รัฐบาลลุงตู่..กู้แล้วงัย! เอารายได้จากไหนให้ “รอด”

22 ก.ย. 2564 | 13:40 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ย. 2564 | 20:48 น.
716

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย... บากบั่น บุญเลิศ

ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของ “รัฐบาลลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ว่า นี่เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่รัฐบาลประกาศขยายเพดานการก่อหนี้ภาครัฐขึ้นมาจากเดิม 60% ขึ้นมาเป็น 70% เพื่อเปิดช่องให้มีการกู้เงินมาฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นแล้ว ไม่ถูกด่า  มีแต่คนสนับสนุนเห็นด้วยในการดำเนิน 
 

ประหลาดใจกันบ้างหรือไม่ว่า ทำไมผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา และผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม ล้วนเห็นด้วยกับการเพิ่มเพดานการกู้ยืมเงินของรัฐบาลลุงตู่...
 

ทั้งๆ ที่ปกติแล้ววาทกรรม “รัฐบาลดีแต่กู้-นักกู้สิบทิศ” มักจะถาโถมจากนักการเมืองเข้าใส่รัฐบาลแบบจมเขี้ยวแน่นอน เพราะนี่คือจุดอ่อนที่ใครก็ตามสามารถฟัดได้จั๋งหนับ แต่ตอนนี้ เงียบกริ๊บ...
 

นักการเมืองหน้าใหม่ เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย แม้จะออกมาขย่ม แต่ไม่ได้คัดค้านการขยับเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70%  บอกได้แต่เพียงว่า พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวดำเนินการได้ช้า เพราะไทยเจอการระบาดหนักทั้งระลอก 3 และ 4 เจอการล็อกดาวน์ที่เข้มข้น เจอเคอร์ฟิว เจอธุรกิจล้มละลาย แต่การใช้เงินกู้นี้เพื่อประคองเศรษฐกิจกลับเหมือนอยู่คนละโลก เชื่องช้า อืดอาด เสมือนใช้จ่ายงบประมาณปกติ 
 

การขยับเพดานหนี้ เหมือนเป็นการขยายความล้มเหลวซ้ำซาก พรรคเพื่อไทยเข้าใจดีถึงความจำเป็นต้องใช้เงินในการประคองเศรษฐกิจ แต่ต้องเข้าใจเช่นเดียวกันว่า ความจำเป็นของการต้องใช้เงินเพิ่มนี้ ทั้งหมดเกิดจากความล้มเหลวของการใช้เงินกู้ 2 ก้อนที่ผ่านมา หากใช้ให้ดี เงินกู้ 2 ก้อนนั้น มีขนาดที่เหลือเฟือ เราจะไม่เดินมาสู่จุดนี้ 


 

“ความล้มเหลวของเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ตามด้วย 5 แสนล้านบาท และวันนี้เปิดช่องให้รัฐบาลกู้เพิ่มได้อีกราว 1.2 ล้านล้านบาท ไม่น่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ตลอด 7 ปีที่ผ่าน รัฐบาลสร้างหนี้ ไม่สร้างรายได้ หนี้โตเร็วกว่ารายได้ประเทศถึงกว่า 2 เท่าต่อปีโดยเฉลี่ย การขยายเพดานครั้งนี้ เป็นการเปิดช่องให้สร้างหนี้ที่ไม่สร้างรายได้อย่างก้าวกระโดด”เผ่าภูมิประเมินเช่นนั้น...
 

ขนาด คุณหญิงหน่อย-สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ตอนนี้กำลังเดินสายทางการเมืองอย่างเต็มที่เพื่อทำ “พรรคไทยสร้างไทย” ให้เป็นรูปธรรมยังออกมาเห็นดีเห็นงาม ก่อนจะเสนอแง่คิดมุมมองไปยังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ให้ฉุกคิด..ขณะนี้มีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงิน เพื่อรองรับวิกฤติเศรษฐกิจ ของประเทศจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 
 

“แต่ที่สำคัญ ต้องมีแผนการใช้เงินจากการกู้ยืมเพิ่มดังกล่าว ให้เกิดประสิทธิผล และเกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างสูงสุด สามารถสร้างกำลังซื้อให้กลับคืนมาอย่างแท้จริง มิใช่การหว่านแจกเงินแบบโปรยทานที่ไร้ประสิทธิภาพ”
 

