ทำไมประชาชนจึงออกมา ไล่รัฐบาล"ประยุทธ์" (จบ)

07 ก.ค. 2564 | 05:30 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2564 | 17:45 น.
4.8 k

ทำไมประชาชนจึงออกมา ไล่รัฐบาล"ประยุทธ์" (จบ) : คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3694 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 8-10 ก.ค.2564 โดย... ประพันธุ์ คูณมี

ข้อเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องทางออกจากวิกฤติการเมือง

 

สถานการณ์ของผู้นำประเทศ ที่มีประชาชนกลุ่มต่างๆ ออกมาขับไล่ และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความสิ้นศรัทธานั้น ย่อมบ่งบอกและส่งสัญญาณถึงภาวะวิกฤติของผู้นำ การที่จะก้าวออกจากวิกฤติใดๆ ได้ ผู้นั้นต้องยอมรับความจริงเสียก่อนว่าตนตกอยู่ภายใต้ภาวะวิกฤตินั้นหรือไม่ มิเช่นนั้นก็จะประเมินสถานการณ์ผิดพลาด ตัดสินใจผิดแนวทาง กำหนดจังหวะก้าวทางการเมืองของตนผิดทาง และหายนะทางการเมืองก็จะมาเยือนอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะการประเมินที่ผิดพลาด
    

ก่อนอื่นที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยอมรับความจริงเสียก่อนว่า การที่ประชาชนทั้งหลาย ทำใจยอมรับการรัฐประหาร เมื่อ 22 พ.ค.57 ล้มระบอบการเมืองของทักษิณ-และหุ่นเชิดยิ่งลักษณ์ นั้น เป็นเพราะว่าประชาชนหมดศรัทธาและสิ้นหวัง กับระบอบการเมือง การเลือกตั้งดังกล่าวที่เต็มไปด้วยการทุจริตและใช้อำนาจโดยมิชอบของนักการเมือง ทั้งเบื่อหน่ายกับสภาพวิกฤติทางการเมือง ที่ทำให้บ้านเมืองไร้ความสงบสุข สังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งจนเข้าขั้นกลียุค โดยมองไม่เห็นอนาคตของบ้านเมืองว่าจะจบลงอย่างไร 


การเข้ามายุติปัญหาและความขัดแย้งทางการเมืองของ คสช. แม้ได้รับเสียงปรบมือต้อนรับในเบื้องต้น แต่นั่นเป็นเพียงความหวังและทางเลือกชั่วคราว เพื่อการเปลี่ยนผ่านและหวนคืนกลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ทุกคนหวังว่าท่านจะนำบ้านเมืองไปสู่การปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้าน เพื่อให้การเมืองก้าวไปสู่ทิศทางที่ก้าวหน้าและดีขึ้นกว่าที่เป็นมาในอดีต 


ความยินยอมของประชาชน จึงเป็นการยินยอมเพียงชั่วคราว มิใช่ถาวร เพื่อให้ท่านอยู่ในอำนาจโดยไม่จำกัดเวลาแต่อย่างใด ขณะนี้เวลาแห่งภารกิจนั้นได้สิ้นสุดแล้ว  แต่การเมืองของประเทศกลับมิได้ดีขึ้น การปฏิรูปประเทศมิได้เป็นจริงแต่อย่างใด เวลาแห่งการอยู่ในอำนาจของท่านจึงต้องมีวันเลิกรา นี่คือ สัจธรรมของการเมือง อาการที่ประชาชนเคยสงบนิ่ง ได้สิ้นสุดลงแล้ว


ระยะเวลาปีที่ 8 แห่งการอยู่ในอำนาจของท่าน จึงเป็นระยะเวลาที่ประชาชนเห็นว่าเพียงพอ แก่ความจำเป็นของสถานการณ์บ้านเมืองที่มีการใช้อำนาจพิเศษแล้ว นี่คือความรู้สึกร่วมกันของประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม ขณะนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการการคืนกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตย มิใช่การอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยม หรือการรวมศูนย์อำนาจโดยรัฐราชการ หรือ ระบอบอำนาจแบบทหารอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอีกต่อไป 

