รู้จัก "ระเบิดพวง-ระเบิดลูกปราย" cluster munitions ที่สหรัฐจ่อส่งให้ยูเครน

11 ก.ค. 2566 | 10:34 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ค. 2566 | 10:48 น.

หลังมีข่าวรัฐบาลสหรัฐอนุมัติและเตรียมส่ง “ระเบิดลูกปราย” (cluster munitions)ให้ยูเครน ก็มีเสียงคัดค้านจากนานาประเทศ ว่านี่คือ "มหันตภัย" ต่อชีวิตและทรัพย์ของพลเรือน ระเบิดชนิดนี้มีพิษสงอย่างไร ทำไมกว่าร้อยประเทศลงนามไม่ใช้ ไม่ผลิต และไม่ส่งต่อ

 

สำนักข่าวเอพีรายงานเมื่อต้นสัปดาห์ว่ารัฐบาล ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำ สหรัฐอเมริกา ได้ตัดสินใจที่จะจัดส่ง ระเบิดลูกปราย หรือรู้จักในอีกนามว่า “ระเบิดพวง”  (cluster munitions) หลายพันลูกให้เเก่ ยูเครน และคาดว่าจะมีการเเถลงรายละเอียดการตัดสินใจดังกล่าวในวันศุกร์ (14 ก.ค.) ในเบื้องต้นนั้น ข่าวระบุว่าการตัดสินใจของสหรัฐครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความช่วยหลือจากสหรัฐที่มูลค่าอาจสูงถึง 800 ล้านดอลลาร์ ในการช่วยยูเครนสู้กับรัสเซีย

สหประชาชาติเรียกร้องให้หลีกเลี่ยงการใช้อาวุธประเภทนี้

ก่อนหน้านี้มีความกังวลว่า “ระเบิดลูกปราย” หรือ “ระเบิดพวง” มีประวัติเป็นอาวุธที่สร้างการบาดเจ็บล้มตายให้เเก่พลเรือนเป็นจำนวนมาก หลายประเทศแม้จะผ่านพ้นสงครามไปนานแล้ว แต่ยังคงมีระเบิดชนิดนี้ตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ในลาว เวียดนาม และกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม เอพีรายงานว่า กระทรวงกลาโหมอเมริกันอ้างเหตุผลแก้เกี้ยวการตัดสินใจส่งอาวุธชนิดนี้ให้ยูเครนว่า อาวุธที่สหรัฐจะจัดส่งให้ยูเครนครั้งนี้ เป็นอาวุธระเบิดที่ลดอัตราความผิดพลาดจากเหตุระเบิดด้าน จึงหวังว่าจะช่วยลดการเสียชีวิตของพลเรือนลงได้

ระเบิดชนิดนี้มีพิษสงอย่างไร ทำไมกว่าร้อยประเทศลงนามไม่ใช้ ไม่ผลิต และไม่ส่งต่อ

ทำความรู้จักพิษสงของระเบิดลูกปราย Cluster Munitions 

ระเบิดลูกปรายหรือระเบิดพวง (cluster munitions) ได้แก่จรวดหรือขีปนาวุธที่บรรจุระเบิดลูกเล็ก ๆ จำนวนมากเอาไว้ภายใน สามารถยิงจากบนพื้นหรือยิงทางอากาศก็ได้ มีลักษณะ กลไก และรูปแบบการทำงานหลายแบบ วิธีการใช้สามารถทิ้งลงจากเครื่องบิน หรือยิงโดยปืนใหญ่จากพื้นดินสู่พื้นที่เป้าหมายและจะระเบิดกลางอากาศเพื่อปล่อยลูกระเบิดหลายลูกย่อย ๆให้กระจายเป็นวงกว้าง ขณะที่ระเบิดลูกปรายอาจปล่อยชิ้นส่วนที่ยังไม่ระเบิดออกมาในพื้นที่บริเวณกว้าง ซึ่งต่อมามันอาจสร้างความเสียหายได้ในภายหลังเป็นเวลาหลายเดือนถึงหลายปี การค้นหาและทำลายชิ้นส่วนที่ยังไม่ระเบิดนั้นสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก ระเบิดลูกปรายอาจสร้างความเสียหายรุนแรงให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นได้แม้ว่ามันจะถูกปล่อยมาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม

ระเบิดพวง (cluster munitions) ได้แก่จรวดหรือขีปนาวุธที่บรรจุระเบิดลูกเล็กๆจำนวนมากเอาไว้ภายใน

วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 นานาชาติเริ่มขยับตัว 190 ประเทศร่วมลงสัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดลูกปรายที่กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นอนุสัญญาสากลว่าด้วยการห้ามใช้ ห้ามมีไว้ครอบครอง ห้ามผลิต ห้ามขนย้ายและกักตุนซึ่งอาวุธยุทธภัณฑ์ประเภทระเบิดลูกปราย

ห้ามก็ห้ามไป มหาอำนาจก็ยังใช้กันอยู่

สำนักข่าวเอพีอ้างอิงข้อมูลจากเจ้าหน้าที่อเมริกันที่ไม่ประสงค์จะออกนาม เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้พูดออกสื่อก่อนการเเถลงอย่างเป็นทางการในวันศุกร์นี้ว่า ยุทธภัณฑ์ที่สหรัฐเตรียมส่งให้ยูเครนครั้งนี้ นอกจากระเบิดลุกปรายแล้ว ก็ยังประกอบด้วยยานเกราะประเภทแบรดลีย์ และสไตรเกอร์ รวมถึงกระสุนหลายชนิด และกระสุนสำหรับเครื่องยิงฮาววิตเซอร์และระบบยิง HIMARS

แหล่งข่าวกล่าวว่า รัสเซียใช้อาวุธชนิดนี้ทั้งในบริเวณสนามรบและพื้นที่ที่มีพลเรือนอาศัยอยู่  ส่วนยูเครนนั้น ก็เรียกร้องต้องการ อยากได้ระเบิดลูกปรายมานานแล้ว เนื่องจากอาวุธประเภทนี้สามารถสร้างความเสียหายในวงกว้างจากลูกระเบิดชิ้นเล็ก ๆ ที่ถูกปล่อยกระจายออกมาได้จำนวนมากในเวลาเดียวกัน

ยูเครนได้ขอรับความช่วยเหลือที่เป็นระเบิดลูกปราย เพื่อสนับสนุนแผนโต้กลับฝ่ายรัสเซีย ขณะที่กองทัพรัสเซียเองก็กำลังใช้ระเบิดลูกปรายในการทำสงครามครั้งนี้อยู่แล้ว

ตามข้อมูลของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ในบางครั้งระเบิดลูกปรายเป็นสาเหตุของการตกค้างของระเบิดลูกเล็ก ๆ ที่ไม่จุดชนวน โดยอัตราระเบิดด้านอาจสูงถึง 40%

บางครั้งระเบิดลูกปรายเป็นสาเหตุของการตกค้างของระเบิดลูกเล็ก ๆ ที่ไม่จุดชนวน โดยอัตราระเบิดด้านอาจสูงถึง 40%

แต่เจ้าหน้าที่อเมริกันเปิดเผยว่า ระเบิดลูกปรายที่สหรัฐจะส่งให้ยูเครนมีอัตราระเบิดด้านอยู่ที่ไม่ถึง 3% เท่านั้น ดังนั้นพวกเขาจึงเชื่อว่าน่าจะทำให้เกิดระเบิดตกค้างที่เป็นภัยต่อพลเรือนน้อยลง

ด้านพลเอกเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาเเอตเเลนติกเหนือ หรือ นาโต ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า องค์การนาโตไม่มีท่าทีอย่างใดอย่างหนึ่งต่อการใช้ระเบิดลูกปราย และเห็นว่า เป็นเรื่องของเเต่ละประเทศสมาชิกที่จะตัดสินใจกันเองในเรื่องนี้

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ราว 190 ประเทศทั่วโลกได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดลูกปราย ที่จะไม่ใช้ ไม่ผลิต และไม่ส่งต่อ ตลอดจนไม่สะสมระเบิดลูกปราย แต่กระนั้นก็ตาม ประเทศสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และยูเครน ไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าว

มาร์ทา เฮอร์ตาโด แห่งสำนักงานด้านมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวหลังรับทราบการตัดสินใจของสหรัฐว่า "การใช้อาวุธดังกล่าวควรยุติลงโดยทันทีและต้องไม่มีการใช้ในที่ใด ๆ ก็ตาม"

ขณะเดียวกัน จุดยืนของเยอรมนี ซึ่งลงนามในอนุสัญญาฉบับนี้ ชัดเจนว่า เยอรมนีจะไม่ส่งอาวุธชนิดนี้ให้กับยูเครน นายสเตฟเฟน เฮเบสไตรต์ โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า แต่ถึงอย่างไร รัฐบาลเยอรมนีก็เข้าใจดีถึงจุดยืนของสหรัฐอเมริกาในเรื่องนี้