การค้าโลกสะเทือน อิหร่านขู่ปิดช่องแคบฮอร์มุซ ตอบโต้อิสราเอล

10 เม.ย. 2567 | 12:43 น.
อัปเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2567 | 13:45 น.

การค้าโลกระทึกอีกครั้ง หลังกองทัพอิหร่านประกาศว่า การเคลื่อนไหวของอิสราเอลเป็นภัยคุกคามต่ออิหร่าน รวมทั้งการโจมตีสถานกงสุลอิหร่านในซีเรียเมื่อเร็วๆนี้ ดังนั้น "หากจำเป็น" อิหร่านอาจพิจารณาปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าโลกที่สำคัญ เพื่อเป็นการตอบโต้

นายพลอาลีเรซา ตังซีรี ผู้บัญชาการกองทัพเรือของ กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน (IRGC) ประกาศวานนี้ (9 เม.ย.) ว่า การที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เปิดรับอิสราเอลถือเป็นภัยคุกคามต่ออิหร่าน และ อิหร่าน อาจ ปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าโลกที่สำคัญ หากจำเป็น

ทั้งนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอิหร่านตั้งอยู่ตรงข้ามกันโดยมีอ่าวเปอร์เซียกั้นกลาง ก่อนหน้านี้ ในปี 2563 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้บรรลุข้อตกลงเชื่อมสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลครั้งแรกในรอบ 30 ปีโดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวกลาง แต่ในขณะเดียวกัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังคงมีความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับอิหร่านตามปกติ

อย่างไรก็ตาม จากกรณีกองทัพอิสราเอลได้โจมตีทางอากาศสถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านเสียชีวิต 7 นาย ซึ่งรวมถึงผู้บัญชาการอาวุโส 2 นาย อิหร่านประกาศชัดเจนว่า จะตอบโต้ปฏิบัติการของอิสราเอลในครั้งนี้อย่างสาสม

อิหร่านซ้อมรบที่หาด Makran ริมอ่าวโอมาน ใกล้ช่องแคบฮอร์มุซ ในปี 2022 (ภาพข่าว AFP)

ภาพจากกองทัพอิหร่าน / สำนักข่าว AFP

"เราไม่ยอมถูกโจมตีโดยไม่เอาคืน แต่เราจะไม่รีบร้อนในการโต้กลับ เราสามารถปิดช่องแคบฮอร์มุซได้ แต่จะไม่ทำเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม หากศัตรูเข้ามาวุ่นวาย เราจะทบทวนนโยบายของเรา" นายพลตังซีรีกล่าวเมื่อวันอังคาร (9 เม.ย.) ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า อิหร่านอาจปิดช่องแคบฮอร์มุซได้ทุกเมื่อหากสถานการณ์บีบให้ต้องทำเช่นนั้น

ในแง่ความสำคัญของช่องแคบฮอร์มุซนั้น กล่าวได้ว่ามีความสำคัญต่อการค้าโลกอย่างยิ่งยวด โดยน้ำมันราว 1 ใน 5 ของการบริโภคทั้งหมดทั่วโลกมีการขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซในทุก ๆ วัน

บริษัทวิเคราะห์ข้อมูล วอร์เท็กซา (Vortexa) เปิดเผยว่า น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว และผลิตภัณฑ์น้ำมัน ได้ถูกลำเลียงผ่านช่องแคบฮอร์มุซเฉลี่ย 20.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. 2566

ก่อนหน้านี้ ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์อิหร่านขู่ปิดช่องแคบฮอร์มุซมาครั้งหนึ่งแล้ว หลังเกิดเหตุระเบิดพลีชีพ 2 ลูกในจังหวัด Kerman ทางตอนใต้ของอิหร่าน ทำให้คนอิหร่านเสียชีวิตเกือบ 100 คน ซึ่งครั้งนั้น นายอาลี คาเมเนอี (Ali Khamenei) ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ได้ประกาศจะตอบโต้อย่างหนัก ในสถานการณ์ดังกล่าว รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เคยวิเคราะห์สถานการณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ไว้ว่า ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง จะมีผลกระทบใน 2 เรื่องสำคัญคือ

  1. การขนส่งสินค้าในทะเลแดง
  2. และราคานํ้ามันที่ขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซ

ภาพการซ้อมรบของกองทัพอิหร่านในอ่าวโอมาน ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับช่องแคบฮอร์มุซ เมื่อช่วงปลายปี 2022 (ภาพข่าว AFP)

“หากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซจะกระทบราคานํ้ามันโลก และการส่งออกสินค้าไทย เพราะช่องแคบฮอร์มุซ อยู่ระหว่างอิหร่านและโอมาน นํ้ามันดิบร้อยละ 40 ของตะวันออกกลางต้องผ่านช่องแคบนี้ หากปิดช่องแคบดังกล่าว ราคานํ้ามันดิบโลก คาดว่าจะขึ้นไปอยู่ที่ 120-150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล”

รศ.ดร.อัทธ์ ยังกล่าวด้วยว่า ขณะที่สินค้าไทยไปตะวันออกกลางปีละ 12,000 ล้านดอลลาร์หรือ 4 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่สินค้าไทยจะไปลงท่าเรือ Jabel Ali ในดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แล้วกระจายไปทั่วตะวันออกกลาง ซึ่งต้องผ่านช่องแคบฮอร์มุซ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

ช่องแคบฮอร์มุซ อยู่ระหว่างอิหร่านและโอมาน นํ้ามันดิบร้อยละ 40 ของตะวันออกกลางต้องผ่านช่องแคบนี้

ทำความรู้จักช่องแคบฮอร์มุซโดยสังเขป

ช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) ตั้งอยู่ระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน โดยทางเหนือของช่องแคบติดกับพื้นที่ตอนใต้ของอิหร่าน ขณะที่ทางใต้ของช่องแคบติดกับชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และโอมาน มีปริมาณน้ำมัน 17.2 ล้านบาร์เรลขนผ่านเส้นทางนี้ในแต่ละวัน 

กล่าวได้ว่า ช่องแคบฮอร์มุซเป็นทางผ่านเดียวที่ประเทศแถบอ่าวเปอร์เซียใช้เป็นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดีย โดย 20% ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลกต้องผ่านเส้นทางนี้

ไม่ว่าประเทศยูเออี คูเวต อิหร่าน กาตาร์ บาห์เรน และอิรัก ต่างต้องขนส่งน้ำมันผ่านเส้นทางนี้ จึงเป็นความเสี่ยงต่ออุปทานน้ำมันโลก หากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งอันที่จริงในอดีตที่ผ่านมา อิหร่านเคยขู่ปิดช่องแคบฮอร์มุซมาแล้วหลายครั้ง เช่นในช่วงปี 2562 อิหร่านขู่ว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุซเพื่อตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกา

ช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) ตั้งอยู่ระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การปิดช่องแคบดังกล่าวอาจทำได้ไม่ยาก เพราะถึงแม้ส่วนที่แคบที่สุดจะกว้างถึง 33 กิโลเมตร แต่ทางวิ่งของเรือทั้งสองฝั่งกลับกว้างเพียง 3 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้ท้องเรือสินค้าเกยตื้นหากวิ่งใกล้ชายฝั่งมากเกินไป

อีกทั้งช่องแคบฮอร์มุซยังเป็นช่องแคบน้ำตื้น จึงง่ายต่อการก่อวินาศกรรมจากทุ่นระเบิด โดยช่วงปี 2562 เรือหลายสัญชาติที่ผ่านช่องแคบนี้ ถูกก่อวินาศกรรมโดยกลุ่มไม่ทราบฝ่าย

ซอล คาโวนิค (Saul Kavonic) หัวหน้าทีมวิจัยฝ่ายน้ำมันและก๊าซของธนาคารเครดิตสวิส ให้ความเห็นว่า ความเสี่ยงที่หนุนน้ำมันขาขึ้น คือ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสซึ่งเป็นปาเลสไตน์ ได้ลุกลามไปสู่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย ดังนั้น หากช่องแคบฮอร์มุซถูกปิดกั้นขึ้นมาจริงๆ ก็กล่าวได้ว่า ราว 1 ใน 5 ของอุปทานน้ำมันทั่วโลกจะตกเป็นตัวประกัน