สงครามการค้ารอบใหม่ “ทรัมป์ 2.0” กำลังลุกลาม และจ่อขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มจากเม็กซิโก และแคนาดาที่สหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเพิ่มในอัตรา 25% และจีนในอัตรา 10% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งต่อมาผู้นำของเม็กซิโก และแคนาดาออกมาตอบโต้จะปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐในอัตราเดียวกัน
แต่ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงถัดมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาประกาศเลื่อนการเก็บภาษีสินค้าเพิ่มจากเม็กซิโก และแคนาดาออกไปอีก 30 วัน หลังทั้งสองประเทศยอมทำตามคำเรียกร้องของทรัมป์ในหลายเรื่อง ขณะที่จีนประกาศมาตรการตอบโต้สหรัฐ โดยเรียกเก็บภาษี 15% สำหรับถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ รวมถึงภาษี 10% สำหรับน้ำมันดิบ เครื่องจักรทางการเกษตร และรถยนต์บางประเภท โดยมาตรการนี้จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568
นอกจากนี้จีนยังเปิดฉากเล่นงานบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ โดยเริ่มการสอบสวนการผูกขาดกับ Alphabet Inc. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไบโอเทคของสหรัฐฯ อย่าง Illumina และบริษัท PVH Corp. ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นชื่อดัง Calvin Klein ก็ถูกเพิ่มเข้าไปในบัญชีหน่วยงานที่ไม่น่าเชื่อถือของจีน
ในส่วนของประเทศไทยนายพงษ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก(4 ก.พ. 68) ว่า ประเทศไทยเตรียมพร้อมการนำเข้าเอทานอล และสินค้าเกษตรจากสหรัฐเพิ่มเติมเพื่อลดแรงกดดันเรื่องการขาดดุลการค้าของสหรัฐที่มีต่อไทย และลดความเสี่ยงจากสหรัฐที่ขู่ทำสงครามการค้ากับหลายประเทศ
โดยรัฐบาลได้ขอให้บริษัทด้านปิโตรเคมีของไทย เพิ่มปริมาณการซื้อเอทานอลจากสหรัฐอย่างน้อย 1 ล้านตัน ซึ่งตามมูลค่าตลาดปัจจุบันจะมีมูลค่าประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6,780 ล้านบาท)
ต่อสงครามการค้ารอบใหม่ที่ส่อขยายวงไปในประเทศที่เป็นคู่ค้าของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่มีความเสี่ยงจะถูกสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า ในมุมมองของผู้นำภาคเอกชน ไทยจะได้หรือเสีย และต้องเตรียมรับมืออย่างไรนั้น
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในเบื้องต้นหากครบกำหนด 30 วัน และสหรัฐยังยืนยันจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากเม็กซิโก และแคนาดาที่ 25% มองว่าไทยจะได้รับผลในเชิงบวกในการส่งออกไปสหรัฐในกลุ่มสินค้าที่สามารถทดแทนสินค้าประเภทเดียวกันจากเม็กซิโก และแคนาดาได้ ซึ่งนอกจากประเทศไทยแล้ว ในส่วนของประเทศผู้ส่งออกอื่น ๆ ก็มีโอกาสเช่นกัน
อย่างไรก็ดีเมื่อถามว่าอานิสงส์ของไทยในส่วนนี้จะหลุดลอยไปหรือไม่ หากในช่วงต่อไปสินค้าไทยอาจถูกสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าเช่นกัน
ประธาน ส.อ.ท.กล่าวยอมรับว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยง หรืออยู่ในจอเรดาร์ที่อาจถูกสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า เนื่องจากในปี 2567 ล่าสุด ไทยเป็นประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐอยู่ในอันดับที่ 11 จากปี 2562 อยู่ในอันดับที่ 14 ดังนั้นสิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการคือ จะต้องมีการตั้งวอร์รูมรัฐ-เอกชน เพื่อติดตามทิศทางสถานการณ์ และประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดในการป้องกันและแก้ไขปัญหา
“นอกจากเราต้องมีวอร์รูมแล้ว เราต้องเตรียมล็อบบี้ยิสต์ ที่เก่ง ๆ ที่เป็นมือฉมังของอเมริกาเพื่อไปล็อบบี้ ไปคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงการเจรจากับฝ่ายการเมือง รัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องของสหรัฐ ที่จะป้อนข้อมูลให้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีความชัดเจนตรงไปตรงมา คำนึงผลประโยชน์ของอเมริกาต้องมาก่อน ดังนั้นหากเราได้แต่ฝ่ายเดียวและส่งคนของเราไปชี้แจงอาจจะมีน้ำหนักน้อย เพราะเขาจะหาว่าเราแก้ตัว และเขาก็คงไม่ยอม”
ดังนั้นไทยต้องเตรียมความพร้อมว่าจะเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อะไรกับสหรัฐบ้าง ซึ่งเขาอาจจะบังคับเรา เช่น ให้ซื้ออาวุธเขาให้มากขึ้น ซื้อสินค้าทางการเกษตรมากขึ้น เช่น เนื้อหมู ซึ่งเนื้อหมูไทยอาจจะไม่เอา เพราะเนื้อหมูสหรัฐมีสารเร่งเนื้อแดง หรือไม่เช่นนั้นไทยจะซื้อข้าวโพดอาหารสัตว์ หรือถั่วเหลืองจากสหรัฐเพิ่มได้หรือไม่ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ไทยต้องเตรียมในการพูดคุยแลกเปลี่ยนและเจรจากับสหรัฐ
อย่างไรก็ดีหากถามถึงโอกาสที่ไทยจะรอดพ้นไม่ถูกสหรัฐขึ้นภาษีสินค้ามีโอกาสมากน้อยเพียงใด เรื่องนี้ตอบยากมากเพราะโดนัลด์ ทรัมป์ มีลูกเล่นและเป็นนักเจรจาต่อรอง ตัวอย่างก่อนหน้านี้ประกาศจะขึ้นภาษีสินค้าจีน 60-100% แต่เบื้องต้นยังขึ้นภาษีเพียง 10% ส่วนของไทยจะถูกขึ้นภาษีหรือไม่ ในอัตรามากน้อยเพียงใดคงขึ้นอยู่กับการเจรจา
นอกจากไทยที่มีความเสี่ยงแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่อยู่ในเป้าหมายที่อาจถูกสหรัฐขึ้นภาษี เช่น กลุ่ม BRICS (ที่ไทยเพิ่งเข้าเป็นสมาชิก) รวมถึงเวียดนาม มาเลเซียที่อยู่ในลำดับต้น ๆ ของประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ รวมถึงประเทศในยุโรป ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงตลาดสหรัฐ ไทยต้องเร่งหาตลาดอื่นชดเชย เหมือนกับที่จีนทำ