ขรก.ขอโทษประชาชน “นักการเมือง” ควรเอาเยี่ยงอย่าง

23 ก.ค. 2564 | 10:30 น.
1.8 k

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย... ว.เชิงดอย

+++ น่ายกย่อง และ “ข้าราชการ” คนอื่น ๆ สมควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง หรือแม้แต่ “นักการเมือง” ก็ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่างด้วยเช่นกัน เมื่อทำงาน “ผิดผลาด” แล้วออกมา “ขอโทษประชาชน” เมื่อ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ออกมาแถลงข่าวขอโทษประชาชนจากการบริหารวัคซีนโควิด-19  “ก็ต้องกราบขอภัยพี่น้องประชาชน ที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ แม้จะพยายามเต็มที่แล้ว ก็ยังจัดหาวัคซีนได้ในจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด การระบาดของโรคโควิด-19  เราไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน รวมทั้งการกลายพันธุ์ของไวรัส ไม่ใช่เรื่องที่จะคาดหมายได้ล่วงหน้า เกิดขึ้นแล้วทำให้การระบาดของโรครวดเร็วและรุนแรงกว่าที่เคยเป็นมาก่อนในช่วงปีที่แล้ว ทำให้การจัดหาวัคซีนไม่ทันกับสถานการณ์ ต้องกราบขอภัยพี่น้องประชาชน” นพ.นคร ระบุ

+++ นพ.นคร ชี้แจงว่า สถาบันวัคซีนฯ ทำหน้าที่เจรจาจัดหา พยายามติดต่อประสานงานผู้ผลิตวัคซีน ทั้งที่มีวัคซีนแล้ว และอยู่ระหว่างวิจัยตั้งแต่ช่วงส.ค.ปี 2563 และพยายามหาช่องทางจองซื้อล่วงหน้า แม้ว่าวัคซีนจะอยู่ระหว่างการวิจัย จนได้ออกประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ตามพรบ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ มาตรา18(4) ที่จะเปิดให้สถาบันฯ ทำหน้าที่ในการจองวัคซีนช่วงหน้าที่อยู่ระหว่างการวิจัย เป็นที่มาที่สามารถจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่เป็นการจองตั้งแต่เริ่มต้น  และจำนวนวัคซีนที่ได้จำนวน 61 ล้านโดส เป็นการจองล่วงหน้าที่มีการเจรจาตั้งแต่ ส.ค.-ก.ย. และจองวัคซีนเสร็จสิ้นเดือนพ.ย.2563 และจองซื้อเพิ่มเติมครบ 61 ล้านโดสในต้นปี 2564  

+++ แต่ละครั้งการที่จะเสนอในการจัดหาวัคซีนใดก็ตาม เมื่อมีข้อมูลจากการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีน จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะทำงานและคณะกรรมการจัดหาวัคซีนที่มีปลัดกระทรวงสาธาณสุข เป็นประธาน เป็นกลไกด้านการบริหารที่มีอยู่ให้เกิดการตัดสินใจในเชิงบริหาร เพราะว่าไม่สามารถดำเนินการได้โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ต้องปรึกษาทั้งผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานที่รับผิดชอบ เป็นการทำงานในรูปแบบคณะกรรมการ ถึงแม้ว่ากรมควบคุมโรค และสถาบันฯ จะเป็นผู้จัดหาวัคซีนร่วมกัน แต่การตัดสินใจต้องนำเข้าสู่การประชุมคณะทำงานและคณะกรรมการแต่ละชุดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะมีความเกี่ยวพันทั้งเรื่องภาระงบประมาณ และความผูกพันด้านสัญญที่ไม่มีหน่วยงานใดดำเนินการได้ตามลำพัง การดำเนินการทุกส่วน ก่อนการลงนามส่วนใดจะส่งปรึกษาหน่วยงานด้านกฎหมายของประเทศเพื่อพิจารณาก่อน  ซึ่งในการดำเนินการของภาครัฐที่จำเป็นต้องมีระบบระเบียบที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการ เป็นที่มาที่เกิดความรับรู้ว่าการดำเนินการจัดหาวัคซีน อาจจะไม่ทันตามจำนวนที่คิดว่าควรจะเป็นได้ ทั้งหมดเป็นเรื่องของข้อจำกัดที่มี

+++ นพ.นคร ยังชี้แจงถึงทิศทางต่อไป ว่า สถาบันวัคซีนฯ จะดำเนินการต่อในความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย คือ การจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมทั้งปีนี้ และปีหน้า โดยปี 2565 พิจารณาดำเนินการกับผู้ผลิตรุ่นที่ 2 หรือ วัคซีน ที่สามารถตอบสนองกับ “ไวรัสกลายพันธุ์” ได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ส่งมอบได้ตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 2565 เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ จำเป็นต้องจองวัคซีนล่วงหน้า นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการเข้าร่วม “โครงการโคแวกซ์” เพียงแต่ยังไม่ได้มีการลงนามในการจัดหาวัคซีนร่วมกันผ่านโครงการโคแวกซ์  ส่วนนี้สถาบันได้เริ่มเจรจาและส่งข้อความประสานงานไปยัง “องค์กรกาวี” ในการที่จะขอเจรจาจัดหาวัคซีนร่วมกับ “โครงการโคแวกซ์ มีเป้าหมายของการได้รับวัคซีนของปี 2565 เพิ่มเติมจากการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนลำพัง จะดำเนินการผ่านโครงการโคแวกซ์ และเมื่อได้ข้อสรุปเบื้องต้นชัดเจนก็นำเสนอผ่านคณะกรรมการ คณะทำงานที่เกี่ยวข้อง

+++ ส่วนอื่นๆ การสนับสนุนวิจัยพัฒนาในประเทศ ทั้งรูปแบบการหาเทคโนโลยีมาทำความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีก็จะมีการแสวงหาความร่วมมือกับผู้ผลิตวัคซีนในต่างประเทศ ที่มีความประสงค์จะขยายกำลังการผลิต ในการผลิตวัคซีนด้วยแพลตฟอร์ม หรือ รูปแบบอื่น ทั้งเชื้อตาย mRNA หรือ ซับยูนิตโปรตีน ก็อยู่ในช่วงของการดำเนินการเร่งนัดแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ ซึ่งส่วนนี้กระทรวงการต่างประเทศได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมดำเนินการประสาน ที่จะดูการทำงานร่วมมือกับต่างประเทศ ขณะที่การวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบในประเทศ ทั้ง mRNA วัคซีนของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ วัคซีนขององค์การเภสัชกรรม วัคซีนของไบโอเนทเอเชีย วัคซีนของบริษัทใบยาฯ ซึ่งทั้ง 4 บริษัท ที่มีความก้าวหน้าในการวิจัยพัฒนา ก็มีการสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเต็มที่ รวมถึงวิจัยพัฒนาข้อความรู้อื่นๆ ที่จะนำมาใช้สนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิดของประเทศต่อไปข้างหน้า

+++ นำคำชี้แจงของ “หมอนคร” มาให้อ่านกันแบบละเอียด เพื่อให้ได้รู้ทิศทางของ “วัคซีนโควิด-19” ที่จะนำเข้ามาฉีดให้คนไทยเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 จะเป็นไปอย่างไร แต่เหนืออื่นใดๆ ต้องขอชื่นชมสปิริตของ “ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ” ที่ได้ออกมา “ขอโทษประชาชน” เพราะคนที่ทำผิดแล้วแก้ไข มันก็ต้องดีขึ้นกว่าเก่า ผิดกับคนที่ไม่ทำอะไรเลย ก็จะไม่เห็นความผิดพลาดของตัวเอง ... จริงๆ แล้ว คนที่สมควรออกมาขอโทษประชาชน น่าจะเป็น “นักการเมือง”  ผู้กำหนดนโยบายมากกว่า เพราะข้าราชการก็ต้องปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลที่ออกมาอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นมี “นักการเมือง” คนไหน โดยเฉพาะ “รมว.สาธาณสุข” กล้าออกมาขอโทษประชาชนแม้แต่ครั้งเดียว ...รอดูว่าจะมี “นักการเมือง” คนไหนออกมขอโทษประชาชนมั้ย???