทต่อลิตร ตามเป้าที่รัฐบาลวางไว้เพื่อไม่ให้กระทบกับราคาสินค้า เงินเฟ้อ ที่ตั้งฐานคำนวนราคาต้นทุนกันไว้ที่น้ำมันดีเซลประมาณ 30 บาทต่อลิตร โดยปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มบี100 ไปผสมลดลง 1 ล้านลิตรต่อวันจากเดิม 4 ล้านลิตรต่อวัน เหลือเพียง 3 ล้านลิตรต่อวัน
 

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาด้วยการปรับมาตรฐานสูตรผสมไบโอดีเซลดังกล่าว จะส่งผลกระทบไปยังเกษตรกรชาวสวนปาล์ม แม้ระยะสั้นราคาผลปาล์มสดและน้ำมันปาล์มสกัด ยังไม่ลดลงมากนักและไม่มีผลกระทบทันที แต่ในระยะถัดไปจะส่งผลสะท้อนไปยังราคาแน่นอน โดยเฉพาะหากไม่สามารถระบายออกไปยังตลาดต่างประเทศเป็นการทดแทนได้ทันท่วงที สุดท้ายภาระอาจตกไปอยู่กับเกษตรกรชาวสวนปาล์มที่ต้องขายผลผลิตในราคาที่ต่ำลง ไม่ต่างจากรัฐบาลใช้มาตรการนี้เพื่อไปทุบราคาปาล์มของเกษตรกร
 

รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานควรทบทวนมติกบง. ในการลดมาตรฐานไบโอดีเซลไปสู่บี 6 ซึ่งนอกจากสร้างความสับสนในมาตรฐานการใช้ที่ต้องกลับไปกลับมาแล้ว ยังไปกระทบกับเกษตรกร ควรแสวงหากลไกอื่นในการช่วยลดราคาดีเซล โดยพิจารณาตลอดสายการผลิตของน้ำมันดีเซล ที่มีช่องหรือกลไกให้สามารถดำเนินการได้ มากกว่าวิธีการเลือกทุบราคาปาล์มของเกษตรกร ซึ่งจะมีผลเสียในระยะยาวในการยกระดับและสร้างเสถียรภาพ หากถูกทุบลงไปแล้ว