สงครามทำพิษ เวิลด์แบงก์หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้เหลือ 3.2%

19 เม.ย. 2565 | 08:34 น.
อัปเดตล่าสุด :19 เม.ย. 2565 | 15:41 น.

วิกฤตยูเครนและผลกระทบส่งผลให้ “ธนาคารโลก” ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ สู่ระดับ 3.2% จากเดิมที่คาดไว้ระดับ 4.1% พร้อมประกาศตั้งกองทุน 1.7 แสนล้านดอลลาร์สำหรับปล่อยกู้ให้แก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตครั้งนี้

นายเดวิด มัลพาสส์ ประธาน ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยวานนี้ (18 เม.ย.) ว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบมากที่สุดต่อการปรับลดคาดการณ์ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ในปีนี้ (2565) จากเดิมที่คาดไว้ในเดือน ม.ค. ที่ 4.1% เหลือเพียง 3.2% ในรายงานฉบับล่าสุดเดือนเม.ย. เนื่องจากการหดตัวถึง 4.1% ของเศรษฐกิจยุโรปและเอเชียกลาง ซึ่งประกอบด้วย ยูเครน รัสเซีย และประเทศใกล้เคียง

 

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา โดยระบุปัจจัยสำคัญมาจากราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน

 

ขณะเดียวกัน นายมัลพาสส์เปิดเผยว่า ธนาคารโลกมีแผนจัดตั้งกองทุนวงเงิน 170,000 ล้านดอลลาร์โดยจะปล่อยกู้ให้แก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะปล่อยเงินกู้ระยะเวลา 15 เดือน (นับจากเดือนเม.ย.2565 ถึงเดือนมิ.ย. 2566) โดยมีเป้าหมายปล่อยกู้ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 3 เดือนข้างหน้า

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ลดลงมากเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ระดับ 5.7% ในปีที่ผ่านมา (2564) อีกทั้ง วงเงินกองทุนช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เวิลด์แบงก์มีดำริจัดตั้ง 1.7 แสนล้านดอลลาร์เพื่อปล่อยกู้ให้กับประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบและต้องการความช่วยเหลือนั้น ยังเป็นวงเงินที่สูงกว่ากองทุนช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของเวิลด์แบงก์ที่มีวงเงิน 1.57 แสนล้านดอลลาร์อีกด้วย  

 

การประกาศปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกและความริเริ่มจัดตั้งกองทุนของเวิลด์แบงก์เพื่อปล่อยกู้แก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน มีขึ้นก่อนที่เวิลด์แบงก์และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จะจัดการประชุมขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ในสัปดาห์นี้ ซึ่งคาดว่าประเด็นที่จะหยิบยกมาหารือกันนั้น จะครอบคลุมถึงเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร เงินเฟ้อ หนี้สาธารณะ และแรงกระแทกอื่น ๆที่เป็นผลพวงมาจากการบุกรุกรานยูเครนโดยกองทัพรัสเซีย

ในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เวิลด์แบงก์ประกาศให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ยูเครนไปแล้ว 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าแผนดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติและเริ่มใช้วงเงินได้ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า

 

ประธานเวิลด์แบงก์ยังคาดการณ์ด้วยว่า วิกฤตหนี้สาธารณะของประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง จะมีสถานการณ์เลวร้ายมากยิ่งขึ้นในปีนี้ และประเทศเหล่านี้ก็มีกำหนดครบวาระชำระหนี้ในปีนี้เป็นเงินรวม ๆกันถึง 35,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้มีแรงกดดันทางการคลังมากขึ้น ทั้งนี้ 60% ของประเทศรายได้ต่ำกำลังตกอยู่ในภาวะยากลำบากในการชำระหนี้หรืออยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงสูงมาก