อาหารสมองของผู้สูงอายุ

10 ก.ค. 2564 | 06:00 น.
2.9 k

อาหารสมองของผู้สูงอายุ : คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เรามักจะได้ยินคนแก่ทั่วไปพูดว่า “ไม่ไหวเลย พักนี้หลงๆลืมๆตลอด” คำพูดเหล่านี้ ทำให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติ ที่ผู้สูงวัยจะต้องเจอะเจอประจำ แต่ในความคิดของผม หากเรามีการพัฒนาสมอง หรือมีการใช้สมองอย่างถูกวิธี อาจจะสามารถช่วยให้เราไม่กลายเป็น “คนแก่ขี้ลืม”ได้นะครับ ในขณะที่อายุที่สูงขึ้น ยิ่งทำให้สมองเสื่อมลง ความจำก็จะลดลง บางครั้งการหลงๆลืมๆก็จะตามมา อันเนื่องจากสังขารของเรานั้น ก็ใช้มาตั้งหกสิบกว่าปีแล้ว ก็เปรียบเสมือนรถยนต์ ที่ใช้งานมานาน ย่อมมีโอกาสเสื่อมโทรมเป็นธรรมดาครับ
       

จากประสบการณ์ของผมเอง ผมเห็นเพื่อนร่วมรุ่นหลายท่าน ได้เป็นเช่นที่ผมกล่าวมาข้างต้นไม่น้อย ในขณะที่ตัวผมเอง อาจจะโชคดีที่มีโอกาสได้ทำหลายๆเรื่อง ที่ผู้สูงอายุหรือเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน ไม่มีโอกาสได้ทำ หรือบางท่านมีโอกาส แต่ไม่ยอมทำ แม้จะมีบางเรื่องที่เขามีความสามารถทำได้ก็ตาม ซึ่งผมต้องบอกว่าน่าเสียดายจัง เพราะการได้ทำอะไรที่ตนเองแม้จะไม่เคยทำมาก่อน แต่เมื่อมีโอกาสได้ลงไปทำในสิ่งใหม่ๆที่มีคนหยิบยื่นมาให้ จะเป็นสิ่งที่ผมไม่ยอมให้ผ่านเลยไปอย่างเด็ดขาด ผมเต็มใจที่จะกระโดดเข้าไปทำเลยครับ เพราะนั่นจะทำให้เราได้ใช้สมองอยู่ตลอดเวลา เหมือนเป็นการป้อนอาหารให้แก่สมองเราได้ไม่หยุดนิ่ง ในความเห็นส่วนตัวของผม หากวันใดที่สมองหยุดนิ่งเฉยเมย ไม่นานเราก็จะแก่ตัวลงไปอย่างไม่สามารถเรียกสมองให้กลับมาอีกเลย ตัวอย่างหนึ่งที่เรามักจะเห็นคนรุ่นหกสิบขึ้นไป หรือคนแก่มาก มักจะไม่ยอมที่จะทำคือ “การเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์” หรือบางคนแม้แต่โปรแกรมพื้นฐานที่ง่ายๆ ก็ไม่ยอมรับการเรียนรู้ โดยส่วนใหญ่มักจะอ้างว่า “แก่แล้ว ไม่รู้จะเรียนรู้ไปทำไม จะตายวันตายพรุ่งเมื่อไหร่ก็ไม่รู้” หรือเหตุผลอีกอย่างที่ชอบนำมาอ้างคือ “สมองไม่ยอมรับแล้ว” คอมพิวเตอร์จึงเป็นของแสลงของผู้สูงอายุเสมอ นี่คือสิ่งที่ผมเห็นจากเพื่อนๆหลายคนของผมเองครับ

ที่สถานดูแลผู้สูงวัยในประเทศญี่ปุ่นที่ผมได้ไปสัมผัสมา ทั้งโรงเรียนบริบาลผู้สูงวัยของอีบิซังที่เมืองซึสึกะ  จังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น และอีกหลายๆแห่ง ผมจะเห็นเขามีการจัดเตรียมห้องเกมส์รูมไว้ให้ผู้สูงอายุเสมอ ในห้องดังกล่าว นอกจากโต๊ะคอมพิวเตอร์ ที่อาจจะใช้งานได้ไม่เต็มความสามารถของผู้ใช้ แต่อย่างน้อยก็สามารถให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสฝึกทดลองใช้ในการค้นหาข้อมูลอ่านเล่นได้ หรือที่สำคัญที่สุดสามารถให้เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ได้ นี่ทำให้เป็นการฝึกสมองของผู้สูงวัย ให้คิดตามไปกับตัวคอมพิวเตอร์ นับว่าเป็นความชาญฉลาดมาก และอีกอย่างหนึ่งที่เห็นเป็นประจำ คือ “โต๊ะไพ่นกกระจอก” พอครบขา 4 คน เขาก็จะนั่งเล่นไพ่นกกระจอกกัน ด้วยความสนุกสนาน เป็นการฝึกลับสมองผู้สูงอายุที่ดีมากๆ ผมได้เห็นผู้สูงวัยบางท่าน ที่แก่มากๆแล้ว นั่งเล่นไปสับประหงกไป น่ารักมากๆ แต่พอเพื่อนบอกให้เลิก ท่านก็บอกท่านอยากจะเล่นต่อ ผมคิดว่าที่ท่านหลับอยู่นั้นอาจจะเป็นเพราะสังขารของท่านกระมัง หรือว่านี่คงเป็นที่มาของคำว่า “สับนก”กระมัง
           

ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือการเล่นไพ่ทั่วๆไป ผมเองก็ไม่ค่อยถนัดการพนันประเภทนี้สักเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ผมยืนสังเกตุดู เขามีการแจกไพ่จนเกือบหมดสำรับ จากนั้นก็มีการจัดเรียง แล้วก็หงายไพ่ออกมา แล้วก็บอกว่าคนนั้นชนะคนนี้แพ้ ผมเองก็ไม่เข้าใจวิธีการเล่นของเขา แต่ก็เห็นเขาเล่นกันอย่างสนุกสนานครับ เคยถามเขาว่าเรียกว่าไพ่อะไร เขาก็บอกมาแล้ว แต่ผมจำไม่ได้ เหตุผลที่จำไม่ไดหรือครับ เพราะว่า “ผมแก่”แล้วไงครับ 

ที่นั่นการละเล่นเกมส์ด้วยไพ่หรือไพ่นกกระจอกก็ดี หากไม่มีการพนันขันต่อกันอย่างโจ่งครึ่ม ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมาย เขาอาจจะมองว่าเป็นการฝึกปรือสมองของผู้สูงอายุ ในขณะที่บ้านเราไม่สามารถทำได้ครับ ผิดกฎหมายหมด ดังนั้นเรามักจะเห็นทั้งละครหรือภาพยนตร์ ที่มีคุณยายแก่ๆ ตั้งวงกันเล่นไพ่อย่างหน้าดำคร่ำเครียด เวลาตำรวจมาก็วิ่งหนีกันป่ากระเจิง แต่ที่นั่นจะไม่เห็นภาพนี้เลยครับ อย่างว่าแหละครับ กฎหมายหรือข้อบังคับ แต่ละสังคมแต่ละประเทศก็จะมีความแตกต่างกันไปครับ