ปีหน้าใครจะจ่ายภาษี... รัฐมนตรีคลังคิดหรือยัง?

15 ส.ค. 2564 | 08:35 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2564 | 08:35 น.
2.3 k

ปีหน้าใครจะจ่ายภาษี... รัฐมนตรีคลังคิดหรือยัง? : คอลัมน์เศรษฐกิจ...อีกนิด ก็หลักสี่(.ศูนย์). โดย ผศ.ดร.ศรายุทธ เรืองสุวรรณ คณะบริหารธุรกิจ ม.เกษตรศาสตร์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,705 หน้า 5 วันที่ 15 - 18 สิงหาคม 2564

ผลกระทบของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดรอบล่าสุดเล่นเอาหลายคนถึงกับไปไม่เป็นกันเลยทีเดียวแล้วก็กระทบกันทุกภาคส่วนจริงๆ ไล่ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ต้องเรียกว่า งานนี้รับโบนัสกันไปถ้วนหน้า ไม่ยกเว้นให้ใครเลย ความยาวนานของสถานการณ์ที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้วจนย่างเข้ากลางเดือนสิงหาคมปีนี้ ปาเข้าไปกว่าแปดเดือนแล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าว่า โรคโควิด-19 จะสิ้นสุดหรือแม้แต่จะชะลอตัว มิหนำซํ้า จำนวนผู้ป่วยใหม่ในแต่ละวันก็ดันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเสียด้วยแม้จะพักช่วงบ้างในบางวัน แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณว่าจะลดลงในเร็ววัน ความไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่นี่แหล่ะที่ทรมานใจหลายๆ คน โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เกลียดกลัวความไม่แน่นอนมากที่สุด

เรื่องที่น่ากลัวจริงๆ อาจจะเพิ่งเริ่มต้นขึ้นก็ได้ เพราะการระบาดรอบนี้กลายเป็นตัวจุดระเบิดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างชัดเจน นั่นคือ ผู้บริโภคเริ่มที่จะไม่แน่ใจในอนาคตของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการงานอาชีพ ความปลอดภัยในสุขภาพ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ความไม่แน่นอนทางการเมือง และความไม่มั่น ใจในรัฐบาล รวมไปถึงความพร้อมที่จะให้บริการ (Capacity) และคุณภาพ (Quality) ของระบบสาธารณสุขของประเทศที่จะรับมือกับโรคระบาด ความไม่แน่ใจย่อมนำไปสู่การชะลอการตัดสินใจจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค เพื่อที่จะเก็บไว้เป็นเงินออมยามฉุกเฉิน หรือเอาไว้ใช้จ่ายในภาวะคับขันจำเป็นจริงๆ

เหมือนเคราะห์ซํ้ากรรมซัดระบบเศรษฐกิจ มาตรการป้องกันและบรรเทาปัญหาโรคโควิด-19 ก็ปิดกั้น การทำมาหากินของภาคธุรกิจเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะมาตรการล็อคดาวน์ที่ทำให้ประชาชนต้องเก็บตัวอยู่ในบ้าน เช่น การห้ามเดินทางออกนอกเคหสถานในยามวิกาล หรือการเดินทางข้ามจังหวัดเป็นต้น ขณะที่หลายมาตรการก็เป็นมาตรการเชิงบังคับให้ประชาชนไม่ต้องออกจากบ้าน อาทิ การห้ามร้านอาหารหรือภัตตาคารให้บริการ ณ สถานที่ตั้ง หรือการปิดทำการของห้างสรรพสินค้า เป็นต้น มาตรการเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทห้างร้านตั้งแต่ระดับบรรษัทข้ามชาติไปจนร้านอาหารตาม สั่งของตาสีตาสา หากคิดถึงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่นักเรียนมัธยมต้นเขาเรียนกันก็จะเห็นว่า อุปสงค์ (Demand) ก็หดตัวลงจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่อุปทาน (Supply) ก็ถูกจำกัดปริมาณการเสนอขายโดยมาตรการภาครัฐ ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจส่วนรวมก็ย่อมจะลดน้อยถอยลงทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่ามิพักต้องสงสัย ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ คนที่เป็นรัฐบาลจะอยู่นิ่งเฉยอยู่ได้หรือ โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อ เสถียรภาพและความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

 

ปีหน้าใครจะจ่ายภาษี... รัฐมนตรีคลังคิดหรือยัง?

 