รัฐบาลจึงควรดำเนินการ ดังนี้ 
(1) นำไปใช้ในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อน อย่างเพียงพอที่จะทำให้เกิดกำลังซื้ออย่างมีนัยสำคัญ เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายใน 
(2) เยียวยาธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ ขาดรายได้ จากมาตราการของรัฐ พร้อมสนับสนุนเงินทุน และส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยให้มีทุนเพียงพอ ที่จะกลับมาประกอบการค้าได้ใหม่ได้
(3) ยกระดับราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายน ผลผลิตข้าวเปลือกนาปีประมาณ 20 ล้านตันข้าวเปลือกจะเริ่มออกสู่ตลาด จึงต้องเร่งยกระดับราคา เพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มกำลังซื้อให้กับเกษตรกร เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว อันจะทำให้ประชาชน และธุรกิจต่างๆ ฟื้นตัวได้ 

ผมถึงบอกว่า นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ “รัฐบาลลุงตู่” หาช่องในการกู้ยืมเงินมาใช้อีกก้อนโตแต่ไม่มีใครกล้าคัดค้าน..
 

ทำไมผมถึงบอกว่า เปิดช่องให้มีการกู้หนี้อีกก้อนโต...ละครับพี่น้อง
 

เพราะถ้าพิจารณาจากฐานตัวเลขจีดีพีของประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2564 นั้น ได้ขยับขึ้นมายืนที่ระดับ 16.03 ล้านล้านบาทแล้ว หากนำหนี้สาธารณะคงค้างราว 8,909,063 ล้านบาทมาบวกลบคูณหาร  จะพบว่า หนี้สาธารณะยืนอยู่ที่ระดับ 55.59% ของจีดีพี 
 

หากมีการขยายเพดานหนี้สาธารณะขึ้นเป็น 70% ของจีดีพี นั่นหมายถึงว่า จะทำให้เพดานการก่อหนี้ของประเทศไทยขึ้นมายืนอยู่ได้ที่ระดับ 11,218,933  ล้านบาท 
 

นั่นหมายความว่า จะทำให้รัฐบาลมีช่องทางกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อมาใช้แก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิดอีกประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท เมื่อนำมาหักจาก 8.9 ล้านล้านบาท 
 

แต่หากมีการนำหนี้เงินกู้ที่ออกพ.ร.ก.ไปก่อนหน้านี้ 500,000 ล้านบาท มารวมเข้าไปด้วยเท่ากับว่าวงเงินที่จะกู้มาได้อีกอย่างน้อย 1.5 ล้านล้านบาท
 

แต่หากไม่มีการขยับเพดานเงินกู้ขึ้นมานั้น “ประเทศไทย” จะเจอบ่วงรัดคอทันที

บ่วงรัดคอมาจากไหน มาจาก “ความจริงที่รู้กันอยู่แต่ไม่มีใครพูด” ว่า ขณะนี้สัดส่วนการก่อหนี้ของประเทศไทยตกอยู่นภาวะจนตรอก
 

จนตรอกเพราะในปีงบประมาณ 2565 ที่รัฐบาลตั้งบไว้ 3.1 ล้านล้านบาท รัฐบาลมีการกู้ยืมชดเชยงบประมาณขาดดุลแบบชนเพดานแล้วคือ 700,000 ล้านบาท คิดเป็น 22.6% ถ้าในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าก็จอดสนิทครับ...
 

ไม่สามารถกู้ยืมเงินมาปิดหีบงบประมาณได้อีกแม้แต่บาทเดียว...นี่จึงเป็นเหตุผลอัหนึ่งที่แฝงเร้นซ่อนอยู่
 

ผนวกกับข้อมูลคามจริงของประเทศไทยที่ทุกคนเผชิญอยู่คือ เศรษฐกิจขยับไม่ได้ ระยะ2 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง และปีนี้ส่อเค้าว่าจะหนักอีกเช่นกัน ภาวะเช่นนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในประเทศไม่มีขีดคามสามารถในการทำมาหาได้ หรือ มีกำไรมาจ่ายภาษี
 

ชุดข้อมูลที่ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุทธิ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาชี้แจงกับสื่อมวลชนในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 นั่นคือความจริงที่สุดที่ผู้ดูแลตัวเลขทางเศรษฐกิจพึงออกมาเปิดเผยให้สาธารณะชนได้ตระหนักแล้ว...
 

