เฟดพร้อมขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ในเดือนมิ.ย.-ก.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

26 พ.ค. 2565 | 14:53 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2565 | 22:07 น.
1.8 k

รายงานประชุมเฟดเดือนพ.ค.ชี้ เฟดเตรียมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ในเดือนมิ.ย.-ก.ค. 65 เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ยันเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งมากพอที่จะเปิดทางให้เฟดใช้นโยบายการเงินควบคุมเงินเฟ้อโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผย รายงานการประชุมประจำวันที่ 3-4 พ.ค. เมื่อวานนี้ (25 พ.ค.)ตามเวลาสหรัฐ โดยระบุว่า กรรมการเฟดมีความพร้อมที่จะ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อีก 0.50% ในการประชุมเดือนมิ.ย.และเดือนก.ค. นี้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจาก เงินเฟ้อ

 

ส่วนหนึ่งของรายงานระบุว่า “เมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในขณะนี้ กรรมการเฟดได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมสองครั้งถัดไป คือในเดือนมิ.ย.และเดือนก.ค.”

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด

“คณะกรรมการเฟดเล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรับนโยบายการเงินสู่ระดับที่ปกติ ส่วนกรณีที่ว่าเฟดจะคุมเข้มนโยบายการเงินเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจ และความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ”

 

รายงานการประชุมยังระบุด้วยว่า กรรมการเฟดมีความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งมากพอที่จะเปิดทางให้เฟดสามารถใช้นโยบายการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

มั่นใจเศรษฐกิจแกร่งพอ

“กรรมการเฟดทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งมาก ขณะที่ตลาดแรงงานตึงตัวอย่างมาก และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง โดยความเสี่ยงที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น มาจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ยังคงเกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งสงครามในยูเครน และการที่จีนยังคงล็อกดาวน์เมืองสำคัญเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19”

 

ทั้งนี้ ในการประชุมเมื่อวันที่ 3-4 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น คณะกรรมการเฟดมีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 0.75-1.00% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2543 และเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี

 

นอกจากนี้ เฟดยังเปิดเผยแผนทยอยปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิ.ย. ซึ่งงบดุลดังกล่าวประกอบด้วยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) โดยขณะนี้มีมูลค่ารวม 8.9 ล้านล้านดอลลาร์

และ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. เฟดจะลดขนาดงบดุลในวงเงิน 47,500 ล้านดอลลาร์/เดือน โดยจะปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 30,000 ล้านดอลลาร์ และตราสารหนี้ MBS วงเงิน 17,500 ล้านดอลลาร์ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม และหลังจากนั้น 3 เดือน เฟดจะเพิ่มการลดขนาดงบดุลเป็น 95,000 ล้านดอลลาร์/เดือน โดยจะปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 60,000 ล้านดอลลาร์ และตราสารหนี้ MBS วงเงิน 35,000 ล้านดอลลาร์ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม