"เยลเลน" พยากรณ์ วิกฤตยูเครนกระทบเศรษฐกิจโลกลากยาวถึงปีหน้า

26 มี.ค. 2565 | 06:05 น.
อัปเดตล่าสุด :26 มี.ค. 2565 | 13:37 น.
913

ขุนคลังสหรัฐออกโรงเตือน วิกฤตการณ์ยูเครนทำสินค้าโภคภัณฑ์ราคาพุ่ง กระทบลากยาวถึงปีหน้า ขณะเดียวกัน สหรัฐพร้อมช่วยเหลือยุโรปลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียโดยจะส่งมอบก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แก่อียู อย่างน้อย 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตรภายในสิ้นปีนี้

นาง เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวเตือนว่า วิกฤตการเผชิญหน้าระหว่าง รัสเซีย และ ยูเครน กำลังทำให้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ พุ่งขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของ เศรษฐกิจโลก ไปจนถึงปีหน้า(2566)

 

ทั้งนี้ รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก ขณะที่ยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดและข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก ซึ่งราคาสินค้าดังกล่าวได้ทะยานขึ้นนับตั้งแต่ที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา

เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ

"เรากำลังเห็นแรงกดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์อันเนื่องมาจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ซึ่งดิฉันกังวลว่าประเทศอื่นๆจะได้รับผลกระทบ โดยสถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกไปจนถึงปีหน้า" นางเยลเลนกล่าว และยังคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นต่อไป และสหรัฐกำลังร่วมมือกับพันธมิตรในการลดผลกระทบต่อผู้บริโภค

"เราจะทำทุกอย่างเพื่อสร้างความมั่นใจว่ายุโรปจะยังคงได้รับการจัดส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และเพื่อปกป้องผู้บริโภคของสหรัฐ"

 

ทั้งนี้ สหรัฐได้ทำข้อตกลงที่จะส่งมอบก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แก่สหภาพยุโรป (EU) อย่างน้อย 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตรภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้ยุโรปสามารถลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย

 

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดรอบกว่า 10 ปี

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 59.4 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี จากระดับ 62.8 ในเดือนก.พ. และต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 59.7

 

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นจะทรงตัวที่ระดับ 62.8 ในเดือนมี.ค.แต่เอาเข้าจริงก็ไม่เป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น หลังการทะยานขึ้นของราคาน้ำมัน

ผู้บริโภคชาวอเมริกันจำนวน 32% แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานะการเงินในปีนี้ ซึ่งเป็นจำนวนสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจในช่วงกลางทศวรรษ 1940 เป็นต้นมา

 

ผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นเพียงประการเดียวต่อการจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคตต่างปรับตัวลดลง

 

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 500 รายต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ สถานะการเงินส่วนบุคคล, ภาวะเงินเฟ้อ, การว่างงาน, อัตราดอกเบี้ย และนโยบายรัฐบาล