แต่รัฐมนตรีคลังย่อมต้องทราบดีว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยแตกต่างจากประเทศกำลังพัฒนาประเทศ อื่นๆ เพราะระบบเศรษฐกิจของเราเป็นระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพิงอุตสาหกรรมแบบเก่าเพื่อการส่งออกและการท่องเที่ยว นั่นคือ โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงเดินอยู่ในยุคของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและป้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานในต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งมูลค่าเพิ่มจากการผลิตมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากการเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคตแทบจะมองไม่เห็น และด้วยโครงสร้างแบบนี้เองที่ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในรอบสิบปีที่ผ่านมา (2553 – 2562 ซึ่งไม่นับรวมปีที่แล้วที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด) เติบโตเฉลี่ยเพียง 3.64% เท่านั้น และข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ คือ ประเทศไทยไม่มีผู้ประกอบการหรือธุรกิจที่เน้นเทคโนโลยีก้าวขึ้นสู่องค์กรชั้นนำของประเทศเลยแม้แต่รายเดียว ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มประเทศที่กำลังวิ่งไปตามการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution) ที่นำพาเอาเศรษฐกิจดิจิทัลให้กลายเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตปัจจัยใหม่ในโลกทุกวันนี้ ด้วยเหตุเพิ่มเติมนี้ ระบบเศรษฐกิจไทยก็เสมือนว่าเจอสองเด้ง ปัญหาที่ว่าแก้ไขยากแล้วกลับยิ่งแก้ไขยากขึ้นไปอีก แล้วรัฐมนตรีคลังคิดหนทางแก้ไขเอาไว้หรือยัง โดยเฉพาะปัญหาที่ท่านจะต้องเจอในปีหน้าหรือ 2564 ที่ว่าใครจะเป็นคนจ่ายภาษีให้ท่านในเมื่อวันนี้ทั้งประชาชนและองค์กรธุรกิจแทบจะยืนไม่ไหว และมีจำนวนไม่น้อยที่โบกมือลาไปเรียบร้อยแล้ว และท่านคิดจะทำการหรือแก้ไขประการใด

 

 

ปีหน้าใครจะจ่ายภาษี... รัฐมนตรีคลังคิดหรือยัง?

 

ข้อมูลสรุปจากรูปที่ 1 ก็ให้ความหมายบางประการที่น่าเป็นห่วงกล่าวคือ ภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี 2563 ซึ่งเป็นรายได้หล่อเลี้ยงงบประมาณของประเทศกลับลดลงอย่างมีสาระสำคัญในเชิงตัวเลข การลดลงดังกล่าวสะท้อนนัยที่ว่า ภาคธุรกิจเริ่มที่จะชะลอตัวและทำให้ฐานภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีลดลง ตัวเลขตัวนี้มิใช่ตัวเลขที่ผลักให้กรมสรรพากรออกไล่ล่านิติบุคคลเพื่อให้เสียภาษีเพิ่มเติมหรือเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่จริงๆ แล้วกลับเป็นข้อบ่งชี้ว่า ลูกค้าของกรมสรรพากรกำลังเกิดปัญหาไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง และพวกเขาก็กำลังต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่างหาก  

นอกจากนี้ ในปี 2564 สถานการณ์ก็ยิ่งชัดเจนขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของโรคระบาด ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในรอบ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 ลดลงจากปี 2563 หากคิดเต็มปี ดังที่แสดงไว้ในรูปที่ 2

 

ปีหน้าใครจะจ่ายภาษี... รัฐมนตรีคลังคิดหรือยัง?

 

ข้อมูลที่ปรากฏในรูปที่ 2 ก็ยิ่งตอกยํ้าข้อเท็จจริงที่ว่า ระบบเศรษฐกิจไทยกำลังเจอปัญหาว่าด้วยการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วจริงๆการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด และคาดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นตัวผลักดันการเติบโตทางด้านการลงทุน (Investment) และการส่งออก (Export) จะลุกลามไปถึงเครื่องยนต์ที่เหลืออีกสองตัว อันได้แก่ การบริโภคภาคเอกชน(Consumption) และการใช้จ่ายภาครัฐ(Government) ทั้งที่จริงๆ แล้ว ภาครัฐเองมิใช่หรือที่ถูกคาดหวังจากสาธารณชนว่า รัฐบาลจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ฉุดให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไป

 

ดังนั้น รัฐบาลและที่สำคัญ “รัฐมนตรีคลัง” มีทางเลือกอยู่ 2 แนวทางได้แก่ การปลุกเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวตั้งแต่วันนี้ เพื่อหล่อเลี้ยงฐานภาษีให้ยืนอยู่ได้ หรือจะปล่อยให้เป็นไปตามสถานการณ์ และใช้วิธีกู้ยืมมาเพื่อชดเชยงบประมาณขาดดุลในปี 2565 แต่สำหรับทางเลือกที่สองนั้นก็ดูจะเป็นการสบประมาทฝีมือของรัฐมนตรีคลังไปเสียหน่อย ด้วยเหตุนี้ ทางเลือกแรกก็น่าจะเป็นทางเลือกที่รัฐบาลจะเลือกและลงมือทำในทันที นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องประกาศอย่างชัดเจน มาตรการต่างๆ จะต้องครอบคลุมและทั่วถึงทุกภาคส่วนและตอบโจทย์การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือที่เราอาจจะเรียกว่า “แพคเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ” ก็ได้ การเลือกเป้าหมายการยิงกระสุนของรัฐบาลจะต้องเป็นการยิงเชิงกลยุทธ์ นั่นคือ ต้องหวังผลและสร้างผลกระทบ มิใช่กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งที่สุดท้ายมิได้ส่งผลที่มีสาระสำคัญอันใดเลย แม้โจทย์จะดูยากไปหน่อย แต่เชื่อเหลือเกินว่า การกู้เงินของรัฐบาลในวันนี้ และนำเงินไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะดีกว่าการกู้เงินในวันหน้าเพื่อมากลบการขาดดุลของงบประมาณประจำปี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐมนตรีคลังจะแสดงฝีมือให้เห็นเป็นที่ประจักษ์เสียที มิให้เสียชื่อว่าเป็นเทคโนแครตรุ่นท้ายๆ จากสภาพัฒน์ฯ