คำต่อคำผลประชุมเฟด: การขึ้นดอกเบี้ยและแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ

05 พ.ค. 2565 | 09:22 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ค. 2565 | 16:36 น.
610

เปิดแถลงการณ์คำต่อคำของธนาคารกลางสหรัฐหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ประจำเดือนพ.ค.2565 เสร็จสิ้นลง

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกแถลงการณ์ภายหลัง การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ซึ่งเสร็จสิ้นลงในวันพุธที่ 4 พ.ค.ตามเวลาสหรัฐ โดยระบุว่า แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา โดยรวมชะลอตัวลงเล็กน้อยในไตรมาส 1 ปีนี้ แต่การใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนในภาคธุรกิจยังคงแข็งแกร่ง โดยตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และอัตราว่างงานปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังคงเร่งตัวขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงภาวะไร้สมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ อันเป็นผลมาจากโรคระบาด ราคาพลังงานที่สูงขึ้น และแรงกดดันด้านราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง

 

การที่รัสเซียใช้กำลังทหารรุกรานยูเครนนั้น กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งประชาชนและเศรษฐกิจ และยังส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับความไม่แน่นอนที่สูงมาก โดยคาดว่าในระยะใกล้นี้ การรุกรานยูเครนและเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 

คณะกรรมการ FOMC พยายามหาแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในระยะยาว และเมื่อพิจารณาถึงการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม คณะกรรมการคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% และตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว คณะกรรมการได้ตัดสินใจปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้น 0.50% สู่ระดับ 0.75-1.00% และคาดว่าการปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกในวันข้างหน้านั้นจะเป็นเรื่องที่เหมาะสม

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด

นอกจากนี้ คณะกรรมการได้ตัดสินใจที่จะเริ่มปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป ตามที่ได้อธิบายไว้ในแผนการปรับลดขนาดงบดุลบัญชีของเฟด (Plans for Reducing the Size of the Federal Reserve's Balance Sheet) ซึ่งมีการเผยแพร่พร้อมกับแถลงการณ์ฉบับนี้

 

ส่วนในการประเมินแนวทางที่เหมาะสมของนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการจะยังคงจับตาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า ขณะเดียวกันคณะกรรมการจะเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เฟดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ของคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการจะประเมินข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงข้อมูลด้านสาธารณสุข ภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงการพิจารณาสถานการณ์ทางการเงิน และสถานการณ์ในต่างประเทศ

สำหรับกรรมการเฟดผู้ที่ออกเสียงสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของ FOMC ในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ เจอโรม เอช พาวเวลล์ ประธานเฟด, จอห์น ซี วิลเลียมส์ รองประธานเฟด, มิเชล ดับเบิลยู โบวแมน, ลาเอล เบรนาร์ด, เจมส์ บูลลาร์ด, เอสเธอร์ แอล จอร์จ, แพทริค ฮาร์เกอร์, ลอเร็ตตา เจ เมสเตอร์ และคริสโตเฟอร์ เจ วอลเลอร์