‘ทรัมป์’ ย้ำจุดยืน ‘อเมริกามาก่อน’ ขู่ยึดคลองปานามา-ซื้อกรีนแลนด์

24 ธ.ค. 2567 | 11:30 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2567 | 11:33 น.


"โดนัลด์ ทรัมป์" ประกาศนโยบายต่างประเทศเชิงรุก ย้ำจุดยืน "อเมริกามาก่อน" สร้างแรงกระเพื่อมในเวทีโลกต่อเนื่อง

โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังเตรียมกลับสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศอีกครั้งอย่างเป้นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2568 ได้แสดงออกถึงแนวทางนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวและเต็มไปด้วยการเรียกร้องที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาคมโลก โดยเฉพาะการขู่ยึด "คลองปานามา" และแสดงความต้องการซื้อ "เกาะกรีนแลนด์" อีกครั้ง ซึ่งสะท้อนถึงแนวคิด "America First" หรือ "อเมริกามาก่อน" ที่คำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นอันดับแรก

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทรัมป์ได้กล่าวสุนทรพจน์ในรัฐแอริโซนา พร้อมระบุว่าสหรัฐฯ ควรทวงคืนการควบคุมคลองปานามา เนื่องจากค่าธรรมเนียมในการผ่านคลองสูงเกินไป โดยได้กล่าวหาโดยตรงว่ามีการแทรกแซงของจีนในภูมิภาคนี้ แม้ข้อกล่าวหาดังกล่าวจะถูกปฏิเสธโดยรัฐบาลปานามา

ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ชี้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ให้ความสนใจต่ออิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนในละตินอเมริกา โดยเฉพาะการบริหารจัดการท่าเรือที่สำคัญสองแห่งบริเวณคลองปานามาโดยบริษัทจากฮ่องกง ความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนถึงความพยายามของทรัมป์ที่จะใช้ "อำนาจต่อรอง" และ "การแสดงอำนาจ" เพื่อสกัดกั้นบทบาทของจีนในภูมิภาค

แม้แนวทางนี้จะได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่เชื่อในนโยบาย "อเมริกามาก่อน" แต่ผู้เชี่ยวชาญกลับเตือนว่า การข่มขู่พันธมิตรอาจสร้างผลเสียระยะยาว เนื่องจากอาจผลักให้ประเทศเหล่านี้หันไปหาอำนาจอื่น เช่น จีน หรือรัสเซีย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในอนาคต

นอกจาก "คลองปานามา" แล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ ยังฟื้นความต้องการที่จะซื้อ "เกาะกรีนแลนด์" ซึ่งเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของเดนมาร์ก โดยเขาระบุว่าเกาะดังกล่าวมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคอาร์กติกที่เส้นทางการค้าเริ่มเปิดกว้างขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

แม้ในอดีตข้อเสนอซื้อกรีนแลนด์จะถูกปฏิเสธโดยเจ้าหน้าที่เดนมาร์ก แต่ทรัมป์ยังคงมุ่งมั่นในแนวคิดนี้ และได้มีการพูดคุยในหมู่ทีมงานเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการทำข้อตกลงลักษณะเดียวกับ Compact of Free Association (COFA) ซึ่งจะทำให้กรีนแลนด์ยังคงมีอิสระ แต่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม การแสดงออกในลักษณะนี้ไม่ได้หยุดแค่พันธมิตรใกล้ชิดอย่างปานามาและเดนมาร์ก แต่ยังรวมถึงแคนาดา ซึ่งทรัมป์เคยล้อเล่นว่าอาจกลายเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ โดยเขายังข่มขู่จะเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาหากยังคงไม่ลดการไหลเข้าของผู้อพยพและยาเสพติด

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ท่าทีแข็งกร้าวของทรัมป์อาจเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ แต่ก็เสี่ยงต่อการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ยาวนานและซับซ้อน สำหรับผู้สนับสนุน ทรัมป์คือผู้นำที่กล้าหาญที่มุ่งมั่นปกป้องผลประโยชน์ของชาติ แต่สำหรับฝ่ายวิจารณ์ การแสดงออกเหล่านี้คือความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ความตึงเครียดและความแตกแยกในเวทีโลก