นี่คือสภาพความเป็นจริงทางความคิดของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม ไม่เว้นแม้กระทั่งคนที่เคยชมเชียร์และเป็นกองหนุนท่าน การยอมรับความจริงในเรื่องนี้ จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการตัดสินใจทางการเมืองของเหตุการณ์ปัจจุบัน


ดังนั้น จึงมีปัญหาและทางเลือกให้ท่านต้องตัดสินใจว่า จะหาทางอยู่ในอำนาจต่อไปให้ยาวนานที่สุด หรือ จะหาทางถอยและเตรียมลงจากอำนาจอย่างสง่างาม จะปฏิรูปประเทศ คืนความเป็นประชาธิปไตยแก่ประเทศชาติและประชาชน หรือจะปกครองโดยการรวบอำนาจอีกต่อไป การตัดสินใจและเลือกทางออกใดๆ ย่อมมีผลต่อชีวิตและอนาคตทางการเมืองของท่านทั้งสิ้น


ผู้เขียนไม่มีประโยชน์ได้เสียกับผู้ใดในทางการเมือง และปัจจุบันก็มิได้สังกัดกลุ่มหรือพรรคการเมืองใด นอกจากเป็นสมาชิกของ "พรรคประเทศไทย" เป็นคนไทยคนหนึ่งที่อยากเห็นประเทศก้าวเดินไปข้างหน้า บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ประชาชนเป็นสุขโดยทั่วหน้ากัน ไม่ต้องการเห็นประเทศต้องย่ำอยู่กับที่ หรือหวนกลับสู่ภาวะวิกฤติเช่นอดีตที่ผ่านมา 


ทั้งมีความรู้สึกและทัศนะคติที่ดีอย่างกัลยาณมิตรต่อท่าน จึงมองด้วยความเป็นธรรม เข้าใจความจำเป็นของสถานการณ์บ้านเมือง ที่ท่านต้องเข้ามาแก้ปัญหาให้บ้านเมือง จึงขอเรียนเสนอต่อท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเป็นทางออกจากวิกฤติ ตามแนวทางที่ไม่มีผู้แพ้หรือผู้ชนะ ไม่มีใครทำให้ใครเสียหน้า หลังพิงฝาติดกำแพง  แบบไม่มีทางถอย ดังนี้ 


1. เพื่อยุติปัญหาที่เป็นต้นตอแห่งวิกฤติการเมือง นายกรัฐมนตรีควรตัดสินใจเป็นผู้ริเริ่มอย่างกล้าหาญ โดยเสนอเป็นมติของ ครม.ให้มีการลงประชามติ ตามพรบ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัธรรมนูญ ที่ 4/2564 โดยให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นชอบหรือไม่กับการที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 
 

2. หากมีการออกเสียงประชามติ แต่มิได้รับความเห็นชอบจากประชาชน ปัญหาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญย่อมตกไป หากได้รับความเห็นชอบเป็นประชามติของประชาชน ก็ให้พรรคร่วมรัฐบาลเป็นผู้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะโดยวิธีให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หรือโดยวิธีการที่ได้ขอประชามติจากประชาชนก็ได้ เพื่อให้มีการดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน อันจะก่อให้เกิดเป็นฉันทามติและความสมานฉันท์ของประชาชนในสังคมร่วมกัน 

และเมื่อมีการออกเสียงประชามติอีกครั้งและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่และจัดให้มีการเลือกตั้งโดยทั่วไป นายกรัฐมนตรี ควรประกาศยุติบทบาททางการเมือง และลงจากอำนาจเพื่อคืนประชาธิปไตยแก่ประชาชน ให้ช่วยกันประคับประคองให้เข้มแข็งมั่นคงต่อไป กระบวนการตามข้อ 1. และ 2. ควรจบและเสร็จสิ้นภายใน 1 -2 ปี เท่านั้น หากเร็วกว่านี้ก็ยิ่งดี
 

