กาลเวลาที่มีคุณค่าของชีวิต

03 ก.ค. 2564 | 07:43 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2564 | 18:18 น.
1.0 k

กาลเวลาที่มีคุณค่าของชีวิต : คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

“พฤกษผกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนเสน่ห์คง สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรี
สถิตย์ทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา”

            
วันนี้ผมขออนุญาตนำเอาบทพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ใน “กฤษณาสอนน้องคำฉันท์” มาฉั่วหัวเรื่องที่จะกล่าวถึงในวันนี้ครับ เราเคยสังเกตุมั้ยครับว่า หลังเกษียณอายุแล้ว ผู้สูงอายุบางท่านผ่านไปอีกไม่กี่ปี ก็จะมีสภาพที่กลายเป็นคนแก่ไปทันที เหตุการณ์เหล่านั้นทำให้เราต้องคิดว่า เราจะทำให้กาลเวลาที่เราเหลืออยู่ในโลกนี้ผ่านไปอย่างไร ให้มันมีคุณค่ามากที่สุด ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งต้องรำลึกเสมอว่า เราจะเหลือความดีงามอะไรไว้ให้คุณรุ่นหลังบ้าง ก็ต้องมั่นทำความดีไว้ไงละครับ แม้แต่ช้างสารวัวควาย เลวาที่ละสังขารจากโลกนี้ไป ยังคงทิ้งไว้ซึ่งงวงงากระดูกให้เป็นประโยชน์ต่อโลกได้ แล้วเราที่เป็นมนุษย์สุดประเสริฐละ จงอย่าให้สิ่งที่ติดอยู่กับตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นสมบัติที่จับต้องได้ หรือสมบัติที่จับต้องไม่ได้ เช่นความรู้และความดี ไม่ต้องถูกทิ้งไปโดยไม่เกิดประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังๆเลย คงต้องมีการวางแผนชีวิตไว้ให้คุณค่าของคนสามารถดำรงค์อยู่ตลอดไปนะครับ
         
ผมขออนุญาตเล่าต่อในสิ่งที่ผมได้ไปเห็นมาในบ้านพักคนวัยเกษียณที่เมืองซึสึกะ จังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น ของคุณอีบิซัง เพื่อนรัก ที่ทำให้ผมอดคิดต่อถึงชีวิตอีกหลายชีวิต ที่อาศัยอยู่ในบ้านพักนั้นว่า คุณอีบิซังได้จัดการได้อย่างลงตัวมากทีเดียวครับ ขอนำมาเล่าให้พวกเราคิดตามกันต่อนะครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราได้บ้างไม่มากก็น้อยครับ

ในสังคมญี่ปุ่น พ่อบ้านมักจะเป็นผู้ที่ต้องออกไปทำงาน ในขณะที่แม่บ้านจะมีหน้าที่ในการดูแลลูกเต้าและทำงานบ้านอย่างเดียว คุณอีบิซังจึงได้เชิญชวนให้แม่บ้านที่มีความรู้ความสามารถ ทุกวันที่หลังจากสามีไปทำงานแล้ว มักจะอยู่ว่างๆไม่ได้ทำงาน ไม่ให้อยู่ว่างเปล่า โดยให้มาเริ่มเรียนรู้วิธีบริบาลผู้สูงอายุที่โรงเรียนของท่าน จากนั้นจึงส่งให้ไปทำงานตามสถานบริบาลต่างๆ ที่ยังต้องการทรัพยากรบุคคลอีกเยอะ เพราะสังคมญี่ปุ่นที่ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย( Aging Society)ไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้ต้องการผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ให้บริการทางด้านนี้อีกมาก นับวันจะยิ่งไม่เพียงพอตามสัดส่วนของอัตราการเกิดของประชากรครับ
       
ในส่วนของการให้ความรู้ในด้านการบริบาลนั้น ท่านได้ให้ดึงเอาความรู้ความสามารถของเหล่าผู้เรียนที่มีอยู่เป็นทุนเดิม ออกมาใช้ในการบริการอย่างชาญฉลาด เพราะต้องยอมรับว่าคนเราทุกคน ต้องมีความชำนาญในศาสตร์แต่ละแขนงไม่เหมือนกัน เช่นบางคนอาจจะถนัดวาดภาพ  บางคนอาจจะถนัดประดิษฐ์ดอกไม้ ปักแจกัน เย็บปักถักร้อย หรือร้องรำทำเพลง สิ่งเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ต่อผู้สูงอายุทั้งสิ้น เพราะสามารถนำเอามาใส่ในตารางกิจกรรมประจำวันให้แก่ผู้สูงอายุได้อย่างเป็นประโยชน์ยิ่ง นี่แหละที่บางคนที่มีความสามารถอยู่ แต่คิดไม่ถึงว่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับคนที่ต้องการได้อย่างลงตัว

สิ่งหนึ่งที่คนเราทุกคนเมื่อแก่ตัวลง ที่น่ากลัวที่สุดคือ “ความเหงา” ดังนั้นทุกวันในสถานบริบาลผู้สูงอายุ จึงจำเป็นต้องจัดทำโปรแกรมที่ไม่ให้ผู้สูงอายุที่พักอาศัยอยู่ เกิดความรู้สึกว่า “เหงา”ได้ ทุกวันหลังอาหารเช้า จึงได้สร้างตารางโปรแกรมของแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ที่ไม่เหมือนกัน โดยใช้ความรู้ความสามารถของผู้ให้บริการบริบาลที่เป็นแม่บ้านเหล่านั้น เป็นผู้สอนให้แก่ผู้สูงอายุที่พักอาศัยนั่นเอง อีกทั้งการสอนก็จะแบ่งกลุ่มกันออกไป กลุ่มละไม่เกินเก้าคน แล้วให้เวลาแต่ละกลุ่มในการฝึกฝนอย่างเต็มที่ หลังจากฝึกฝนไปแล้วสักระยะหนึ่ง ก็จะนำเอาผลงานของแต่ละกลุ่มออกมาประกวดแข่งขันกัน แล้วมีการประกาศรางวัลต่างๆให้เกิดความสนุกสนานกันในหมู่คณะของผู้สูงอายุ ซึ่งทำให้เขาเหล่านั้นทุกคนได้ใช้เวลาที่เหลืออยู่ในชีวิต ถูกใช้ไปอย่างมีคุณค่า ทั้งผู้สูงอายุเองจะเกิดความเพลิดเพลิน ไม่รู้สึกเหงา ในขณะที่ผู้ให้การบริบาลก็เกิดความรู้สึกว่า ความรู้ความสามารถของตนเองไม่ได้ตายไปกับตัวเองโดยไม่ได้มีการนำออกมาใช้ให้เป็นปะโยชน์ จึงเป็นความชาญฉลาดของผู้สอนที่สามารถดึงเอาความรู้ของผู้เรียนออกมาอย่างถูกจังหวะจะโคลนเลยครับ
           
ที่น่ารักและน่าสนุกในการเรียนของผู้สูงอายุ คือการเรียนเต้นรำและร้องเพลง ในวันที่ผมได้ไปพบเห็นมา เป็นวันที่แข่งขันร้องเพลง เนื่องจากผู้สูงอายุแต่บางท่าน ที่มีวัยย่างเข้าสู่บั้นปลายของชีวิตแล้ว ไม่ต้องพูดถึงการร้องเพลงเลย แม้แต่การพูดก็ไม่สามารถออกเสียงได้อย่างที่ใจต้องการแล้ว แต่ท่านก็ยังพยายามที่จะเปล่งเสียงร้องออกมาให้ไพเราะที่สุดตามความเข้าใจของท่านเอง จึงเป็นภาพที่น่ารักมากๆ ซึ่งต่อมาอีกหลายปี ผมได้เห็นไลน์กลุ่มเพื่อนๆที่ส่งภาพที่มีสภาพบุรุษท่านหนึ่ง ที่พยายามร้องเพลงด้วยความสามารถของท่าน แต่ท่านก็ร้องได้ผิดคีย์อย่างน่ารักมากๆ ผมไม่ได้มองด้วยความตลกขบขันนะครับ แต่ผมมองในมุมที่ท่านได้พยายามแสดงออกถึงความกระตือรือล้นที่จะเปล่งเสียงของท่าน แม้คนอื่นอาจจะมองด้วยความตลก แต่ผมก็คิดย้อนไปถึงภาพที่ผมได้เห็นในสถานบริบาลผู้สูงอายุแล้ว ทำให้ผมเกิดความเข้าใจทันทีเลยครับ อย่าอายที่จะทำอะไร ในเมื่อวันเวลาที่เหลือให้เราทำนั้นมันเหลือไม่มากแล้ว จงมั่นใจและทำเถอะครับ ถึงแม้ทุกอย่างที่เราทำจะไม่ได้ถูกมองว่าเรามีความสามารถหรือเก่งกาจ แต่ถ้าสามารถสร้างความสุขให้ตัวเราเองได้ ก็จงทำเลยไม่ต้องรอให้ถึงวันที่ไม่สามารถทำได้แล้วค่อยอยากจะทำครับ