ราคาน้ำมันปาล์ม 3 บิ๊กผู้ผลิตปรับลดยกแผง หลังน้ำมันพืชทางเลือกเข้าชิงตลาด

23 พ.ค. 2567 | 15:15 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ค. 2567 | 09:05 น.
9.7 k

ราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ "Big3" อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ปรับลดทั่วหน้า หลังขยับสูงขึ้นเมื่อช่วงต้นปี แต่แนวโน้มเริ่มแผ่วในไตรมาสสองหลังน้ำมันพืชทางเลือกที่เป็นคู่แข่งทะลักเข้าตลาด ดึงลูกค้าด้วยราคาที่ถูกกว่า รวมทั้งปัจจัยลบอื่นๆ

ราคาน้ำมันปาล์มดิบ ในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคมนี้ ลดลงยกแผงใน สามประเทศผู้ผลิตรายสำคัญของโลก คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เป็นผลมาจากน้ำมันพืชทางเลือกที่เป็นคู่แข่ง เช่น น้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันเมล็ดทานตะวันที่มีราคาถูกกว่า ออกมาสู่ตลาดโลกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ป่าของสหภาพยุโรป (อียู) ที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มในอนาคต

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันปาล์มดิบในอินโดนีเซียอยู่ที่1.46 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 1.35% เมื่อเทียบสัปดาห์ต่อสัปดาห์ (week-on-week หรือ WoW) ราคาในมาเลเซียอยู่ที่ 0.82 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 3.53% WoW ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มในประเทศไทยอยู่ที่ 0.87ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 2.25% WoW 

ในช่วงต้นปี 2567 ราคาน้ำมันปาล์มดิบขยับสูงขึ้นซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีเมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ราคาปรับตัวลดลงมาก โดยราคาน้ำมันปาล์มซื้อขายล่วงหน้าของมาเลเซียที่ใช้เป็นราคาอ้างอิง (benchmark prices) ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ปรับสูงขึ้น 5% นับตั้งแต่ต้นปี หลังจากที่ราคาลดลงโดยรวมถึง 11% ในปีก่อนหน้า (ข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์)

อย่างไรก็ตาม น้ำมันปาล์มมีคู่แข่งสำคัญเป็นทางเลือกที่ราคาถูกกว่า คือน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันเมล็ดทานตะวัน ที่เข้ามาช่วงชิงลูกค้า มีผลฉุดรั้งราคาน้ำมันปาล์มที่กำลังฟื้นตัว 

เทียบราคาน้ำมันปาล์มในสามประเทศผู้ผลิต

 

ลูกค้าหันหาน้ำมันพืชชนิดอื่นที่มีราคาถูกกว่า

นายวิพิน กุปตา (Vipin Gupta) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทผู้ค้าสินค้าโภคภัณฑ์ เกล็นเทค กรุ๊ป (Glentech Group)ในเมืองดูไบ ให้มุมมองว่า มีการผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันเมล็ดทานตะวันออกมาสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่การผลิตน้ำมันปาล์มลดลงสวนทางกัน ทำให้ทิศทางราคาฉีกต่างกันไปด้วย เนื่องจากน้ำมันปาล์มนั้นมีราคาสูงกว่า ทำให้ลูกค้าบางส่วนผละจากน้ำมันปาล์มไปซื้อน้ำมันชนิดอื่นๆที่ถูกกว่า ซึ่งยิ่งทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของราคาน้ำมันปาล์มถูกจำกัดไปด้วย

ราคาน้ำมันปาล์ม (หน่วย: ดอลลาร์สหรัฐ/กก.) ที่ลดลงใน 3 ประเทศผู้ผลิต สัปดาห์ล่าสุด (W18 2024) ยังคงลดลงทั่วหน้า (ที่มา: tridge.com)

สอดคล้องกับรายงานของ ฟิตช์เรตติ้ง (Fitch Ratings) ที่เผยแพร่ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า

ราคาน้ำมันปาล์มแข็งแกร่งขึ้นในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ แต่ก็มีแนวโน้มแผ่วลงหลังจากนั้น โดยคาดหมายว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบของมาเลเซีย (crude palm oil หรือ CPO) ที่ใช้เป็นราคาอ้างอิง จะปรับลดลงนับตั้งแต่ไตรมาสสองเป็นไป ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณน้ำมันพืชตัวอื่นๆมีออกมาสู่ตลาดโลกเป็นจำนวนมากจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและราคาปุ๋ยที่ปรับลดลงมา อันเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีผลผลิตออกมามาก และจะยังส่งผลกดดันราคาน้ำมันปาล์มต่อไปในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า 

เป็นที่คาดหมายว่า ราคาอ้างอิงน้ำมันปาล์มสำหรับปี 2567 และ 2568 จะอยู่ที่ระดับ 700 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน  

ราคาน้ำมันปาล์มดิบรายสัปดาห์ (W = week) ในอืนโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย จะเห็นแนวโน้มปรับลดลง (หน่วยราคา: ดอลลาร์สหรัฐ/กก.)

ส่วนราคา spot price น้ำมันปาล์มดิบมาเลเซียซึ่งเป็นราคาอ้างอิงในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นจากระดับต่ำกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ในเดือนธันวาคม 2566 สู่ระดับเหนือ 900 ดอลลาร์สหรัฐ/ตันในเดือนมีนาคม 2567 เป็นผลมาจากปริมาณน้ำมันปาล์มในสำรองที่มีอยู่ในระดับต่ำของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย ประกอบกับตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับผลผลิตน้ำมันพืชในตลาดโลก  

แต่เมื่อมองราคาซื้อขายล่วงหน้าจะพบว่า ราคา CPO ของมาเลเซีย ณ ช่วงปลายเดือนเมษายน 2567 ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 798.75 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ซึ่งเป็นการลดลง 66.50 ดอลลาร์เมื่อเทียบกับสถิติของเดือนมีนาคม (ข้อมูลอ้างอิง CME Group)

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อินเดีย ซึ่งเป็นผู้ซื้อนำมันพืชรายใหญ่ของโลก ได้ปรับลดการนำเข้าน้ำมันปาล์มและเพิ่มการซื้อน้ำมันอื่นๆ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง ในหลายเดือนข้างหน้า โดยนายสัญชีพ แอสทานา (Sanjeev Asthana) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทปาทานจาลี ฟู้ดส์ จำกัด (Patanjali Foods Ltd) ผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของอินเดีย ให้ความเห็นว่า อินเดียนำเข้าน้ำมันปาล์มน้อยลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบสามเดือนคือที่ 787,000 ตันเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะที่นำเข้าน้ำมันถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น 24 % เป็น 190,000 ตัน 

ผู้ค้าอีกรายกล่าวว่า ปริมาณนำเข้าน้ำมันถั่วเหลืองของอินเดีย อาจเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ตันในเดือนมีนาคมและ 400,000 ตันในเดือนเมษายน ขณที่ปริมาณนำเข้าน้ำมันปาล์มหล่นมาอยู่ที่ราวๆ 700,000 ตันเท่านั้น  

ทั้งนี้ อินเดียนำเข้าน้ำมันปาล์มส่วนใหญ่จากอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ส่วนน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันเมล็ดทานตะวันนั้น นำเข้าส่วนใหญ่จากอาร์เจนตินา บราซิล รัสเซีย และยูเครน 

นอกจากจะต้องเผชิญกับการช่วงชิงลูกค้ากับน้ำมันพืชประเภทอื่นๆที่มีราคาถูกกว่า น้ำมันปาล์มยังถูกซ้ำเติมโดยราคาขนส่งทางเรือที่สูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องส่งให้กับลูกค้าในยุโรป 

ตัวแปรที่อาจดันให้ราคาปรับสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ของฟิตช์เรตติ้งระบุว่า ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อประโยชน์ (upside risks) หรือเป็นผลบวกต่อราคา 2 ประการ คือ 

  1. สภาวะอากาศที่ปรวนแปรจากปรากฏการณ์สำคัญ ทั้ง "เอลนีโญ" และ "ลานีญา" ภายในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ที่อาจส่งผลต่อปริมาณการผลิต
  2. กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้นในอินโดนีเซียที่เป็นอีกประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก ที่กำหนดให้มีการผสมน้ำมันปาล์มในเชื้อเพลิงไบโอดีเซลในสัดส่วนที่มากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีความต้องการใช้ CPO เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

ปริมาณน้ำมันปาล์มมีแนวโน้มที่จะลดลงในประเทศผู้ผลิต ซึ่งหมายความว่า พวกเขามีเหตุผลที่จะสามารถกำหนดราคาให้สูงขึ้นได้บ้าง  
 

ข้อมูลอ้างอิง