ทุบหม้อข้าว “นายแบงก์” รื้อค่าต๋งให้เป็นธรรม!

24 ก.ค. 2564 | 06:00 น.
3.3 k

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย... บากบั่น บุญเลิศ

ต้องปรบมือให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีนโยบายจะดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูแลค่าธรรมเนียม (ค่าต๋ง) ของธนาคารพาณิชย์ รวมกว่า 300 รายการ เพื่อให้มีการคิดค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมของประชาชนให้สะท้อนต้นทุนและรายได้แท้จริงของสถาบันการเงินมากที่สุด


แนวทางนี้...น่าจะเป็นหัวใจของธนาคารกลางที่ทำหน้าที่กำกับดูแลระบบสถาบันการเงินในการให้บริการประชาชน 


คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ที่ตั้งขึ้นมาตามกฎหมาย อันประกอบด้วย 1.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. เป็น ประธานกรรมการ  2.รณดล นุ่มนนท์ รองประธานกรรมการ 3.เมธี สุภาพงษ์ 4.กุลยา ตันติเตมิท 5.รื่นวดี สุวรรณมงคล 6.สุทธิพล ทวีชัยการ 7.กรรณิการ์ งามโสภี 8.พรชัย ชุนหจินดา 9.อายุสม์ กฤษณามระ 10.ภาวนา เนียมลอย 11.ชนันต์ ชาญชัยณรงค์ และ 11.นวอร เดชสุวรรณ์ ที่เป็นเลขานุการ


ตามกฎหมายกำหนดหน้าที่ไว้ 6 ด้าน  1.กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน


2. ติดตามการดำเนินงานของ ธปท. ในการเป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน และการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน


3. กำหนดนโยบายเกี่ยวกับสถาบันการเงิน


4. กำหนดนโยบายการเปิดและปิดสาขาสถาบันการเงิน


5. กำหนดอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ที่สถาบันการเงินต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน


6. เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันการเงินรายใหม่...


ภารกิจของคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน 5-6 ด้าน ที่ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติมาตามกรอบวิธีคิดเดิมว่า รับผิดชอบด้านการกำหนดนโยบายระบบสถาบันการเงินของ ธปท. ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม รอบคอบ เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินมีเสถียรภาพมั่นคงน่าจะได้เวลาที่ปรับเปลี่ยน


เช่นเดียวกับธนาคารกลางที่ทำหน้าที่กำกับ ดูแล สถาบันการเงินของประเทศต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายของภารกิจ วิธีคิด วิธีการทำงาน โดยต้องลดน้ำหนักการออก “กฎ-กติกา” จากเดิมที่เน้น “เสถียรภาพ-ความแข็งแกร่ง” ของสถาบันการเงินในระบบ เป็นหลัก มาเป็น “การสร้างความเป็นธรรม-สร้างการแข่งขันทางด้านราคา” ในการให้บริการของระบบสถาบันการเงินแก่ประชาชนได้แล้ว

เป็นไปได้อย่างไรที่ในระยะ 10 ปี ย้อนหลังไป มีการกำกับดูแลสถาบันการเงินแล้วทำให้รายได้จากค่าบริการ ค่าธรรมเนียม แม้แต่ดอกเบี้ยในระบบสถาบันการเงินเติบโตอย่างน่าดูชม และ “มีการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์ “


สถิติการขึ้นดอกเบี้ย การคิดค่าธรรมเนียม “ค่า Fee” ของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ประกาศไว้ คือ หลักฐานว่ามีการแข่งขันที่สมบูรณ์หรือไม่ 


นี่จึงเป็นที่มาของอัตราการเพิ่มขึ้นรายได้จากค่าธรรมเนียม ผมขอเรียกว่า “ค่าต๋ง” ที่เติบโตขึ้นทุกปีจนกลายเป็นรายได้หลัก เพิ่งจะมีในระยะ 2-3 ปี ที่ผ่านมานี่เอง ที่ธนาคารกลางเข้ามาควบคุมการคิดค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรมอย่างเข้มข้นซึ่งต้องขอชื่นชม


