ลงนามแล้ว “ความตกลงยกเว้นวีซ่าไทย-จีน” มีผล 1 มี.ค.67 พำนักได้ถึง 30 วัน

28 ม.ค. 2567 | 12:35 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2567 | 16:09 น.
3.5 k

“ปานปรีย์-หวัง อี้” ร่วมพิธีลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทย-จีนแล้ววันนี้ (28 ม.ค.) ยกเว้นการตรวจลงตรา (ฟรีวีซ่า) ซึ่งกันและกันสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาและหนังสือเดินทางกึ่งราชการ มีผล 1 มี.ค. 67 ไทย-จีนเยือนกันไม่ต้องขอวีซ่า พำนักได้สูงสุดไม่เกิน 30 วัน

 

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2567 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศ และนายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศประจำพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ร่วมลงนาม ความตกลง ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วย การยกเว้นการตรวจลงตราซึ่งกันและกัน สำหรับ ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาและหนังสือเดินทางกึ่งราชการ ณ ห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ ในโอกาสที่นายหวัง อี้ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 26-29 มกราคม 2567

ความตกลงฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 มีสาระสำคัญ ได้แก่

  • จะยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทย และผู้ถือหนังสือเดินทางกึ่งราชการและหนังสือเดินทางธรรมดาของจีน ในการเดินทางเข้า ออก หรือผ่านแดนของทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีระยะเวลาพำนักแต่ละครั้งไม่เกิน 30 วัน และรวมระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน ภายในช่วงเวลา 180 วันใด ๆ
  • ยกเว้นกรณีการพำนักถาวร การทำงาน การศึกษา กิจกรรมด้านสื่อ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตล่วงหน้าจากหน่วยงานที่รับผิดชอบของอีกฝ่ายหนึ่ง

การลงนามความตกลงนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชนของสองประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะในการท่องเที่ยว การติดต่อธุรกิจ และการไปหาสู่ระหว่างกัน เพื่อความสัมพันธ์ไทย - จีน ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นต่อไป นอกจากนี้ นับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองโอกาสครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย - จีน ในปี 2568 ด้วย

ทั้งนี้ นายหวัง อี้ เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ

โดยในวันเดียวกันนี้ ได้เข้าร่วมการประชุมกลไกหารือระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย จีน ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นไปตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ลงนามเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566  ณ กรุงปักกิ่ง ระหว่างการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ในการเยือนครั้งนี้นายหวัง อี้ ยังมีกำหนดเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีที่ในวันที่ 29 มกราคม 2567 ด้วย

ความเป็นมาก่อนถึงวันยกเว้นวีซ่าไทย-จีน

ความตกลงนี้เป็นผลมาจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16-19 ตุลาคม 2566 และได้หารือกับ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยขอให้ทั้ง 2 ฝ่าย มีการจัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาซึ่งกันและกัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 6-7 ธันวาคม 2566 นายปานปรีย์ รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ ได้ไปร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ที่กรุงปักกิ่ง และได้หารือทวิภาคีกับ นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน โดยหยิบยกเรื่องการยกเว้นวีซ่าให้กับคนไทย ซึ่งนายหวัง อี้ เห็นชอบด้วย จึงได้เสนอขอตั้งคณะทำงานทั้งสองฝ่ายมาหารือกัน จากนั้นวันที่ 21-22 ธันวาคม 2566 คณะทำงานฝ่ายไทย นำโดยรองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ได้เจรจากับรองอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศของจีน ที่กรุงปักกิ่ง และเห็นพ้องที่จะให้ความตกลงดังกล่าว มีผลใช้บังคับภายในวันที่ 1 มีนาคม 2567

และการลงนามในความตกลงฯอย่างเป็นทางการก็มีขึ้นในวันที่ 28 ม.ค. 2567 ในช่วงโอกาสที่นายหวัง อี้ มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ  

ผลตอบรับเชิงบวก นักท่องเที่ยวเฮ

สำนักข่าว Global Times สื่อใหญ่ของจีนรายงานหลังปรากฏข่าวการเจรจาจัดทำความตกลงยกเว้นวีซ่าถาวรระหว่างไทย-จีน ตั้งแต่ต้นเดือนม.ค.ว่า ภายใน 1 ชั่วโมงของวันที่ 2 ม.ค. ปริมาณการค้นหาด้วยคีย์เวิร์ด “ประเทศไทย” ในแพลตฟอร์ม Trip.com เพิ่มขึ้นร้อยละ 90 และ คีย์เวิร์ด “ประเทศจีน” เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 80 โดยเฉพาะนครกว่างโจว นครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง และนครคุนหมิง นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ปริมาณการค้นหาด้วยคีย์เวิร์ด “กรุงเทพฯ” ในแพลตฟอร์มท่องเที่ยว Mafengwo.com เพิ่มขึ้นร้อยละ 200

ลงนามแล้ว “ความตกลงยกเว้นวีซ่าไทย-จีน” มีผล 1 มี.ค.67 พำนักได้ถึง 30 วัน

จากรายงานของ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญมองการยกเว้นวีซ่าระหว่างกันว่า เป็นก้าวสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน อีกทั้งยังสะท้อนถึงความไว้เนื้อเชื่อใจทางการเมืองและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศซึ่งจะเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับการเพิ่มพูนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าทวิภาคี

อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ Beijing Business Today ตีพิมพ์บทความไว้เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2567 ระบุว่านโยบายดังกล่าวจะมีผลมากเพียงใด ยังคงขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อาทิ

  • ความปลอดภัย ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ทั้งนี้ ทางการไทยได้พยายามยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งช่วยคลายความห่วงกังวลแก่นักท่องเที่ยวจีน
  • เที่ยวบินไทย-จีน ซึ่งในเดือน ธ.ค. 2566 จำนวนเที่ยวบินระหว่างไทย-จีน ได้ฟื้นฟูสู่ระดับร้อยละ 48.8 ของช่วงก่อนโควิด-19 และเที่ยวบินของสายการบินจีนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 77
  • ราคาการท่องเที่ยวไทย ที่เพิ่มสูงขึ้น อาทิ ค่าที่พัก อาหาร และค่าเดินทาง
  • การยกระดับผลิตภัณฑ์และคุณภาพการให้บริการท่องเที่ยว โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเที่ยวไทยเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เน้นการเที่ยวชม (sightseeing) มาให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ (experiential tourism)

โดยคาดว่าหลังนโยบายยกเว้นวีซ่ามีผลใช้บังคับ จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเที่ยวไทยมากขึ้นในช่วงหลังเทศกาลตรุษจีน วันหยุดวันแรงงาน และช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน