เก็บภาษีขาย 0.11% ทำตลาดหุ้นพัง

09 ก.ค. 2564 | 07:41 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2564 | 17:51 น.
2.3 k

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,695 หน้า 13 ระหว่างวันที่ 11 - 14 ก.ค. 2564 By...เจ๊เมาธ์

*** ข่าวว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาให้เก็บภาษีจากการขายหุ้นทุกการขาย 1 ล้านบาทใน 1 เดือน อัตรา 0.11% ( 1100 บาท/การขายมูลค่า 1 ล้านบาท)  สร้างความวิตกกับนักลงทุนและคนในอุตสาหกรรมโบรกเกอร์เป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันค่าคอมมิชชั่นเฉลี่ยของการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อยู่ประมาณ 0.07% และเมื่อรวมค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้ทางการอีกประมาณ 0.007%  รวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% ต้นทุนในการซื้อหรือขายหุ้นทุก 1 ล้านบาท ก็จะอยู่ประมาณ 0.0823% หรือล้านละ 823 บาท
 

ถ้ารัฐบาลเก็บภาษีขายตามข้างต้น ก็จะเท่ากับ นักลงทุนต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่น ค่าธรรมเนียมทางการ ภาษีจากการขาย ภาษีมูลค่าเพิ่มต่อการขายทุก 1 ล้านบาท รวมแล้ว เท่ากับ 1,923 บาท และถ้านับรวมต้นทุนค่าคอมมิชั่นในฝั่งซื้อ อีก 0.0823% นักลงทุนต้องมีต้นทุนในการซื้อขายหุ้นไม่ต่ำกว่า 0.2746% หรือ ล้านละ 2,746 บาท ส่งผลให้ลูกค้าในกลุ่ม HFT ที่มีปริมาณการซื้อขายอยู่ในตลาดประมาณ 30% หายออกไปจากตลาด และคาดว่าปริมาณนักเก็งกำไรรายย่อย ที่มีอยู่ประมาณ 25% ของตลาดก็จะลดปริมาณลงไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง
 

และจากครึ่งปีแรกของปี 2564 ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์อยู่ในระดับ 90,000 ล้านบาทเศษ คาดว่าถ้ามีการนำการเก็บภาษีนี้มาใช้ จะทำให้ปริมาณการซื้อขายหุ้นโดยรวมลดลงต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าเฉลี่ยต่อวัน หรือต่ำกว่า 45,000 ล้านบาทต่อวัน และจะส่งผลกระทบกับธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ  เช่น ตลาดซื้อขายสัญญาล่วงหน้า (TFEX) ก็จะมีปริมาณการซื้อขายลดลงด้วยเช่นกัน บริษัทหลักทรัพย์นับสิบขาดทุน อยู่ต่อไปไม่ได้  
 

หากมีการเก็บภาษีหุ้นจริง...งานนี้เจ๊เมาธ์บอกได้เลย ตลาดหุ้นไทยคงได้ถึงคราว “หงอยเป็นไก่ป่วย” อย่างแน่นอน 
 

อย่าลืมว่า ตลาดหุ้นถือเป็นด่านหน้าของการดึงดูดแหล่งเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งถ้าจะเอากันตรงๆ เลย ตอนนี้ประเทศไทยเองไม่มีอะไรโดดเด่นพอดึงให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง GDP ที่โตต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นคู่แข่ง การเก็บภาษีหุ้น มันไม่ต่างไปจากการลดทอนความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยที่มีน้อยอยู่แล้วให้น้อยลงไปมากกว่าเดิม 
 

และหากจะให้เจ๊เมาธ์พูดแทนกลุ่มของนักลงทุนรายย่อยในประเทศ เจ๊อยากตั้งคำถามว่า เมื่อการซื้อขายหุ้นผ่านโบรกเกอร์ต่างๆ นักลงทุนรายย่อยก็จ่ายค่าธรรมเนียมแบบหักอัตโนมัติไปแล้ว หากจ่ายภาษีอีกมันก็ไม่ต่างจากการที่ต้องมาจ่ายภาษีแบบ 2 ชั้น นี่ยังไม่นับรวมสารพัดหุ้นปั่น ที่หลอกให้รายย่อยถูกลากไปติดดอย ซึ่งยังไม่เห็นมีทางการที่ไหนจัดการได้อย่างจริงจังเลยสักที 

เอาเป็นว่า ถ้าจะหารายได้จากภาษี ก็ควรจะต้องทำให้คนที่จะต้องจ่ายภาษี มีรายได้มาจ่ายภาษีให้ได้ก่อนนะคะ...ไม่อย่างนั้น มันก็ไม่ต่างไปจากการ “รีดเลือดปู” นั่นเองค่ะ
 

เจ๊เมาธ์ รอดูว่า สมาคม บล. มีรายได้จำนวนมาก จากค่าบำรุงสมาชิกกว่า 40 ราย พนง.ในสมาคม มีรายได้เดือนละหลักแสน ....ผู้หลัก-ผู้ใหญ่ ในสมาคม จะลุกจากที่นั่ง ออกมาเทคแอคชั่น ยังไงกับความคิดเก็บภาษีขายหุ้น 0.11% นี้  หรือนั่งเฉยๆ ทำเป็นไม่รู้-ไม่ชี้ ไม่ทุกข์ร้อน เพราะยังไง สมาคมฯ ก็นั่งรับรายได้จากสมาชิก อยู่ดี 
 

*** จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด พุ่งขึ้นสู่ระดับ 7,000 คน ตัวเลขเสียชีวิต 75 คน สูงสุดใหม่ทั้งผู้ติด-ผู้ตาย... ดูเหมือนจะทำให้หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลหลายตัว เช่น BDMS BCH CHG VIBHA PR9 รวมไปถึงหุ้นโรงพยาบาลตัวอื่นที่ไม่ได้พูดถึง ราคาวิ่งแทบทุกตัว แต่เอาเข้าจริงๆ เจ๊เมาธ์อยากเตือนว่าความจริงหุ้นกลุ่ม
 

โรงพยาบาล ไม่ได้ดีอย่างที่คิด ที่เห็นช่วง 1-2 ไตรมาสที่ผ่านมา หุ้นโรงพยาบาลเหล่านี้มีรายได้และมีกำไรที่มากขึ้น เพราะมีรายรับจากการตรวจหาเชื้อโควิดอย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนมาก ทำให้สถานการณ์ตอนนี้แตกต่างไปจากเดิม 
 

และจากข้อกำหนดที่ระบุว่า โรงพยาบาลใด ตรวจพบผู้ติดเชื้อจะต้องเป็นผู้ให้การรักษา โดยได้รับค่ารักษาตามระเบียบการเบิกจ่ายของ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ซึ่งรายรับต่ำกว่ารายรับปกติตามมาตรฐานของโรงพยาบาลเอกชน นั่นจึงทำให้โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ ปิดการตรวจหาเชื้อโควิด เพื่อปิดโอกาสที่จะต้องมีรายรับตามมาตรฐานของ สปสช. และนั่นจะทำให้รายรับ ที่เคยได้จากการตรวจเชื้อโควิดของโรงพยาบาลเหล่านี้หายไปเช่นกัน ดังนั้นจากนี้ไปรายรับและกำไรของโรงพยาบาล จะไม่ดีเหมือนเดิม ใครที่คิดว่าจะหวังพึ่งหุ้นโรงพยาบาลนานๆ  ต้องเปลี่ยนเป็นทำได้แค่เล่นรอบเท่านั้นค่ะ


 *** ดูเหมือนว่าทฤษฎีการทำเงินจากหุ้น IPO ของเจ๊เมาธ์จะใช้ไม่ได้ผลกับหุ้น IPO ตัวล่าสุดอย่าง MENA เนื่องจากหุ้นน้องใหม่ตัวนี้เปิดราคาต่ำ...และปิดที่ราคาสูง (เปิด 1.60 บาท ปิดตลาดที่ 2.48 บาท) เพราะจากที่เจ๊เมาธ์เคยพูดมาตลอดว่าการทำเงินจากหุ้น IPO ของนักลงทุนที่ได้สิทธิ์ในการจองซื้อ สิ่งที่นักลงทุนต้องทำอย่างแรกเลยก็คือการขายเปิด (ATO) และถ้าหากชอบหุ้นตัวนั้นจริงก็ค่อยตามเก็บเอาในรอบหลัง 