ผู้ว่าฯ ธปท.บอกว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบของโควิด -19  ส่งผลต่อขนาดของรายได้ของประเทศที่หายไปกว่า 2.6 ล้านล้านบาท ผู้คนตกงานกว่า 3 ล้านคน หากนับตั้งแต่ช่วงปี 2563-2565 อันเป็นผลจากโควิด-19 ได้สร้าง “หลุมดำรายได้” ขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทย   
 

“หลุมดำรายได้ 2.6 ล้านล้านบาท” ที่หายไปนั้นมาจาก 3 กลุ่ม
 

กลุ่มแรก มาจากรายได้จากการจ้างงานทั้งระบบหายไปมากถึง 1.8 ล้านล้านบาท 
 

กลุ่มที่สอง มาจากรายได้จากนายจ้างและอาชีพอิสระหายไป 1.1 ล้านล้านบาท 
 

กลุ่มที่สาม มาจากรายได้ของลูกจ้างหายไป 7 แสนล้านบาท 
 

ผู้ว่าฯ ธปท.ประเมินว่า หากมองไปข้างหน้า เชื่อว่าการจ้างงานคงฟื้นตัวไม่เร็วนัก นั่นจะทำให้รายได้จากการจ้างงานในปี 2565 คาดว่าจะหายไปอีกราว 8 แสนล้านบาท  
 

ถ้ารวม 3 กลุ่มแรกกับรายได้ที่คาดว่าจะหายไปในปี 2565 นั้นหมายถึงว่า รายได้ของระบบเศรษฐกิจไทยจะหายไปใน “หลุมดำรายได้ราว 3.4 ล้านล้านบาท” มโหฬารอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
 

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ “ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ” ประเมินว่า จำนวนเม็ดเงินของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันคงไม่เพียงพอในการพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้ จึงจำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้นทางการคลังเพื่อช่วยให้รายได้และฐานะทางการเงินของประชาชนและ SMEs ให้กลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด และลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่จะกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจหลังโควิด
 

เศรษฐพุฒิ เสนอว่า “รัฐบาลต้องใช้ยาแรงตามขนาดของหลุมโดยการเติมเม็ดเงินท็อปอัพจากเดิมที่มีอยู่อีกอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7% ของจีดีพี ซึ่งการใส่เม็ดเงินเพิ่มเติม 1 ล้านล้านบาท จะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีวิ่งขึ้นจากปัจจุบันในระดับกว่า 50% ไปอยู่ที่ที่ประมาณ 70% ของจีดีพีในปี 2567 หลังจากนั้นจะทยอยลดลงตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะฟื้นตัวกลับมา เมื่อนั้น รัฐบาลควรปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% ขึ้นไปเป็น 10% เพราะทุก 1% จะทำให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 6 หมื่นล้านบาท”
 

แต่ผมว่ากว่าจะไปถึงวันนั้น คือทำอย่างไรในระยะปี 2564-2565 นี่แหละที่รัฐบาลจะหารายได้จากภาษีหลักของประเทศให้ได้ตามเป้าหมาย...
 

ซึ่งผมเชื่อว่า การจัดเก็บรายได้จะพลาดเป้าทุกรายการ ไม่ว่ากรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต แม้แต่เงินสมทบจากรัฐวิสาหกิจก็พลาดเป้า...เชื่อกระหม่อมของไอ้บากบั่นเถอะขรั่บ (ถ้าไม่เชื่อไปดูกราฟ)
 

ทางออกหนึ่งที่ต้องเร่งคือ จัดการทางภาษีกับบรรดาคนขี้โกงสิครับ...เอาการเอางานกับการเรียกเก็บภาษีคนแอบหนีภาษี มีรายได้ไม่สำแดง บริษัทที่แจ้งภาษีเท็จ มากลบรายได้ไม่เข้าเป้าหมายสิ...คนจะได้ชื่นชม ดีกว่ามาเน้น...รีดเลือดกับปู
 

อีกทางหนึ่งคือ ปฏิรูปภาษีทั้งระบบกันใหม่ ทำให้การจ่ายภาษีของทุกผู้ทุกนาม ทำได้ง่าย เป็นธรรม ใครมีรายได้ต้องจ่ายทันที แล้วค่อยมาเคลมภาษีคีนภายหลัง
 

ร้านค้า นิติบุคคลทุกราย ถ้าจะมีรายได้ต้องจดทะเบียนภาษี...
 

กล้าทำมั้ยละครับ!