ย้อนคดีล้มละลาย FTX หลังอดีตซีอีโอยัน “ผมไม่ได้โกง”  

05 ม.ค. 2566 | 13:49 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ม.ค. 2566 | 21:05 น.

อดีตซีอีโอของ FTX แพลตฟอร์มซื้อขายเงินดิจิทัล ปฏิเสธลั่นข้อหาฉ้อโกง หลังทำบริษัทล้มละลายจนกระทบนักลงทุนจำนวนมาก เส้นทางการดำเนินคดีต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร

 

แซม แบงค์แมน-ฟรีด ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอ บริษัท FTX  (เอฟทีเอ็กซ์) แพลตฟอร์มซื้อขายเงินดิจิทัล ถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงและอื่นๆ หลังทำบริษัทล้มละลายจนกระทบนักลงทุนที่กลายเป็นผู้เสียหายจำนวนมาก เขาปฏิเสธลั่นไม่เคยฉ้อโกงใคร   

 

แบงค์แมน-ฟรีด เคยเป็นเศรษฐีใหม่ในทำเนียบบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท  FTX ที่มีมูลค่ากว่า 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เขาให้การต่อศาลเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (3 ม.ค.) ว่า เขาขอปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าเขาฉ้อโกงลูกค้าของ FTX 

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นกระบวนการไต่สวนคดีที่ต้องใช้เวลานาน คือรัฐบาลสหรัฐจะมอบเอกสารและหลักฐานให้ทนายของแบงค์แมน-ฟรีดไว้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการพิจารณาคดีความโดยการสืบหาข้อเท็จจริง อัยการเผยว่า จนถึงวันอังคาร (3 ม.ค.) มีเอกสารแล้วหลายแสนฉบับในคดีนี้ และเชื่อว่าจะยังมีเอกสารอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ยังมุ่งหน้ารวบรวมหลักฐานต่อไป

 

แซม แบงค์แมน-ฟรีด ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอ บริษัท FTX  

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ขั้นตอนการสืบหาข้อเท็จจริงดังกล่าวอาจใช้เวลาหลายเดือน โดยเฉพาะหากมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับหลักฐานที่ทนายฝ่ายจำเลยมีสิทธิ์เข้าถึงก่อนการไต่สวน เอกสารหลักฐานเหล่านี้อาจเป็นได้ทุกอย่าง ตั้งแต่อีเมล รายงานการเคลื่อนไหวทางบัญชีธนาคาร และข้อมูลภายในของบริษัท FTX

 

นายดาเมียน วิลเลียมส์ อัยการสหรัฐประจำเขตแมนฮัตตัน กล่าวว่า สำนักงานของเขาจะแจ้งแก่สาธารณะต่อไปหากมีผลการสืบสวนเพิ่มเติม ทั้งนี้ เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา วิลเลียมส์ให้ข่าวกรณีหุ้นส่วนสองคนของแบงค์แมน-ฟรีด คือคาโรลีน เอลลิสัน และแกรี หวัง ต่างยอมรับผิดในข้อหาฉ้อโกงนักลงทุน ทั้งคู่ตกลงให้ความร่วมมือกับอัยการ เขายังเตือนให้บุคคลวงในของ FTX ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท ช่วยออกมาให้ความร่วมมือกับการสืบสวนด้วย

 

ศาลกำหนดไต่สวนคดีรอบหน้า 2 ตุลาคม

ลิวอิส แคปแพลน ผู้พิพากษา กำหนดให้มีการไต่สวนคดีนี้ในวันที่ 2 ต.ค. (2566) แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจมีการเลื่อนการไต่สวนออกไปหากมีประเด็นทางกฎหมายและหลักฐานใหม่ ๆ เพิ่มเติม สื่อรายงานว่า การฟ้องร้องก่อนการไต่สวนมีความสำคัญต่อทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย โดยต่างฝ่ายจะสามารถหาทางถือแต้มต่อทั้งในด้านหลักฐานที่จะนำเสนอต่อคณะลูกขุน และในด้านข้อโต้แย้งทางกฎหมายที่พวกเขาอาจต้องเผชิญ

 

ข่าวระบุว่า นับจนถึงวันอังคาร (3 ม.ค.) ทั้งฝั่งโจทก์และจำเลยยังไม่มีท่าทีว่าต้องการเลื่อนการไต่สวนออกไป อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายเห็นว่า คดีในลักษณะนี้อาจใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีก่อนที่คณะลูกขุนจะไต่สวนได้

 

ในกรณีของแบงค์แมน-ฟรีด เขาอาจไม่ต้องเข้ารับการไต่สวนด้วยตัวเอง เนื่องจากจำเลยคดีอาญาอาจเปลี่ยนคำให้การเมื่อใดก็ได้ และทนายจำเลยมักเจรจากับอัยการเพื่อทำข้อตกลงเปลี่ยนคำให้การ ซึ่งโดยปกติแล้ว จำเลยมักใช้วิธียอมรับผิดในบางข้อหาแลกกับการให้อัยการยกฟ้องข้อหาอื่น ๆ

 

จนถึงขณะนี้ แบงค์แมน-ฟรีด ยังไม่มีท่าทีต้องการขอเปลี่ยนคำให้การ ขณะที่ทางอัยการก็ยังไม่มีท่าทีเสนอข้อตกลงดังกล่าวเช่นกัน อดีตซีอีโอวัย 30 ปีซึ่งเป็นเหมือนเทวดาตกสวรรค์ในตอนนี้ กล่าวขอโทษต่อลูกค้า FTX แต่ยังคงย้ำว่า เขาไม่มีอะไรให้ต้องรับผิดในทางอาญา

 

แล้วถ้าแบงค์แมน-ฟรีด ถูกตัดสินว่ามีความผิด โทษของเขาคือ...

แบงค์แมน-ฟรีด อาจเผชิญโทษจำคุกสูงสุด 115 ปี แต่เขาอาจไม่ต้องรับโทษดังกล่าวจริงแม้จะถูกตัดสินว่ามีความผิดทุกข้อหาก็ตาม ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

 

คำตอบคือเนื่องจากผู้พิพากษาสามารถตัดสินโทษของจำเลยได้ และหลังมีคำพิพากษาแล้ว อัยการและทนายมักโต้เถียงถึงโทษที่จำเลยสมควรได้รับ โดยจะมีการชั่งน้ำหนักปัจจัยต่าง ๆ หรือหาเหตุผลที่จำเลยควรได้รับโทษมากขึ้นหรือลดลง

 

ซีอีโอคนใหม่ยังหาทางชดเชยลูกค้า

บริษัท FTX ยื่นล้มละลายเมื่อวันที่ 11 พ.ย.2565 ที่รัฐเดลาแวร์ โดยขั้นตอนการล้มละลายยังอยู่ในขั้นต้น และจะดำเนินต่อไปโดยที่แบงค์แมน-ฟรีดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับบริษัทแล้ว

 

เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา นายจอห์น เรย์ ซีอีโอคนใหม่ของ FTX ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนนายแบงค์แมน-ฟรีด  (ซึ่งลาออกในเดือนพ.ย.2565 และเดินทางไปพำนักที่เกาะบาฮามาสก่อนถูกจับในภายหลัง) กล่าวกับสภาคองเกรสว่า FTX จะพยายามกู้คืนสินทรัพย์คริปโตของลูกค้าต่อไป แม้นายแบงค์แมน-ฟรีด ผู้ถูกกล่าวหาฉ้อโกงและตกเป็นจำเลยของคดีนี้ จะไม่มีบทบาทในบริษัท FTX แล้วก็ตาม

 

ในเอกสารคำร้องของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ SEC (ชื่อเต็ม U.S. Securities and Exchange Commission) ที่ยื่นต่อศาลเมื่อวันอังคาร (3 ม.ค.) นายแบงค์แมน-ฟรีด ถูกกล่าวหาว่า นับตั้งแต่ปีค.ศ. 2019 (พ.ศ.2562) เขาระดมทุนได้มากกว่า 1,800 ล้านดอลลาร์จากบรรดานักลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี จากกระดานซื้อขายคริปโต FTX โดยโฆษณาว่า เป็นช่องทางที่ปลอดภัยในการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล

 

SEC กล่าวหาว่า อดีตซีอีโอของ FTX ผู้นี้ได้ถ่ายโอนเงินลงทุนของลูกค้าไปยังกองทุนส่วนตัวของเขาที่มีชื่อว่า Alameda Research LLC โดยไม่แจ้งให้ลูกค้าทราบ นอกจากนี้ เขายังผสมปนเปเงินทุนต่าง ๆ ของลูกค้าในกองทุนดังกล่าวและนำไปลงทุนส่วนตัว รวมทั้งซื้ออสังหาริมทรัพย์ราคาแพงและบริจาคให้นักการเมือง โดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อลูกค้าและนักลงทุนใน FTX แต่อย่างใด

 

แบงค์แมน-ฟรีด ที่เคยเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกจากการจัดอันดับมหาเศรษฐีโลก ด้วยมูลค่าทรัพย์สินที่ถูกประเมินไว้ที่ 32,000 ล้านดอลลาร์ ถูกจับกุมเมื่อเดือนธ.ค. 2565 ที่หมู่เกาะบาฮามาส หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐได้ออกหมายจับและแจ้งข้อหาทางอาญา ซึ่งแยกจากการฟ้องร้องของ SEC

 

ทั้งนี้ บริษัท FTX ที่เคยได้ชื่อว่า เป็นกระดานซื้อขายคริปโตขนาดใหญ่อันดับสองของโลก ได้ยื่นขอเข้าสู่กระบวนการล้มละลายเมื่อวันที่ 11 พ.ย.2565 หลังจากที่เกิดวิกฤตสภาพคล่องและถูกตรวจสอบจากทางการสหรัฐ และไซปรัส