ย้อนรอยกฎอัยการศึกเกาหลีใต้ วิกฤตการเมืองครั้งใหญ่เงามืดประชาธิปไตย

04 ธ.ค. 2567 | 14:06 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2567 | 21:13 น.

เกาหลีใต้ประกาศกฎอัยการศึกในรอบ 50 ปี ก่อนยุติในไม่กี่ชั่วโมง สะท้อนเงามืดของประชาธิปไตยและการบริหารวิกฤตของผู้นำเกาหลีใต้

เมื่อคืนวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา เกาหลีใต้เผชิญเหตุการณ์ที่สร้างความตกตะลึงทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล ประกาศใช้กฎอัยการศึกอย่างกะทันหันผ่านทางโทรทัศน์ การประกาศดังกล่าวเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 50 ปี สร้างความตื่นตระหนกและความสงสัยถึงแรงจูงใจเบื้องหลัง โดยในคำประกาศ ยุน ซอกยอล อ้างถึง “กองกำลังต่อต้านรัฐ” และภัยคุกคาม ทว่าภายหลังมีการเปิดเผยว่าสาเหตุแท้จริงมาจากปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศเอง

ประชาชนหลายพันคนออกมารวมตัวประท้วงที่หน้ารัฐสภาในกรุงโซลอย่างรวดเร็ว โดยแสดงความไม่พอใจต่อการใช้อำนาจของประธานาธิบดี ขณะเดียวกัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคฝ่ายค้านรีบรุดไปยังสภาเพื่อจัดการประชุมเร่งด่วนเพื่อลงมติยกเลิกกฎอัยการศึก ความกดดันจากหลายฝ่ายทำให้เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังการประกาศ ด้านยุนซอกยอลจำต้องยอมรับมติของสภาและประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกในที่สุด แม้การตัดสินใจดังกล่าวจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในระยะสั้น แต่ความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือของเขาในฐานะผู้นำกลับยากที่จะฟื้นฟู

เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทางการเมืองที่ยังคงเปราะบางในเกาหลีใต้ แม้ประเทศจะก้าวเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2531 แต่ประวัติศาสตร์ของกฎอัยการศึกและการปกครองด้วยเผด็จการทหารยังคงเป็นบาดแผลที่หลงเหลือ การประกาศกฎอัยการศึกในอดีตมักถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้นำเพื่อควบคุมประชาชนและปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

ย้อนกลับไปในปี 2504 นายพล พัค จ็องฮี  ก้าวขึ้นสู่อำนาจหลังการทำรัฐประหารสำเร็จ โดยตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่นายพลพัคปกครองประเทศและใช้อำนาจในการประกาศกฎอัยการศึกหลายครั้งเพื่อสลายการประท้วงและกักขังผู้ที่วิจารณ์รัฐบาลของตนเอง หลังการลอบสังหารพักในปี 2522 นายพล ชอน ดูฮวาน ใช้กองกำลังและรถถังเข้ายึดอำนาจอีกครั้ง และในปีถัดมาได้สั่งปราบปรามการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในเมืองกวางจูอย่างรุนแรง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน

ในปี 2530 การประท้วงครั้งใหญ่ในช่วงฤดูร้อนได้เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ โดยบีบให้รัฐบาลของ ชอน ดูฮวาน ยอมรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยยุคที่หกในปี 2531 แม้ประชาธิปไตยจะได้รับการสถาปนา แต่เหตุการณ์เหล่านี้ยังคงเป็นเครื่องเตือนใจถึงความเปราะบางของระบอบการปกครองในประเทศ

การประกาศกฎอัยการศึกของ ยุนซอกยอล ในครั้งนี้ ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่เหมาะสมและเป็นสัญญาณของความล้มเหลวในการจัดการปัญหาภายในประเทศ ความพยายามของเขาในการควบคุมสถานการณ์กลับกลายเป็นการสร้างวิกฤตที่ใหญ่กว่าเดิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านเรียกร้องให้มีการถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง โดยมองว่าเขาไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศได้

เหตุการณ์นี้ยังสร้างคำถามสำคัญเกี่ยวกับอนาคตของประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ ในยุคที่ประเทศควรจะก้าวหน้าไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่มั่นคง เหตุการณ์การประกาศกฎอัยการศึกโดยประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเสรีกลับเป็นเครื่องเตือนใจถึงบทเรียนจากอดีต

ประชาชนเกาหลีใต้กำลังจับตามองอย่างใกล้ชิดว่ารัฐบาลจะฟื้นฟูความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอย่างไร ขณะเดียวกัน สถานการณ์นี้ได้สร้างแรงกระเพื่อมในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ทางการทูตของเกาหลีใต้ในภูมิภาค

ในท้ายที่สุด การประกาศกฎอัยการศึกในครั้งนี้แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ทว่าจะถูกจดจำในหน้าประวัติศาสตร์ในฐานะบทเรียนสำคัญที่สะท้อนถึงความเปราะบางของประชาธิปไตย และเป็นตัวอย่างของผลกระทบจากการบริหารวิกฤตที่ผิดพลาดของผู้นำประเทศในศตวรรษที่ 21