เมื่อความวิตก 'stagflation' เขย่าเศรษฐกิจอเมริกัน

09 มิ.ย. 2565 | 00:36 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2565 | 07:58 น.

ภาพจำเกี่ยวกับภาวะ 'stagflation' ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์ที่เศรษฐกิจซบเซาเกิดขึ้นพ่วงกับภาวะเงินเฟ้อสูงที่ชาวอเมริกันเคยเผชิญเมื่อ 40 ปีก่อน กำลังย้อนกลับมาหลอนว่าเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ณ ช่วงเวลานี้ จะซ้ำรอยอดีตอีกครั้งหรือไม่  

Stagflation หรือ ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นสิ่งที่ คนอเมริกัน อายุ 40 ปีขึ้นไปอาจจะยังสามารถจดจำได้ สภานการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นใน อเมริกา ยุคทศวรรษที่ 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาสินค้าและราคาเชื้อเพลิงพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก รวมทั้งโรงงานต่าง ๆ ต้องปิดตัวลง

 

Stagflation คืออะไร

Stagflation มาจากคำว่า Stagnation (ความซบเซา) กับคำว่า Inflation (ภาวะเงินเฟ้อ) ซึ่งหมายความถึง การที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงควบคู่ไปกับอัตราการว่างงานสูง จนทำให้เกิดส่วนผสมเป็นพิษทางเศรษฐกิจ

 

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เป็นเวลาหลายทศวรรษที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างเชื่อในทฤษฎีที่ว่า ภาวะเงินเฟ้อสูงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งและอัตราการว่างงานต่ำ แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันกำลังทำให้นักเศรษฐศาสตร์หวนรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว

เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ

สัปดาห์ที่ผ่านมา นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เอ่ยถึงคำว่า 'Stagflation' ระหว่างการแถลงต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกค่อนข้างไม่แน่นอนและมีความท้าทายสูง ราคาอาหารและราคาพลังงานกำลังส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจซบเซาพ่วงกับเงินเฟ้อ สร้างแรงกดดันต่อการผลิตสินค้า การใช้จ่าย และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

 

ในเวลาไล่เลี่ยกัน นายเบน เบอร์นานคี อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้สัมภาษณ์เดอะ นิวยอร์กไทมส์ว่า เงินเฟ้ออาจจะยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ในขณะที่อัตราการการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งอาจจะเข้าข่ายเรียกได้ว่า 'Stagflation'

 

รัฐบาลสหรัฐคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจหดตัวลง 1.5% ระหว่างเดือนม.ค.ถึงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา แต่การหดตัวดังกล่าวเป็นผลมาจากสองปัจจัยหลักซึ่งไม่ได้สะท้อนถึงสภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง คือ ปริมาณการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น และการลดลงของปริมาณสินค้าคงคลังในช่วงหลังเทศกาลจับจ่ายซื้อสินค้าปลายปี

 

แบบไหนจึงจะเรียกว่า Stagflation ?

มาร์ค แซนดี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Moody’s Analytics กล่าวว่า Stagflation เกิดขึ้นเมื่ออัตราการว่างงานสูงกว่า 5% และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นมากกว่า 5% จากหนึ่งปีก่อน ซึ่งถือว่าเกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว อัตราเงินเฟ้อกับอัตราการว่างงานจะแปรผกผันกัน

กล่าวคือ เมื่อเศรษฐกิจอ่อนแอและประชาชนจำนวนมากตกงาน ภาคธุรกิจต่าง ๆ จะไม่กล้าขึ้นราคาสินค้าจึงทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ในทางกลับกัน เมื่อเศรษฐกิจเติบโตอย่างร้อนแรง อัตราการว่างงานมักอยู่ในระดับต่ำ และราคาสินค้าต่าง ๆ มีแนวโน้มสูงขึ้น

 

แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือปัญหาในห่วงโซ่อุปทานสินค้าซึ่งทำให้ราคาวัตถุดิบและต้นทุนต่าง ๆ พุ่งสูงขึ้นและเป็นชนวนสำคัญของเงินเฟ้อ

 

นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังคงมีกำลังการใช้จ่ายไม่พอสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในอเมริการะหว่างปีค.ศ. 1974 - 1982 เมื่ออัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานล้วนอยู่ในระดับสูงกว่า 5% สืบเนื่องจากการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันจากประเทศในตะวันออกกลางมายังสหรัฐอเมริกา

อัตราการว่างงานในสหรัฐยังคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 5%

อเมริกาเข้าสู่ภาวะ Stagflation หรือยัง ?

นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า ขณะนี้อเมริกายังไม่เข้าสู่ภาวะ Stagflation อย่างเต็มตัว เพราะแม้อัตราเงินเฟ้อจะสูงถึงระดับ 8.3% เมื่อเดือนเม.ย. แต่อัตราการว่างงานยังคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 5%

 

สำหรับ สาเหตุหลักที่ทำให้ราคาสินค้าในสหรัฐและทั่วโลกสูงขึ้น นั้นมีหลายประการ อาทิ

  • การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19
  • การขาดแคลนสินค้าและปัญหาห่วงโซ่อุปทาน
  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินให้แก่ประชาชนซึ่งหลายประเทศนำมาใช้ระหว่างที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด
  • การขาดแคลนพลังงานและอาหารซึ่งเป็นผลจากสงครามในยูเครน

 

ส่วนการจ้างงานในสหรัฐยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.6% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี ขณะที่ผลสำรวจความเห็นชี้ว่า คนอเมริกันเกือบ 80% เชื่อว่า พวกเขายังคงมีสถานะการเงินที่ดี

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างเชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแรงพอที่จะหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ แต่ก็เกิดความกังวลเช่นกันว่าปัญหาต่าง ๆ ที่สะสมมา รวมทั้งความติดขัดของห่วงโซ่อุปทานสินค้า และสงครามในยูเครน กำลังทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบหลายสิบปี

 

ที่ผ่านมา ระบบธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ต่างพยายามขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยหวังว่าจะไม่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่าไม่ใช่งานที่ง่ายเลยท่ามกลางกระแสความหวาดหวั่นของประชาชน

 

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวเมื่อต้นเดือนมิ.ย.ว่า เขายังคงมีความกังวลต่อ "ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้" เช่น สงครามในยูเครน การระบาดต่อเนื่องของโควิด-19 และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐไม่สามารถเลี่ยงภาวะถดถอย และ “ลงจอด” อย่างสวยงามตามที่ตั้งใจไว้ได้

 

ที่มา: เอพี / วีโอเอ