อย่างไรก็ตาม เจ๊ก็ยังยืนยันว่าการขายหุ้นแบบขายเปิด (ATO) ยังเป็นเรื่องที่ควรจะทำอยู่เหมือนเดิม เพราะจากประสบการณ์...เจ๊พบว่าหุ้น IPO ที่จะเปิดสูงและปิดต่ำมีมากกว่าหุ้นที่เปิดต่ำและปิดสูงแบบ MENA อยู่ในอัตราส่วน 8 ต่อ 2 หรือจะว่ากันง่ายๆ ก็หุ้นที่เปิดราคาสูงแล้วราคาไหลลงจะมีจำนวนที่คิดเป็น 80% ของหุ้น IPO ทั้งหมดนั่นเองเจ้าค่ะ ดังนั้นถ้าทำตามที่เจ๊ว่า...โอกาสขายหมูตัวใหญ่ได้เงินน่าจะดีกว่าการได้เลี้ยงหมูตัวเล็กๆ ยังไงค่ะ
 

*** เนื่องจากปัจจัยในประเทศรุมเร้าทำให้จังหวะนี้ดูเหมือนว่าราคาหุ้นของ PTTEP จะยังไม่สะท้อนถึงความเป็นจริง...เจ๊หมายถึงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น สาเหตุที่เจ๊เมาธ์เห็นว่าราคาหุ้น PTTEP ยังต่ำเกินไปเป็นเพราะหุ้นตัวนี้ไม่ได้อิงอยู่กับปัจจัยในประเทศเท่านั้น และเนื่องจากการเป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำมันดิบที่ป้อนเข้าสู่ตลาดโลกโดยตรง  
 

ดังนั้นทิศทางของราคาน้ำมันดิบ จึงเป็นตัวกำหนดผลกำไรและขาดทุนของ PTTEP นั่นเอง การที่ประเทศใหญ่หลายประเทศเริ่มฟื้นตัวจากพิษของเชื้อโควิด-19 การที่อิหร่านได้ประธานาธิบดีสายเหยี่ยวคนใหม่ และความขัดแย้งของประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบอย่าง UAE และซาอุดิอาระเบีย ต่างก็เป็นตัวผลักดันให้ราคาน้ำมันดิบยังขยับเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง 
 

ล่าสุดราคาน้ำมันดิบทั้ง WTI และ Brent ต่างก็ปรับตัวขึ้นมายืนเหนือราคา 70 ดอลลาร์/บาร์เรล และยังวิเคราะห์กันว่าราคาน้ำมันดิบมีโอกาสไปต่อได้ถึง 80 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งหมายความว่าโอกาสที่ราคาหุ้นของ PTTEP จะสามารถไต่ขึ้นไปถึง 150-160 บาท แบบที่เคยทำมาแล้วในปลายเดือนกันยายนปี 61 ก็มีความเป็นไปได้สูงเช่นกันเจ้าค่ะ
 

*** แม้ว่าปัจจัยเรื่องค่าระวางเรือจะดันให้ราคาหุ้นกลุ่มเดินเรืออย่าง RCL PSL และ TTA ขยับขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่อง แตะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ รวมไปถึงค่าระวางเรือที่สูงเกินไป ทำให้การขนส่งทั้งทางบกและอากาศ เริ่มถูกพิจารณานำกลับมาใช้ เพื่อช่วยควบคุมเสถียรภาพของ
ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า ดังนั้นถ้าชอบหุ้นกลุ่มนี้จริง ๆ เจ๊เมาธ์ แนะนำว่า ให้เล่นแบบเก็งกำไรน่าจะดีกว่า โดยเฉพาะเก็งกำไรด้วยการเข้าและออกก่อนที่จะมีการแจ้งผลการดำเนินงานซึ่งดูแล้วน่าจะปลอดภัยและได้เงินมากกว่า เพราะถึงแม้ว่าผลการดำเนินงานที่ว่าอาจจะออกมาดูดี...
 

แต่บอกตรงๆ เจ๊กลัวเรื่อง Sell on Fact มากกว่าเจ้าค่ะ