IMF ชี้เงินเฟ้อทั่วโลกจ่อพุ่ง ตามราคาสินค้าในเอเชียที่ดีดตัวแรง

23 มี.ค. 2565 | 06:34 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มี.ค. 2565 | 13:48 น.

เอเชียอาจก่อให้เกิดเงินเฟ้อกระจายไปทั่วโลก หากราคาผู้บริโภคปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกับราคาพลังงาน IMF ระบุ เงินเฟ้อในเอเชียจะแตะระดับสูงสุดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และกำลังปรับตัวสูงขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุวานนี้ (22 มี.ค.) ว่า ประเทศใน เอเชีย อาจก่อให้เกิด เงินเฟ้อ กระจายไปทั่วโลก หาก ราคาผู้บริโภค ปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกับ ราคาพลังงาน ซึ่งจะทำให้แรงกดดันจากเงินเฟ้อทั่วโลกนั้นเพิ่มขึ้นและฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

หากราคาน้ำมันยังคงเพิ่มขึ้น ต้นทุนของผู้ผลิตก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งในท้ายที่สุดก็เลี่ยงไม่ได้ที่ราคาสินค้าจะปรับขึ้นตามมา เมื่อถึงขั้นนั้น สถานการณ์เงินเฟ้อในเอเชียจะกระจายไปทั่วโลก อย่างไรก็ตามตอนนี้สถานการณ์ดังกล่าวมันยังไม่เกิดขึ้น" นายชางยอง รี ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ IMF ให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์ก

 

การแสดงความเห็นของนายรีบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่ว่า เอเชียมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดวงจรราคาสินค้าที่ปรับขึ้นไปทั่วโลก หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

ราคาอาหารและพลังงานในเอเชียที่เพิ่มขึ้น จะกระทบต่อรายได้ที่แท้จริง โดยเฉพาะครัวเรือนที่ยากจน

นายรียังกล่าวด้วยว่า เงินเฟ้อกำลังเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ แม้ IMF คาดว่า เงินเฟ้อในเอเชียจะแตะระดับสูงสุดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ นอกจากนี้ สงครามในยูเครนประกอบกับการที่สหรัฐอเมริกาปรับนโยบายการเงินให้กลับสู่ภาวะปกติ (normalization) จะส่งผลให้ราคาอาหารและพลังงานในเอเชียเพิ่มขึ้น และจะกระทบต่อรายได้ที่แท้จริงโดยเฉพาะครัวเรือนที่ยากจน

 

การแสดงความเห็นของนายรีครั้งนี้มีขึ้น หลังจาก นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะคุมเข้มนโยบายการเงินมากขึ้น ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

 

ประธานเฟดกล่าวว่า สถานการณ์ด้าน เงินเฟ้อ ย่ำแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งหมายถึงการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อในระดับสูงเป็นประวัติการณ์แม้ในช่วงก่อนที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะปะทุขึ้น นายพาวเวลล์ยังเตือนด้วยว่า ผลกระทบของสงครามและการที่ชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย อาจจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐเช่นกัน

นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า ผลกระทบโดยตรงจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้นทั่วโลก รวมทั้งสงครามและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในต่างประเทศและจะยิ่งทำให้ห่วงโซ่อุปทานตกอยู่ในภาวะชะงักงันมากขึ้นอีก ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะลุกลามบานปลายมาถึงเศรษฐกิจสหรัฐด้วย