ไอเดียสุดโต่ง ยึดฉนวนกาซาเปลี่ยนเป็นริเวียร่าตะวันออกกลาง

06 ก.พ. 2568 | 08:00 น.

แผนการยึดครองฉนวนกาซา และเปลี่ยนเป็นริเวียร่าตะวันออกกลางของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ กำลังทำให้นานาชาติไม่พอใจเเละวิจารณ์อย่างหนัก

ประเทศต่างๆ ในยุโรปร่วมกับประเทศอาหรับออกมาตำหนิการประกาศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐที่ว่าต้องการเข้าควบคุมฉนวนกาซาและบังคับให้ผู้อยู่อาศัยอพยพไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งจอร์แดนและอียิปต์

คำพูดของทรัมป์ที่ว่าสหรัฐฯ ควร “ครอบครอง” กาซาและเปลี่ยนจาก “สถานที่รื้อถอน” ให้กลายเป็น “ริเวียร่าแห่งตะวันออกกลาง” ก่อให้เกิดการตอบโต้ทันทีจากเจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์ พันธมิตรในภูมิภาคของพวกเขาในตะวันออกกลาง และเมืองหลวงสำคัญของยุโรป

แอนนาเลน่า แบร์บ็อค รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี กล่าวว่า ข้อเสนอที่ให้ชาวปาเลสไตน์อพยพออกไป ไม่สามารถยอมรับได้ และขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

ขณะเดียวกัน โฆษกรัฐบาลฝรั่งเศสกล่าวว่าทปารีส คัดค้านการอพยพของประชากรอย่างเต็มที่และกล่าวว่าข้อเสนอของทรัมป์นั้นเป็นอันตราย ต่อเสถียรภาพในภูมิภาค

เราจะไม่ยอมให้สิทธิของประชาชนของเรา ซึ่งได้ต่อสู้และเสียสละมาหลายทศวรรษเพื่อให้ได้มาถูกละเมิด ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ มะห์มุด อับบาส กล่าวในแถลงการณ์

ผลพวงจากสงครามทำลายล้างของอิสราเอลในฉนวนกาซาดูเหมือนเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไขมาช้านาน กลุ่มติดอาวุธฮามาสซึ่งปัจจุบันปกครองฉนวนกาซาและอิสราเอลกำลังเจรจากันโดยมีกาตาร์และอียิปต์เป็นตัวกลาง และได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ซึ่งหวังที่จะหาทางออกสำหรับการฟื้นฟูและการปกครองดินแดนดังกล่าวในอนาคต 

บาเดอร์ อับเดลัตตี รัฐมนตรีต่างประเทศอียิปต์ ย้ำถึงการสนับสนุนของประเทศต่อสิทธิอันชอบธรรมและไม่สามารถโอนให้ผู้อื่นได้ของชาวปาเลสไตน์และได้พูดถึงความจำเป็นในการวางแผนการฟื้นฟูและบูรณะใหม่ในระยะเริ่มต้นในฉนวนกาซาต่อทางการปาเลสไตน์ ภายหลังการประชุมกับนายกรัฐมนตรีปาเลสไตน์ โมฮัมเหม็ด โมสตาฟา

ในแถลงการณ์กระทรวงต่างประเทศซาอุดีอาระเบียกล่าวว่า ได้เตือนรัฐบาลสหรัฐฯ ในอดีตและปัจจุบันเกี่ยวกับสิทธิของชาวปาเลสไตน์ และย้ำว่าจะไม่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล หากมีการละเมิดเงื่อนไขบางประการ

ไม่กี่วันที่ผ่านมา ทรัมป์พูดซ้ำๆ อย่างว่าชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาควรอพยพไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเริ่มเสนอแนวคิดนี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มกราคม ภายหลังจากการโทรศัพท์คุยกับกษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน และทำให้เกิดการประณามอย่างว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้เท่ากับเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์และละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ฮามาสและอิสราเอลกำลังเริ่มเจรจาเพื่อหาข้อตกลงในการขยายเวลาหยุดยิงที่ยังไม่แน่นอนในฉนวนกาซา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงสันติภาพสามระยะ หลังจากที่กองทหารอิสราเอลโจมตีพื้นที่ชายฝั่งเป็นเวลานาน 15 เดือน เพื่อตอบโต้การโจมตีของฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566

การปกครองในอนาคตและการฟื้นฟูพื้นที่ที่ถูกทำลายยังคงไม่ชัดเจน แต่แผนของทรัมป์ถือเป็นจุดยืนที่ชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ที่มีต่อฉนวนกาซา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังระบุว่า น่าจะแสดงจุดยืนเกี่ยวกับเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งเป็นดินแดนที่ยึดมาจากจอร์แดนและถูกอิสราเอลยึดครองมาตั้งแต่ปี 2510 ในเดือนหน้า

เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ประเทศอาหรับคัดค้านการขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกไป แต่จุดยืนดังกล่าวมีความเข้มแข็งมากขึ้นนับตั้งแต่ทรัมป์กลับมาควบคุมทำเนียบขาวอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 มกราคม

รัฐมนตรีต่างประเทศจากประเทศอาหรับต่างๆ รวมถึงอียิปต์ จอร์แดน กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปฏิเสธการย้ายถิ่นฐานชาวปาเลสไตน์จากดินแดนของตนไม่ว่าภายใต้สถานการณ์ใด ในระหว่างการประชุมที่กรุงไคโร เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ สำหรับประเทศอาหรับ เจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์ และชุมชนนานาชาติส่วนใหญ่ การที่ชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์ต้องลี้ภัยอีกครั้ง จะทำให้แนวทางสองรัฐที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอ่อนแอลง