ปี 2562 สถาบันการเงินทั้งระบบ มีรายได้จากค่าต๋งราว 29% หรือประมาณ 1.8-1.9 แสนล้านบาท หากเทียบกับรายได้ดอกเบี้ยทั้งระบบราว 4.8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 70% 


หากใครไปตรวจทานดูรายได้ค่าธรรมเนียมตามหมวดหมู่ของระบสถาบันการเงิน ผมว่า ในระยะ 2-3 ปี ไม่น่าจะหนีจากสัดส่วนนี้แน่นอน


รายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายประกันกองทุนราว 25-26% รายได้ค่าธรรมเนียมในส่วนบัตรเครดิตราว 20%  รายได้จากค่าธรรมเนียมการให้สินเชื่อและทวงหนี้ราว 18-19% 


ขณะที่รายได้จากค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มลดลงเหลือ 10% รายได้จากบัตรเดบิตหดตัวเหลือ 5-8 % หลังจากธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบหันมาให้บริการกดเงินไม่ใช้บัตร จนส่งผลต่อรายได้ค่าธรรมเนียมจากบัตรเดบิต-เอทีเอ็ม ปรับลดลงอย่ามีนัยสำคัญ


รายได้ค่าธรรมเนียมที่เหลือเป็นค่าบริการโอนเงิน จ่ายบิล และรายได้อื่นๆ ราว 10%


แต่ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมานี้ ภาพรวมรายได้ค่าธรรมเนียมของระบบสถาบันการเงินทยอยปรับลดลงต่อเนื่องทุกปี ส่วนหนึ่งมาจากคนทยอยหันไปใช้บริการดิจิทัลมากขึ้น หรือทำธุรกรรมในส่วนที่ธนาคารไม่สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมได้มากขึ้น


เห็นได้ชัดจาก จำนวนบัตรเอทีเอ็มโดยรวมที่ลดลงมาอยู่ที่ 10.79 ล้านใบ ลดลงจากสิ้นปี 2562 ที่มีอยู่ถึง 15.32 ล้านใบ  ลดลงถึง 4.52 ล้านใบ 


เช่นเดียวกับจำนวนบัตรเดบิตที่ลดลงเหลือ 63.92 ล้านใบ จากเดิม 64.77 ล้านใบ  ลดลงราว 8.5 แสนใบ

คำประกาศของ ธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ภายในไตรมาส 3/2564 ธปท. จะออกประกาศให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์ค่าธรรมเนียมเพื่อช่วยเหลือประชาชน และจะให้สถาบันการเงินมีการเปิดเผยค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมต่างๆ อย่างชัดเจนบนเว็บไซต์ และจะต้องมีการส่งให้ ธปท. ดูด้วย


เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาดู เพื่อเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมแต่ละประเภทของแต่ละสถาบันการเงิน ประกอบการตัดสินใจใช้บริการ


เธอบอกว่า หลักเกณฑ์ที่ธนาคารกลางจะประกาศนี้คล้ายกับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการให้บริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม (มาร์เก็ต คอนดักท์) 7-8 ข้อ  


แต่จะไม่มีการกำหนดลงไปว่า แต่ละรายการจะมีอัตราค่าธรรมเนียมแต่ละประเภทเท่าไหร่ เพราะต้นทุนแต่ละธนาคารแตกต่างกัน แต่ต้องทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างธนาคารให้ได้ และเมื่อประกาศหลักเกณฑ์ไปแล้ว ธปท.จะสุ่มดูว่า อัตราค่าธรรมเนียมเป็นอย่างไร และสถาบันการเงินจะต้องตอบให้ได้ว่า ค่าธรรมเนียมดังกล่าวสอดคล้องกับต้นทุนธนาคารหรือไม่ 


แนวปฎิบัตินี้จะครอบคลุมค่าธรรมเนียมทุกประเภท ทุกกลุ่มธุรกิจทั้งลูกค้ารายใหญ่ ลูกค้ารายกลางและขนาดย่อม ลูกค้ารายย่อย ครอบคลุมการคิดค่าธรรมเนียมทั้งหมด 200-300 รายการ 


เธอบอกว่า การคิดค่าธรรมเนียมรอบนี้ อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของธนาคาร แต่จะสร้างความเป็นธรรมให้กับลูกค้า ประชาชน และสร้างมาตรฐานให้กับสถาบันการเงินทั้งระบบด้วย


ผมละขอยกมือไหว้ อนุโมทนา สาธุ ในวิธีคิด วิธีการจัดการแบบนี้ของธนาคารกลาง


เพราะอะไร เพราะการปรับลดค่าธรรมเนียมในแต่ละครั้งเท่าที่ผมสัมผัสมาราว 30 ปีที่ผ่านมา ยากเย็นแสนเข็ญ และเพิ่งจะตื่นกันมาในระยะเวลาไม่นานนี้ เพราะทุกครั้งที่ปรับคือ รายได้ที่ลดลงของระบบธนาคาร 


ซึ่งต้องขอบคุณธนาคารทหารไทยในยุค คุณบุญทักษ์ หวังเจริญ คุณปิติ ตัณฑเกษม ที่เป็นซีอีโอ ผู้กล้าประกาศว่าที่นี่ “No Fee” และสร้างธนาคารบริการด้วยตัวเองนำร่อง “Me Bank” ขึ้นมาจนกลายเป็นการแข่งขันการปลดล็อคราคาค่าต๋งในประเทศไทย


ยิ่งต้องขอบคุณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” และสมาคมธนาคารไทยในยุค “ปรีดี ดาวฉาย” เป็นประธาน ที่ร่วมสร้างระบบ “Prompt pay” กันขึ้นมา จนทำให้ระบบการโอนเงินง่ายขึ้น ลดค่าธรรมเนียมที่คิดจากลูกค้าประชาชน ที่ไม่มีทางเลือกในการกดเงินสด โอนเงินสดของตัวเองลงมาได้อย่างน่าชื่นชม


มาบัดนี้ เมื่อธนาคารกลางดำริทางนโยบายว่า จะมีการปรับรื้อค่าธรรมเนียมอีกครั้ง ก็ต้องขอชื่นชมผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ลงไปกำกับดูแลความเป็นธรรมและการแข่งขันในธุรกิจการเงิน แต่การกำกับต้องเข้มข้นมากกว่าที่เป็นอยู่ให้มากขึ้น 


นอกจากนี้ผมขอเสนอว่า ควรพิจารณาปรับเปลี่ยนคำจำกัดความ และวิธีคิดดอกเบี้ยของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ที่เหมาแข่งไปรวมในสินเชื่อไม่มีหลักประกันในธุรกิจสถาบันการเงินทั้งหมด เพราะนี่คือ การคิดดอกเบี้ยแบบขูดรีดประชาชนคนตัวเล็กที่ต้องการเงินมาสร้างชีวิตที่โหดร้ายที่สุด 


หลักประกันคือ ทะเบียนรถ เหมือนกับโฉนด เหมือกับหลักทรัพย์ เพียงแต่ผู้กู้เงินเอารถมาขับใช้ทำมาหากิน เงินกู้ที่ได้ก็แค่ 75-80% ของราคารถแล้ว ยังถูกโขกดอกเบี้ยสูงลิ่ว 28-30% 


ผลที่ตามมาคือ บริษัทสินเชื่อไร้หลักประกันทั้งหลาย รวยกันเละเทะ รวยแบบพรวดพราดในระยะเวลาไม่ถึง 5-10 ปี ชนิดที่หลายคนก้าวขึ้นเป็นมหาเศรษฐีเมืองไทยแบบฉับพลัน ชนิดที่ตื่นขึ้นมาแล้วถามตัวเองว่า “Who am I?" 


ขณะที่ตระกูลเจ้าสัวทั้งหลายยังมึนตึ้บกับการรวดพรวดพราดในพริบตา!