"ลุงตู่"กับตำแหน่งนายกฯ ที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย

11 ส.ค. 2564 | 12:08 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2564 | 20:30 น.
2.2 k

คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน โดย... ประพันธุ์ คูณมี

เป็นเพราะการออกข้อกำหนดโดยอาศัยความตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่29) พ่นพิษ หรือคิดโดยไม่รอบคอบของฝ่ายที่ปรึกษากฎหมายของนายกรัฐมนตรี ที่เสนอเรื่องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ลงนามประกาศ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ทำให้เรื่องนี้ต้องกลายเป็นเผือกร้อนในมือนายกฯ นำสู่ปัญหาทางกฎหมาย และปัญหาทางการเมือง อย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น และบานปลายไปถึงการสั่นคลอนต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะความประมาท
 

ด้วยข้อกำหนดเพียง 2 ข้อ ที่มีสาระสำคัญในการห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว..... และที่ให้อำนาจแก่ กสทช.ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ตามไอพี (IP address) ที่มีการเผยแพร่ข้อความตามข้อ 1. นั้นทันที ดังรายละเอียดของข้อกำหนดฉบับดังกล่าว ที่ประกาศในราชกิจจา ซึ่งท่านผู้อ่านและประชาชนสามารถหาอ่านรายละเอียดได้
 

ทันทีที่มีประกาศฉบับดังกล่าวบังคับใช้ สมาคมผู้สื่อข่าว ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์สำนักต่างๆ รวมถึงนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ จากทุกมหาวิทยาลัย ล้วนมีหนังสือและแถลงการณ์คัดค้านต่อการออกข้อกำหนดดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี โดยประณามและคัดค้านเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นการละเมิดและจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนและสื่อมวลชน เป็นการกระทำที่ละเมิดและผิดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ 
 

แต่ดูเหมือนรัฐบาลก็ยังคงเพิกเฉย ไม่คิดจะแก้ไข หรือ ยกเลิก ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลยังแสดงท่าทียืนยันที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวต่อไป จนเป็นเหตุให้บริษัท รีพอร์ตเตอร์ โปรดักชั่น จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจในด้านสื่อออนไลน์กับพวก ต้องนำเรื่องไปฟ้องเป็นคดีต่อศาลแพ่ง พร้อมกับยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉิน โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าว
 

2 สิงหาคม 2564 ศาลแพ่งรับคำฟ้องและไต่สวนคำร้องฯ โจทก์ และมีคำสั่งเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ว่า "ข้อกำหนดข้อ 1 ที่ห้ามเผยแพร่ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว มิได้จำกัดเฉพาะข้อความอันเป็นเท็จดังเหตุผล และความจำเป็นตามที่ระบุไว้ในการออกข้อกำหนดดังกล่าว ย่อมเป็นการริดรอนสิทธิ เสรีภาพ ของโจทก์ และประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 บัญญัติคุ้มครองไว้ ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ไม่มั่นใจในการแสดงความคิดเห็นและสื่อสารตามเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 34 วรรคหนึ่ง และ 35 วรรคหนึ่ง บัญญัติคุ้มครองไว้ นอกจากนี้ยังเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ไม่ต้องด้วยมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญ" 

ส่วนข้อกำหนดข้อ 2. ที่ให้อำนาจระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP address) ที่มีการเผยแพร่ข้อความ หรือ ข่าวสารในอินเทอร์เน็ตที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ ไม่ปรากฏว่า มาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดให้ดำเนินการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต จึงเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ...การปิดกั้นการสื่อสารของบุคคลและเป็นการปิดกั้นสุจริตชนผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารดังกล่าว ไม่ต้องด้วยมาตรา 36 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญ" 
 

รายละเอียดของคำสั่งศาลแพ่ง ปรากฎตามข่าวแจกสื่อมวลชนของศาลแพ่ง ที่ท่านผู้อ่านและประชาชนทั่วไป สามารถหาอ่านรายละเอียดได้ ที่กล่าวมาผู้เขียนเพียงแต่สรุปย่อในสาระสำคัญ
 

