วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยแนวโน้มธุรกิจ-อุตสาหกรรม ปี 2567-2569 อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม โดยระบุว่า อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มโดยรวมปี 2566 มีทิศทางขยายตัว โดยอุปทานมีแรงหนุนจากผลผลิตต่อไร่ที่สูงจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยโดยเฉพาะภาคใต้ ราคาผลปาล์มที่จูงใจเกษตรกรเก็บเกี่ยว และเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่สูงขึ้นจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะที่เหมาะสมมากขึ้น
ส่วนอุปสงค์เร่งตัวตามคำสั่งซื้อจากในประเทศเป็นหลักจากการเปิดประเทศ การกลับมาดำเนินธุรกิจปกติโดยเฉพาะร้านอาหาร การบริโภคที่กระเตื้องขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยว มาตรการปรับสูตรน้ำมันไบโอดีเซลเพิ่มจาก B5 เป็น B7
อย่างไรก็ตาม การส่งออกหดตัวจากตลาดอินเดียและมาเลเซียผลจากราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยที่สูงกว่าราคาตลาดโลกและการหันไปใช้น้ำมันพืชชนิดอื่นที่มีราคาถูกกว่าน้ำมันปาล์ม
สำหรับปี 2567-2569 อุปทานปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มโดยรวมมีทิศทางหดตัวจากผลกระทบจากปรากฏการณ์ El Niño ขณะที่ความต้องการในประเทศขยายตัวจากอุตสาหกรรมอาหารและโอเลโอเคมิคอลตามภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวจากการเปิดประเทศเต็มที่มากขึ้นหลัง COVID-19 คลี่คลาย การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวที่กระตุ้นธุรกิจร้านอาหาร และอุตสาหกรรมอาหาร ตลอดจนอุตสาหกรรมไบโอดีเซลที่ขยายตัวตามการฟื้นตัวของภาคขนส่ง
อย่างไรก็ตาม การส่งออกมีทิศทางหดตัวจากผลผลิตภายในประเทศที่ลดลงทำให้สต๊อกส่วนเกินไม่สูงมากนัก ประกอบกับราคาส่งออกที่มีแนวโน้มสูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มมีแนวโน้มปรับขึ้นเล็กน้อยตามผลผลิตที่ลดลงและความต้องการในประเทศที่สูงขึ้น
เจาะลึกมุมมองวิจัยกรุงศรีเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ในปี 2567-2569 (อ่านฉบับเต็มคลิกที่นี่)
อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มโดยรวมปี 2567-2569 มีทิศทางขยายตัว โดยความต้องการได้แรงหนุนจากกำลังซื้อภายในประเทศทั้งอุตสาหกรรมอาหารโอเลโอเคมิคอล อุตสาหกรรมไบโอดีเซล ส่งผลให้รายได้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังมีความเสี่ยงจากอุปทานภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับลดลงตามอัตราผลผลิตต่อไร่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ระดับราคาผลปาล์มสดมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นและอาจส่งผลต่ออัตรากำไรของธุรกิจ
เกษตรกรปาล์มน้ำมัน
- รายได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามภาวะอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยฟื้นตัวและมาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่ยังคงช่วยให้ระดับราคาผลปาล์มสดสูงกว่าระดับต้นทุน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งที่จะส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง และต้นทุนราคาปุ๋ยที่ยังสูง
โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ
- ปี 2567-2569 รายได้มาจากแรงหนุนของตลาดในประเทศเป็นหลัก ตามการเปิดประเทศ การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว และการขยายตัวของภาคขนส่งเชิงพาณิชย์ ประกอบกับมาตรการสนับสนุนและยกระดับมาตรฐานพลังงานของภาครัฐที่ยังคงมีต่อเนื่อง อาทิ การนำน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น การนำไปผลิตไบโอดีเซล และการสนับสนุนการส่งออกน้ำมันปาล์ม
- อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตรวมของโรงสกัดที่สูงกว่าปริมาณผลปาล์มสดที่ออกสู่ตลาดส่งผลให้มีอัตรากำลังการผลิตส่วนเกินในธุรกิจ รวมถึงการแข่งขันแย่งชิงวัตถุดิบจะผลักดันให้ต้นทุนการผลิตของน้ำมันปาล์มดิบสูงขึ้น อาจกดดันผลกำไรของธุรกิจหรือมีผลให้โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบเผชิญปัญหาขาดทุนจากสต๊อกในบางช่วงเวลา โดยเฉพาะโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบรายย่อยที่ไม่มีเครือข่ายโรงกลั่นน้ำมันหรืออุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ น้ำมันไบโอดีเซล ผลิตภัณฑ์กลุ่มโอเลโอเคมิคอล (Oleochemicals)/ หรือผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการผลิต อาทิ กลีเซอรีนบริสุทธิ์/ สารเปลี่ยนสถานะ (Phase Change Material : PCM)/ แฟตตี้แอลกอฮอล์ (Fatty Alcohols)
- ขณะที่รายได้จากการส่งออกมีแนวโน้มลดลง ตามผลผลิตในประเทศตลอดจนการลดการพึ่งพาของประเทศคู่ค้า
โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์
- ผลประกอบการยังมีแนวโน้มเติบโตดี จากความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่มีแนวโน้มเติบโต 3.0%-4.0% จากแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารที่น่าจะกลับมาเติบโตตามทิศทางการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร ประกอบกับอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล ที่คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบ/ไขมันปาล์ม (ได้จากกระบวนการสกัดบริสุทธิ์) เพิ่มขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของการบริโภคสินค้าในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ ผงซักฟอก สบู่ ยา และเครื่องสำอาง
ผู้ค้าพืชน้ำมันที่ใช้ในการผลิตน้ำมันพืช (ลานเทปาล์มน้ำมัน)
- รายรับมีแนวโน้มชะลอลงตามปริมาณผลปาล์มสดที่มีทิศทางหดตัว จากผลกระทบของปรากฏการณ์ El Niño อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการลานเทยังมีอำนาจการต่อรองสูงกว่าเกษตรกรปาล์มน้ำมันซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายย่อยที่จำเป็นต้องพึ่งพาการขายผลปาล์มน้ำมันผ่านลานเท