3. เพื่อส่งเสริมบรรยากาศแห่งความสามัคคีของคนในชาติ นายกรัฐมนตรี ควรเป็นผู้ประกาศและริเริ่มเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม แก่ผู้ต้องคดีทางการเมืองทั้งหมดทุกฝ่าย ตามที่เคยมีการศึกษาไว้แล้วเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความสามัคคีของคนในชาติ เพื่อให้ทุกคนทุกฝ่ายยุติความขัดแย้งทางการเมือง หันหน้ามาร่วมมือกันเข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน เพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มั่นคงและยั่งยืน เพื่อความรุ่งเรืองแก่ชาติบ้านเมืองสืบไป
 

4. ขอให้ นายกรัฐมนตรี และ ครม. ปรับเปลี่ยนความคิดและทัศนะคติต่อประชาชนเสียใหม่ ด้วยการแสดงออกถึงความรักความจริงใจต่อประเทศชาติและประชาชน ที่ต้องการเห็นบ้านเมืองก้าวเดินไปข้างหน้า หลุดพ้นจากกับดักของความขัดแย้งและวิกฤติการเมืองในอดีต และขอให้ประชาชนยอมรับการเมืองที่ผ่านมาเป็นเพียงจุดเปลี่ยนผ่านที่จำเป็นของการเมืองในอดีต ขอให้ทุกคนสามัคคีกันก้าวเดินไปสู่การเมืองใหม่ร่วมกัน
 

5. นายกรัฐมนตรี ควรปรับปรุงบุคคลิกลักษณะความเป็นผู้นำและการสื่อสารต่อประชาชนในภาวะวิกฤติเสียใหม่ ให้ดี และเหมาะสมกับสถานการณ์ ทุกครั้งที่พูดกับประชาชน ปราศรัยต่อสาธารณะ ควรเตรียมและกลั่นกรองให้ดี พูดในเวลาที่จำเป็นและเหมาะสม เพื่อเรียกความเชื่อถือและศรัทธาจากประชาชนกลับคืนมา โดยแนวทางและจุดยืนทางการเมืองดังกล่าว ตามที่เสนอมา นายกรัฐมนตรีต้องแถลงและประกาศต่อประชาชนให้ทราบโดยทั่วกัน


การพลิกบทบาททางการเมืองใหม่ของ นายกรัฐมนตรี จากภาพบทบาทนายทหารที่มีส่วนในการยึดอำนาจ มาสู่ความเป็นนักประชาธิปไตย ที่พร้อมเสียสละไม่ยึดติดในอำนาจ เปิดทางให้มีการแก้ไขและสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามเจตนารมณ์ของประชาชนร่วมกัน ด้วยการประกาศเป็นสัญญาประชาคมต่อประชาชนทั้งหลายและเพื่อบอกกล่าวส่งสัญญาณไปยังประชาคมโลก ด้วยความมุ่งมั่นจริงจังและจริงใจ ที่จะทำให้สำเร็จตามที่สัญญา น่าจะเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสม และทำให้ท่านมีความสง่างามทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง ในสายตาประชาชนและประชาคมโลก เชื่อว่าจะมีส่วนโน้มนำประชาชนทุกฝ่าย มุ่งหน้าสู่การสร้างประชาธิปไตยร่วมกัน 


หากเลือกทางออกจากวิกฤติดังกล่าว ผู้เขียนเชื่อโดยสุจริตใจว่า ท่านจะสามารถหยุดวิกฤติทางการเมืองได้ แต่ถ้าเลือกในทางตรงกันข้าม หรือโดยคิดที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปให้ยาวนานที่สุด ภายใต้รัฐธรรมนูญและสภาพการเมืองปัจจุบันนั้น ท่านย่อมต้องเผชิญกับปัญหาทางการเมืองอันหนักหน่วง และอุปสรรคความยากลำบากนานัปการ ก็สุดแท้แต่โชคชะตาวาสนาของท่าน ว่าจะฝ่าฟันวิบากกรรมนั้นไปได้หรือไม่อย่างไร จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ด้วยความปารถนาดีอย่างยิ่งครับ