การที่ประชาชนนำเรื่องที่รัฐบาลออกข้อกำหนด หรือ คำสั่งลักษณะนี้ มาฟ้องต่อศาลแพ่งฐานกระทำผิด ละเมิด และขอให้เพิกถอนประกาศในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงและห้ามสลายการชุมนุม ในอดีตก็เคยมีมาก่อนแล้ว ดังตัวอย่างคดีหมายเลขดำที่ 275/2557 ระหว่าง นายถาวร เสนเนียม โจทก์ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี กับพวก จำเลย ซึ่งศาลแพ่งก็ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแก่ผู้ชุมนุมเช่นกัน กรณีจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น เพียงแต่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล มิได้นำมาพิจารณาก่อนจะออกข้อกำหนดเท่านั้น
 

สรุปบทเรียนจากเรื่องนี้ จึงเป็นอุทธาหรณ์ชี้ให้เห็นว่า การออกข้อกำหนดของนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้ เป็นการกระทำที่ศาลแพ่งเห็นว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญนั่นเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มิใช่ปัญหาเล็กน้อยที่จะเพิกเฉยหรือมองข้าม เรื่องทำนองนี้ เคยเกิดขึ้นกับรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีในอดีตมาแล้วหลายท่าน จนเป็นเหตุให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลง 
 

โดยในระยะเวลาใกล้ๆ นี้อย่างน้อยมี 2 ท่านคือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2557 โดยศาลมีเป็นมติเอกฉันท์ว่า "ใช้สถานะหรือตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองและของผู้อื่น ในเรื่องการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน หรือการพ้นจากตำแหน่งข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง จึงต้องด้วยรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 266(2)และ(3) ถือเป็นการกระทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 อันมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง(7) และรัฐมนตรีที่ได้ร่วมมีมติในการประชุม ครม. จึงมีส่วนร่วมในการก้าวก่ายและแทรกแซงข้าราชการประจำก็ผิดตามไปด้วย ความเป็นรัฐมนตรีเหล่านั้นต้องสิ้นสุดลงเช่นเดียวกัน รายละเอียดตามคำวินิจฉัยดังกล่าว การกระทำของนายกฯคนเดียว พา ครม.ทั้งคณะสิ้นสภาพไปด้วย

ส่วนอีกท่านก็คือ นายสมัคร สุนทรเวช ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 12-13/2551 กระทำผิดรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกันเพียงแต่คนละมาตราเท่านั้น คือ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยังไปกระทำการเป็นลูกจ้างทำงานให้แก่บริษัทเอกชน ที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งทำการค้าแสวงหากำไร ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง
 

พิจารณาจากแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทำให้อดเป็นห่วงกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับฐานะในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่อาจทำให้สะดุดขาตัวเอง หรือ ตกม้าตายง่ายๆ ได้ เพราะลูกน้องที่เสนอเรื่องดังกล่าวมาให้นายลงนามประกาศ แล้วยังดื้อรั้น เพราะนี่อาจเปิดช่องให้ถูกกล่าวหาว่า "จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อกฎหมายและฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" ได้ ซึ่งหากมีการยื่นเรื่อง และขอให้ ป.ป.ช.ไต่สวนฯ และส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เรื่องเล็กก็จะกลายเป็นงานใหญ่ ที่สั่นคลอนถึงตำแหน่งนายกฯ อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ 
 

นายกฯ อยู่ในตำแหน่งมาแล้ว 7 ปี ก้าวสู่ปีที่ 8 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ท่านเผชิญทุกปัญหา ฝ่าฟันมาแล้วทุกวิกฤติ เจอสารพัดม็อบดาหน้าออกมาไล่ แต่ก็มิอาจทำลาย หรือ สั่นคลอนต่อตำแหน่งของท่านได้ แต่ก็ควรระวังและไม่ประมาท เพราะการกระทำผิดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เคยทำให้นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดจากตำแหน่งมาแล้ว
 

ยกเลิกประกาศดังกล่าวเสียเถอะ อย่าทำให้ตำแหน่งนายกฯ ของท่าน ต้องไปแขวนไว้บนเส้นด้ายเลยครับ มันเสี่ยงและหวาดเสียวโดยไม่จำเป็น เพราะท่านมีเครื่องมือและกฎหมายอื่นๆ บังคับใช้เพียงพออยู่แล้ว เชื่อศาลเถอะครับ